คัดลอก URL แล้ว
76 ปี รธน. ญี่ปุ่น ถกแก้มาตรา 9 กรอบอำนาจ “กองกำลังป้องกันตนเอง”

76 ปี รธน. ญี่ปุ่น ถกแก้มาตรา 9 กรอบอำนาจ “กองกำลังป้องกันตนเอง”

รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นมีอายุครบ 76 ปี เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง ในมาตรา 9 ที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องสละสิทธิ์ในการทำสงคราม ที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนจากกองทัพสู่ “กองกำลังป้องกันตนเอง” ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากความตึงเครียดในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้น

สำนักข่าว NKH ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวญี่ปุ่น เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศที่มีการร่างและใช้ประกาศใช้มาเป็นเวลาครบ 76 ปี แล้ว เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยได้สอบถามกลุ่มเป้าหมายในวัยผู้ใหญ่จำนวน 3,275 คน ผ่านทางโทรศัพท์ด้วยวิธีการสุ่ม

โดยผู้ที่ตอบแบบสอบถามจำนวน 35% ระบุว่า รัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่นควรได้รับการแก้ไข ในขณะที่ 19% ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งผลสำรวจยังคงได้คำตอบในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับการสำรวจเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงเหตุผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มตัวอย่าง 54% ของผู้ที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขนั้นระบุว่า ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญความท้าทายด้านความมั่นคงจากภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป อีก 22% ระบุว่า กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น จำเป็นต้องมีความชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่ 11% ระบุถึงการเพิ่มเรื่องของสิทธิความเป็นส่วนตัว และสิ่งแวดล้อม และอีก 6% ระบุสาเหตุว่า เป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกบังคับจากสหรัฐฯ

JGSDF (PHOTO: Airman 1st Class Tyrone Thomas, Yokota Air Base)

ส่วนทางด้านของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 64% ระบุเหตุผลว่า ต้องการรักษามาตรา 9 ที่ให้ญี่ปุ่นสละสิทธิ์ในการทำสงครามในฐานะประเทศเอกราชไว้

มาตรา 9 การสละสิทธิ์การทำสงครามของญี่ปุ่น

เมื่อถามถึงประเด็นในการแก้ไขในส่วนของมาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ให้ญี่ปุ่นสละสิทธิ์ในการทำสงครามกับประเทศอื่น ๆ ในฐานะประเทศ ส่งผลให้ญี่ปุ่นไม่สามารถมี “กองทัพ” เป็นของตนเองได้

แต่ญี่ปุ่นก็ยังสามารถมี “กองกำลังป้องกันตนเอง” ในลักษณะที่ยังคง “สภาพความเป็นกองทัพทางพฤตินัย” มาโดยตลอด หรือหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพนั่นคือ การมีกองกำลังรบที่อยู่ในภาวะของ “โล่” เพื่อป้องกัน แต่ไม่ใช่ “หอก” ที่จะใช้กำลังโจมตีไปยังประเทศอื่น ๆ ได้

โดยในประเด็นนี้ ผลการสำรวจในครั้งล่าสุดนี้เมื่อถามว่า มาตรา 9 มีความจำเป็นต้องแก้ไขหรือไม่

ซึ่งแนวโน้มของผู้ที่ระบุว่า จำเป็นต้องแก้ไขมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2020 ที่มีผู้เห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขมาตรา 9 นี้ จำนวน 26% สวนทางกับจำนวนผู้ที่เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ ที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งสัดส่วนในช่วงปี 2022 – 2023 นั้นอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

PHOTO : Japan Maritime Self-Defense Force

เหตุผลที่จำเป็น/ไม่จำเป็นต้องแก้ไข ม. 9

ชาวญี่ปุ่นที่เห็นว่า จำเป็นต้องแก้ไขนั้น ส่วนใหญ่มองว่า มาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญของญี่ปุนนั้น จำเป็นต้องมีการระบุให้ชัดเจนถึงขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง เพิ่มการมีส่วนร่วมของสหประชาชาติมากขึ้น แต่มีเพียง 7% เท่านั้นที่กล่าวถึงการ “ใช้กำลังในต่างประเทศ”

ส่วนชาวญี่ปุ่นที่เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ มาตรา 9 มองว่า เป็นมาตราที่ส่งเสริมสันติภาพไว้ ถึง 65% รองลงมา ระบุว่า สามารถใช้การตีความข้อกฎหมายแทนได้ และที่เหลือมองว่า อาจจะเป็นการเปิดทางให้มีการใช้กำลังในต่างประเทศ และมองการแก้ไข จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

PHOTO : Japan Air Self-Defense

นายกฯ ญี่ปุ่นระบุ พร้อมแก้ไขรธน.

ทางด้านของนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องพูดถึงกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในขณะนี้ ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับความท้าทายในส่วนของความมั่นคงของประเทศจากสถานการณ์ภายนอกที่ส่อเค้ารุนแรง และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเกาหลีเหนือที่มีการทดสอบขีปนาวุธ และแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งการแก้ไข รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของประเทศและชาวญี่ปุ่น ภายหลังจากการใช้งานรัฐธรรมนูญฉบับนี้มายาวนาน 76 ปี และในมาตรา 9 ที่ให้ญี่ปุ่นสละสิทธิ์และปราศจากกองทัพ ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ

นอกจากนี้ ในการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องของงบค่าใช้จ่ายด้านกองทัพและแผนการป้องกันประเทศในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการกล่าวถึง “ขีดความสามารถในการโจมตีฐานทัพของศัตรู” โดยบางส่วนมองว่า ญี่ปุ่นไม่มีสิทธิในการที่จะโจมตีไปยังฐานทัพของศัตรูตาม มาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ ในขณะที่บางส่วนมองว่า เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นสามารถกระทำได้ เพราะเป็นสิทธิขั้นต่ำที่สุดในการปกป้องตนเองจากภัยคุกคามที่เกิดขึ้น หากศัตรูของญี่ปุ่นเปิดฉากการโจมตีด้วยขีปนาวุธ

ทางด้านของพรรค LDP มองว่า สามารถใช้มาตราที่ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแทนได้ ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น หรือ JCP ระบุว่า สิ่งที่นายคิชิดะเสนอนี้ จะเป็นทำลายเจตนารมย์ของ มาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ และเปิดทางให้ญี่ปุ่น เปิดฉากโจมตีไปยังฐานทัพศัตรูได้

PHOTO : Japan Maritime Self-Defense Force

ปัญหาที่ใหญ่ว่า “ขาดแคลนกำลังพล”

แม้ว่า ในแผนงบประมาณด้านความมั่นคงล่าสุดของญี่ปุ่น จะมีการเพิ่มงบกลาโหมสูงขึ้น โดยตั้งเป้าอยู่ที่ 2% ของ GDP ประเทศ ส่งผลให้ญี่ปุ่นจะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายด้านกองทัพเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากจีนและสหรัฐฯ

แต่ปัญหาของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นนั้น ได้มีเพียงงบประมาณที่จะเกิดขึ้น หรือการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทธปกรณ์ แต่กลับเป็นปัญหาของการหา “กำลังพล” ซึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณทางด้านการทหารที่จะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่กลับมีจำนวนกำลังพลอยู่ในขณะนี้ราว 2.5 แสนนายเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

ญี่ปุ่นประสบปัญหาการจัดหากำลังพลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 ที่การคัดเลือกผู้ที่จะเข้าร่วมกองทัพนั้น “ต่ำกว่าที่คาดการไว้” ในปีที่ผ่านมากองกำลังทั้งภาคพื้นดิน, ทางทะเล และทางอากาศ สามารถจัดหาบุคลากรเข้าประจำการได้เพียง 16,000 นายเท่านั้น และกำลังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการป้องกันประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ

PHOTO : Japan Maritime Self-Defense Force

หลายฝ่ายมองว่า การจัดหาอาวุธทันสมัยต่าง ๆ มากขึ้น ไม่สามารถทดแทนกำลังผลที่ลดลงในขณะนี้ได้ กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาการมียุทโธปกรณ์ที่ไร้กำลังพลมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้การออกแบบเรือรบให้ทันสมัยและใช้กำลังพลน้อยลง แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

สาเหตุของการขาดแคลนกำลังพลประจำการนั้นมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกันคือ

PHOTO : Ryo FUKAsawa

แก้ไข ม. 9 ยังคงเป็นข้อถกเถียง

ซึ่งการแก้ไขมาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นจึงยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอย่างมาก ถึงความเหมาะสมในการที่จะแก้ไข และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการรับมือต่อภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ท่ามกลางความร้อนระอุด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่าง จีน – สหรัฐฯ โดยมีไต้หวันเป็นข้อขัดแย้ง และญี่ปุ่นก็เข้าไปเกี่ยวข้องในสถานการณ์ และข้อพิพาททางทะเลกับจีน

หรือแม้แต่ความตึงเครียดจากท่าทีของเกาหลีใต้ ที่ยังแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในระยะหลังที่มีการยิงทดสอบขีปนาวุธถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ

หรือสถานการณ์ในยูเครนภายหลังจากที่รัสเซียเปิดฉากโจมตี และส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ต่อญี่ปุ่นทั้งในฐานะสมาชิกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ นาโต ยูเครน และในฐานะของชาติที่มีข้อพิพาทในพื้นที่ระหว่างกันอีกด้วย


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง