KEY :
- ประเทศไทยหลายพื้นที่ประมาณฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้น เนื่องจากการระบายอากาศที่ลดลง, อากาศไม่ยกตัว ร่วมกับการเผาที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
- ภาคเหนือบริเวณอ.เชียงดาว, อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 สูงต่อเนื่อง
- โดยเฉพาะ รพ.สต.บ้านใหม่ ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พบว่า มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 907 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
- เช่นเดียวกับในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการระบายอากาศลดลง มีสภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นหลายพื้นที่
- กรุงเทพฯ ปริมณฑล แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยในกทม. มี 30 พื้นที่ที่มีฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐาน
…
หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ยังคงมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นหลายพื้นที่ต่อเนื่อง และสูงอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
จากรายงานจุดตรวจวัดของศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา พบว่า ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีฝุ่นสูงมากที่สุดต่อเนื่อง
โดยเฉพาะที่อ.เชียงดาว อ.พร้าว ซึ่งในจุดตรวจวัดที่รพ.สต.บ้านใหม่ ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พบว่า มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 907 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งผลที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นผลมาจากการที่บริเวณภาคเหนือยังคงมีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ “อ่อน/ไม่ดี” ในระยะนี้ จนถึง 13เม.ย. มีภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น อากาศไม่ยกตัว และมีกระแสลมอ่อน ร่วมกับการเผาที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกพื้นที่ โดยมีจำนวนจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ฝุ่นควันจึงสะสมตัวได้มากขึ้น
เช่นเดียวกับในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่การระบายอากาศในระยะนี้อยู่ในเกณฑ์ “อ่อน/ดี” เช่นกัน มีภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น ส่งผลให้มีการสะสมตัวของฝุ่นควันได้มากขึ้น โดยคาดว่า ในช่วงหลังจากวันที่ 8 เม.ย. สถานการณ์น่าจะเริ่มดีขึ้น อากาศยกตัวได้มากขึ้น ร่วมกับการมีฝนในพื้นที่
สำหรับภาคกลาง สถานการณ์ใกล้เคียงกับในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ในระยะนี้ มีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์อ่อน/ดี มีภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น ส่งผลให้ฝุ่นควันสะสมตัวได้มากขึ้น
ในขณะที่ด้านของภาคตะวันตก ยังคงมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่อง จากสภาพอากาศปิด อากาศไม่ยกตัว และมีการเผาในพื้นที่ที่ยังคงสูงอยู่ ทำให้ฝุ่นควันมีการสะสมตัวมากขึ้น
คุณอาจจะสนใจเรื่องนี้
– พื้นที่ปลอดภัยจาก PM 2.5 ไม่ถึง 1% และผู้ที่หายใจในอากาศที่ปลอดภัยมีเพียง 0.001% เท่านั้น
…
กรุงเทพฯ – ปริมณฑลสภาพอากาศ เฝ้าระวังฝุ่นต่อเนื่อง
สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในระยะนี้ พบว่า มีหลายพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน เนื่องจากภาวะอากาศค่อนข้างปิด และมีอากาศไม่ยกตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ฝุ่นควันสามารถสะสมตัวได้ดี
ซึ่งในช่วงหลังจากวันที่ 7 เม.ย.เป็นต้นไป สถานการณ์น่าจะเริ่มดีขึ้น จากการที่อากาศเริ่มกลับมายกตัวมากขึ้น ร่วมกับการมีฝนตกในบางพื้นที่
ในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา พบว่า 30 พื้นที่ ที่พบค่าฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐาน โดย 10 พื้นที่ที่พบค่าฝุ่นสูงที่สุดในกรุงเทพฯ ได้แก่
จุดตรวจวัด | ปริมาณฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | เขตบางขุนเทียน | 75 |
2 | เขตหนองจอก | 61 |
3 | เขตบางนา | 59 |
4 | เขตดินแดง | 58 |
5 | เขตบึงกุ่ม | 58 |
6 | เขตประเวศ | 57 |
7 | เขตปทุมวัน | 56 |
8 | เขตคลองสาน | 56 |
9 | เขตคลองเตย | 56 |
10 | เขตดินแดง | 55 |
…
10 จุดค่าฝุ่นสูงสุดในไทย
สำหรับ 10 จุดที่มีรายงานค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงที่สุดในประเทศเมื่อเวลา 08.00 น.จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่
จุดตรวจวัด | ปริมาณฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | รพ.สต.บ้านใหม่ ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 907 |
2 | บ้านหลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 831 |
3 | บ้านหนองครก ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 813 |
4 | บ้านท่ามะเกี๋ยง ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 790 |
5 | บ้านหนองไฮป่าหวาย ต.บ้านโป่ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 780 |
6 | บ้านสันปอธง ต.ป่าไหน่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 777 |
7 | รพ.สต.บ้านปางมะเยา ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 756 |
8 | บ้านห้วยส้าน ต.สันทราย อ.พร้้าว จ.เชียงใหม่ | 735 |
9 | บ้านหนองผา ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 733 |
10 | บ้านป่าตึงงาม ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 725 |
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
…
จุดความร้อนยังคงเพิ่มสูงขึ้น
สถานการณ์จุดความร้อนในภูมิภาคยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลับมาทะลุ 2 หมื่นจุดอีกครั้ง โดยจุดความร้อนทั้งในและนอกประเทศ พบทั้งหมด 23,726 จุด แบ่งเป็น
- ลาว 9,661 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 8,640 จุด)
- เมียนมาร์ 8,143 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 5,292 จุด)
- ไทย 4,215 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 2,978 จุด)
- เวียดนาม 1,078 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 615 จุด)
- กัมพูชา 599 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 399 จุด)
- มาเลเซีย 30 จุด (ลดลงจาก 9 จุด)
สำหรับในประเทศไทยรายงานจุดความร้อนที่พบยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบเกาะกลุ่มกันอยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
สำหรับในพื้นที่17 จังหวัดภาคเหนือนั้น พบจุดความร้อนจำนวน 3,074 จุด โดย 10 จังหวัดที่มีรายงานการพบจุดความร้อนสูงที่สุดเมื่อวานที่ผ่านมา ได้แก่
จังหวัด | จุดความร้อน | |
---|---|---|
1 | เชียงใหม่ | 420 |
2 | น่าน | 377 |
3 | เลย | 334 |
4 | แม่ฮ่องสอน | 313 |
5 | เชียงราย | 266 |
6 | พิษณุโลก | 221 |
7 | เพชรบูรณ์ | 209 |
8 | ลำปาง | 207 |
9 | พะเยา | 202 |
10 | ตาก | 184 |