KEY :
- ในพื้นที่ภาคเหนือฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่สูงเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- เช่นเดียวกับใน ภาคอีสานตอนบน ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ยังพุ่งสูงขึ้นอยู่ในระดับทที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- เป็นผลมาจากการระบายอากาศไม่ดี กระแสลมอ่อน สภาพอากาศปิด ร่วมกับจุดความร้อนจากการเผามีจำนวนสูงขึ้น
- โดยในภูมิภาค พบจุดความร้อนสูงเกิน 2 หมื่นจุด เฉพาะในไทยพบกว่า 3 พันจุด สูงขึ้นต่อเนื่อง
…
สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือยังวิกฤติและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางตอนบนของภาคที่พื้นที่ส่วนใหญ่มีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยพบว่า ปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงที่สุดของภาคเหนืออยู่ที่จุดตรวจวัด รร.บ้านออน จ.เชียงใหม่ 729 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะทางตอนบนของภาคก็มีสถานการณ์ไม่ต่างกันเท่าใด ๆ นัก หลายพื้นที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่ รพ.ปากคาด จ.บึงกาฬ ตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้มากถึง 874 ไมโครกรัม/ลบ.ม. สูงที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีกระแสลมอ่อน การระบายอากาศทำได้ไม่ดีนัก มีสภาพอากาศปิดใกล้ผิวพื้น ร่วมกับการเผาที่เกิดขึ้น ทำให้ฝุ่นควันที่เกิดขึ้นนั้น สะสมตัวได้มากขึ้นอย่างมาก จากการเผาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
สำหรับภาคกลาง สถานการณ์ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ยกเว้นบริเวณด้านตะวันตกของภาค ที่ได้รับฝุ่นควันจากการเผาวัสดุทางการเกษตร ทำให้มีบางพื้นที่ที่พบว่า มีฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคกลางยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง แม้ว่าการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในระยะนี้ชั้นบรรยากาศใกล้ผิวพื้นค่อนข้างปิด ถึงวันที่ 29 มี.ค. ดังนั้นส่งผลให้ฝุ่นควันจะสะสมตัวได้บ้าง
คุณอาจจะสนใจเรื่องนี้
– พื้นที่ปลอดภัยจาก PM 2.5 ไม่ถึง 1% และผู้ที่หายใจในอากาศที่ปลอดภัยมีเพียง 0.001% เท่านั้น
…
กรุงเทพฯ – ปริมณฑลอากาศดีขึ้นต่อเนื่อง
บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล สถานการณ์ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากการระบายอากาศอยู่ในระดับดี สภาพอากาศเปิด และยกตัวได้ดี ร่วมกับมีกระแสลมใต้ ที่ช่วยพัดพาฝุ่นกระจายออกไป ไม่ให้สะสมตัวในพื้นที่
ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ วันนี้ พบ 1 พื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่สูงเกินค่ามาตรฐาน อยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) คือ ที่เขตบางขุนเทียน ตรวจวัดปริมาณฝุ่นได้ 53 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา
…
10 จุดค่าฝุ่นสูงสุดในไทย
สำหรับ 10 จุดที่มีรายงานค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงที่สุดในประเทศเมื่อเวลา 08.00 น.จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่
จุดตรวจวัด | ค่าฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | โรงพยาบาลปากคาด จ. บึงกาฬ | 874 |
2 | รร.บ้านออน จ.เชียงใหม่ | 729 |
3 | สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี เฝ้าไร่ จ.หนองคาย | 673 |
4 | ศาลากลางจ.แม่ฮ่องสอน ต.จองคำ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน | 615 |
5 | ศูนย์บริการสาธารณสุข ทม.แม่ฮ่องสอน ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน | 602 |
6 | โรงพยาบาลธัญญารักษ์ แม่ฮ่องสอน | 535 |
7 | รร.บ้านน้ำฮู ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน | 518 |
8 | บ้านหัวโท ม. 6 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 502 |
9 | อบต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน | 502 |
10 | รพ.ปาย ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน | 489 |
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
…
จุดความร้อนพุ่งสูงขึ้นมาก
สถานการณ์การเผาในพื้นที่ต่าง ๆ ภายในภูมิภาคพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยรายงานจุดความร้อนของ GISTDA พบว่า เมื่อวานที่ผ่านมามีจุดความร้อนในภูมิภาคทั้งหมด 20,746 จุด โดยเฉพาะในลาว ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 3 พันจุด
โดยจำนวนจุดความร้อนในประเทศต่าง ๆ ที่พบมีดังนี้
- ลาว 9,748 จุด
- เมียนมาร์ 6,352 จุด
- ไทย 3,088 จุด
- เวียดนาม 876 จุด
- กัมพูชา 652 จุด
- มาเลเซีย 27 จุด
ซึ่งสำหรับในประเทศไทยนั้น รายงานจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากจาก 613 จุดเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมาก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทะลุ 3 พันในวันนี้ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นในพื้นที่ภาคเหนือ และด้านตะวันตกของประเทศ
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายงานพบจุดความร้อนสูงสุดได้แก่
จังหวัด | จำนวนจุดความร้อน | |
---|---|---|
1 | แม่ฮ่องสอน | 547 |
2 | น่าน | 280 |
3 | เชียงใหม่ | 221 |
4 | เลย | 219 |
5 | เชียงราย | 177 |
6 | กาญจนบุรี | 148 |
7 | แพร่ | 144 |
8 | อุตรดิตถ์ | 137 |
9 | เพชรบูรณ์ | 133 |
10 | พิษณุโลก | 112 |