คัดลอก URL แล้ว
เปิดปม ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’

เปิดปม ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’

KEY :

เป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอย่างมากสำหรับกรณี ‘โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่มีหลายภาคส่วน ทั้งพรรคการเมืองต่าง ๆ องค์กรอิสระ รวมถึงจอมแฉอย่าง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง ที่ต่างเปิดหลักฐาน ระบุที่ความไม่ชอบมาพากลของโครงการดังกล่าว รวมถึงคดีที่กำลังรอคำพิพากษาอยู่เช่นกัน

ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตและข้อสงสัยว่า การรีบเร่งผลักดันในครั้งนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของการก่อให้เกิดการทุจริต หรือ ฮั้วประมูล จนเกิด ‘เงินถอน’ ในระดับหลักหมื่นล้านบาทหรือไม่…?

กระแสดังกล่าวนอกจากจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักแล้ว มันยังกลายเป็นเสียงที่สะท้อนสั่นคลอนไปถึงรัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้ที่ต้องฟันธงเกี่ยวกับเรื่องนี้

ซึ่งล่าสุดในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา ฝั่งรัฐบาลก็ต้องใส่เกียร์ถอยกับโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เหลือขั้นตอนการลงนามสัญญา กับผู้ที่ชนะการประมูลเท่านั้น

ซึ่งมีเสียงแว่ว ๆ มาว่า แม้ที่ประชุม ครม. เองยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งในส่วนของผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการพิจารณาวาระดังกล่าว มองว่าอาจเกิดความเสียหายขึ้นในอนาคต ท้ายสุดเป็นไปได้ที่การพิจารณาวาระดังกล่าว อาจต้องยกวาระไปถึงรัฐบาลชุดใหม่กันเลยทีเดียว

จากหลักเกณฑ์การประมูล สู่การฟ้องร้อง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความล่าช้ามาเกือบ 3 ปีแล้ว หลังทางการรถขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2563

และสิ่งที่น่าสนใจคือ ในการประมูลครั้งนั้นได้มีการปรับหลักเกณฑ์การประมูล จากเดิมเป็นการพิจารณาผู้ชนะจากจำนวนเงินที่ขอรับอุดหนุนจากรัฐบาล มาเป็นเกณฑ์การให้คะแนนจากการพิจารณาข้อเสนอทางการเงินร่วมกับข้อเสนอทางเทคนิคในสัดส่วน 70:30

จนนำไปสู่การฟ้องร้องของบริษัทเอกชนอย่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ต่อศาลปกครองกลาง ในเรื่องของการทุจริตโครงการจากการเปลี่ยนกติกาการประมูล กระทั่ง คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้มีมติยกเลิกการประมูลลงเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564

ต่อมาทาง รฟม. ได้จัดตั้งคณะกรรมการฯ ชุดใหม่เพื่อกำหนดเงื่อนไขสำหรับการเข้าร่วมประมูลโครงการ โดยการประมูลโครงการรอบใหม่ได้มีการตัดสินใจยกเลิกเกณฑ์การให้คะแนนจากการพิจารณาข้อเสนอทางการเงินร่วมกับข้อเสนอทางเทคนิคในสัดส่วน 70:30 กลับมาใช้หลักเกณฑ์เดิม โดยประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2565

ก่อนที่ทาง รฟม. จะเปิดรับข้อเสนอต่อในวันที่ 27 ก.ค.2565 โดยมีผู้เข้าร่วมการประมูล 2 รายคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยมี บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นซับคอนแทรคงานโยธา และกิจการร่วมค้าไอทีดี กรุ๊ป (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ Incheon Transit Corporation ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินในเกาหลีใต้)

กระบวนล่าสุดคือ การร่างสัญญา รฟม. และ กระทรวงคมนาคม กับผู้ชนะการประมูล เสนอไปยัง ครม. พิจารณาอนุมัติ ซึ่งล่าสุด ครม. ได้ถอดวาระการพิจารณาดังกล่าวออกไปแล้ว

3 คดีที่ยังอยู่ในศาล

ปัจจุบันการฟ้องร้องยังรอการพิจารณาคดีอยู่อีก 3 คดี โดยแบ่งเป็นคดีต่าง ๆ ดังนี้

ว่าด้วยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีมูลค่ารวม 143,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐฯ ลงทุนเฉพาะค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน 15,000 ล้านบาท เอกชนลงทุนในส่วนของงานโยธาทั้งระบบ 96,000 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า 32,000 ล้านบาท โดยรัฐฯ จะชำระค่างานโยธาทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยคืนให้ในระยะเวลา 10 ปีหลังเปิดดำเนินการ

โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือเส้นทางตะวันตกช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเส้นทางตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – บางกะปิ – มีนบุรี – แยกร่มเกล้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเส้นทางช่วงตะวันออกเป็นอันดับแรก ส่วนโครงการช่วงตะวันตกอยู่ในระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าดำเนินการ คาดว่าจะเปิดใช้งานได้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2570

มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

เส้นทางโครงการช่วงตะวันออก – ตะวันตก

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีแนวเส้นทางที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากจุดตัดทางรถไฟสายธนบุรี (สายใต้เดิม) กับถนนจรัญสนิทวงศ์ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ ผ่านย่านที่สำคัญในพื้นที่เมืองเก่าเขตดุสิต และเขตพระนคร ผ่านสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลศิริราช ท้องสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

จากนั้นเข้าสู่ย่านการค้าใจกลางเมืองบริเวณแยกประตูน้ำ แล้วมุ่งขึ้นทางเหนือเข้าสู่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร และศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแห่งใหม่ (อาคารธานีนพรัตน์) ชุมชนประชาสงเคราะห์ ออกสู่ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 9 และถนนรามคำแหง สิ้นสุดโครงการบริเวณชานเมืองทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดถนนรามคำแหงกับถนนสุวินทวงศ์ รวมระยะทางประมาณ 35.9 กิโลเมตร

เป็นเส้นทางที่เน้นการขนส่งผู้โดยสารจากชานเมืองทิศตะวันออกเข้าสู่ใจกลางเมืองและย่านเมืองเก่าทางทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง