KEY :
- ธนาคาร Silicon Valley Bank ของสหรัฐฯ ถูกสั่งปิดกิจการ ภายหลังจากเผชิญปัญหา Bank Run จนวิกฤติหนัก
- สาเหตุคือ การขาดสภาพคล่องจากการที่ลูกค้าแห่มาถอนเงินจากธนาคารมากถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าเงินฝาก
- ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งการที่ FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ย, ลูกค้าถอนมาถอนเงินเพิ่มขึ้น, การขายพันธบัตรและหุ้นของบริษัท, การระดมทุนรอบใหม่ และกลายเป็นความไม่เชื่อมั่นต้องธนาคาร
- หลายประเทศยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่า จะส่งผลกระทบในวงจำกัด
…
Silicon Valley Bank หนึ่งในธนาคารชื่อดังที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการไอที มาเป็นเวลากว่า 30 ปี ก็ต้องเผชิญกับปัญหาอย่างใหญ่หลวง และนำไปสู่การที่หน่วยงานกำกับดูแลการธนาคารของรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้สั่งระงับการให้บริการของ SVB ธนาคารแห่งใหญ่อันดับที่ 16 ของประเทศ และสั่งให้บรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐฯ ( Federal Deposit Insurance Corporation, FDIC) เข้ามาเป็นผู้จัดการสินทรัพย์ของ SVB
SVB เป็นใคร ?
Silicon Valley Bank เป็นธนาคารที่ก่อตั้งมานานเกือบ 40 ปี และใหญ่เป็นอันดับ 16 ของสหรัฐฯ โดยมีสินทรัพย์กว่า 2.09 แสนล้านเหรียญฯ ซึ่งที่ผ่านมา SVB ได้ประกอบธุรกิจกับกลุ่มเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Startup ในอย่างยาวนาน
ที่ผ่านมา SVB เป็นผู้จัดหาเงินทุนให้กับ Startup หลายตัว ไม่ว่าจะเป็น Pinterest, Fitbits รวมถึงกลุ่มของคริปโตเคอเรนซี่หลายแห่ง คาดการณ์ว่า กว่าครึ่งของ Startup ชื่อดังหลายบริษัทมีความเกี่ยวข้องกับ SVB
…
เกิดอะไรขึ้นกับ SVB ?
ซึ่งเป็นผลมาจากหลาย ๆ ประเด็นรวมกัน โดยประเด็นหลัก ๆ คือ
- การที่ FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนของธนาคารเพิ่มสูงขึ้น
- การลงทุนในกลุ่ม Startup ชะลอตัว ส่งผลให้ลูกค้าของ SVB หลายรายจำเป็นต้องถอนเงินออกมาใช้จ่าย และเสริมสภาพคล่อง
- กลุ่มบริษัทคริปโตเคอร์เรนซีหลายแห่ง ประสบปัญหาในช่วงที่ผ่านมา หลายแห่งเผชิญกับภาวะล้มละลาย
- SVB เองจึงจำเป็นต้องขายพันธบัตรฯ รวมถึงขายหุ้นออกมา แบบขาดทุน เพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นเงินสด กระทบความเชื่อมั่น
ซึ่งจากสิ่งที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและลูกค้าของธนาคาร ต่างแห่กันมาถอนเงินมากถึง 1 ใน 4 ของเงินฝากทั้งหมด ซึ่ง SVB เผชิญสภาวะที่เรียกว่า “Bank Run” หรือภาวะที่ผู้ฝากเงินเชื่อว่า ธนาคารกำลังจะล้มละลาย จึงรีบมาถอนเงินออกจากธนาคาร และนำไปสู่การขาดสภาพคล่อง และหน่วยงานของรัฐ ต้องเข้ามาจัดการในครั้งนี้
…
ทำไมคนถึงแห่ไปถอนเงินออก?
สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความไม่มั่นใจว่า ธนาคารจะดำเนินกิจการต่อได้หรือไม่ หลังจากประเด็นของการขายพันธบัตรแบบยอมขาดทุน เพื่อเสริมสภาพคล่อง ส่งผลให้หุ้นของ SVB ร่วงลง ทำให้ผู้ถือหุ้นเริ่มเทขายหุ้นของ SVB ออกมา
ในขณะเดียวกัน SVB ก็พยายามประกาศระดมทุนจากนักลงทุนเพิ่มเติม เพื่อชดเชยกับการขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งจากการขายพันธบัตร และหุ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นลูกโซ่ต่อ ๆ กัน และผู้ที่มีเงินฝากของธนาคาร แห่ไปถอนเงินเพราะกลัวจะธนาคารจะปิดตัวลง ก่อนที่จะได้เงิน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ ยิ่งทำให้ SVB ขาดสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น จนหน่วยงานรัฐต้องเข้ามาดูแล
…
คนที่ฝากเงินไว้ทำอย่างไร?
สำหรับเงินฝากในธนาคาร SVB ในขณะนี้จะมีบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐฯ ( Federal Deposit Insurance Corporation, FDIC) เข้ามาดูแล จัดการต่อไป โดยผู้ที่เงินฝากไม่เกิน 2.5 แสนเหรียญฯ สหรัฐฯ จะยังคงสามารถเข้าถึงเงินที่คงเหลือในระบบได้ หรือพูดง่าย ๆ คือ “ยังได้เงินคืน”
แต่สำหรับผู้ที่มีเงินฝากมากกว่านั้น ก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของทาง FDIC และก็ยังต้องลุ้นว่า จะสามารถเข้าถึงเงินส่วนที่เกินกว่านั้นได้หรือไม่
…
ลุกลามแค่ไหน ?
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ SVB นั้นยังคงต้องเฝ้าติดตาม เนื่องจาก SVB มีสาขาอยู่ในประเทศอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น จีน เดนมาร์ก เยอรมนี อินเดีย เป็นต้น และเชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัท Startup ต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับธนาคาร SVB ทั้งในแง่ของเงินทุน เงินฝาก รวมถึงเงินเดือนพนักงานด้วย
ซึ่งในขณะนี้ทางด้านของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ได้ประกาศว่า จะมีการจัดตั้งโครงการ “Bank Term Funding Program” เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการระงับกิจการของ SVB ในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้หลายประเทศยังประเมินว่า การล้มลงของ SVB นั้นจะยังคงอยู่ในวงจำกัด รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีธุรกรรมโดยรวมกับกลุ่มบริษัท Startup น้อยกว่า 1% และถือครอบสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับที่ต่ำ จึงมีผลกระทบในวงจำกัดเท่านั้น