KEY :
- ประเทศไทยถูกจับอันดับประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนเป็นระดับต้น ๆ ของโลก และสูงเป็นอันดับที่ 3 ในเอเชีย
- ในไตรมาส 3 ปี 2565 ยอดหนี้รวมของครัวเรือนไทยอยู่ที่ 86.8% ของ GDP
- มีการคาดการณ์ว่า หากหนี้ครัวเรือนสูงกว่าร้อยละ 80 ของ GDP ที่เป็นระดับควรเฝ้าระวัง และอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ
…
‘ปัญหาหนี้ครัวเรือน’ เหมือนดั่งกระจกสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ‘เงิน’ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ปัญหาดังกล่าวผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดไม่เว้นแต่ละวัน ตั้งแต่ระดับรากหญ้า ผู้มีรายได้น้อย ไปจนถึงผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงตามระดับ
การดำรงชีพในยุคปัจจุบันเงินจึงเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะอยู่บ้าน ออกไปทำงาน หรือ ใช้ชีวิตประจำวัน ล้วนแต่ต้องใช้เงินทั้งสิ้น เมื่อเงินไม่พอใช้ หรือ ความต้องการในสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงการสร้างธุรกิจ ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ทั้งจากสถาบันการเงินในระบบและนอกระบบ ก่อเกิดเป็นการสร้างหนี้สินขึ้นมา โดยนำเงินอนาคตมาใช้
ในช่วงที่ผ่านมาทั้งเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาสงครามเย็นระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ล้วนเป็นเอฟเฟกต์ส่งผลกระทบไปถึงนานาประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน เศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ข้าวของแพง กระทบไปถึงทุกชั้นชัน โดยในไตรมาส 3 ปี 2565 ยอดหนี้รวมของครัวเรือนไทยอยู่ที่ 86.8% ของ GDP
ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นเกี่ยวกับการเป็นหนี้ของคนไทยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยนั้น มีความแตกต่างจากต่างประเทศในหลาย ๆ ด้าน อันเนื่องมาจากคนไทยมีหนี้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิตสูง คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของยอดหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด ซึ่งหนี้ในกลุ่มนี้เป็นหนี้อุปโภคบริโภคที่ไม่ช่วยสร้างรายได้
คนไทยเป็นหนี้เร็ว – สร้างหนี้เกินตัว
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า คนวัยเริ่มทำงาน (อายุ 25-29 ปี) มากกว่า 58 % เป็นหนี้ และมากว่า 25 % เป็นหนี้เสีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล และหนี้รถยนต์ / มอเตอร์ไซค์ ที่บางส่วนไม่นำไปสร้างรายได้ ทำให้เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มอายุน้อยกว่า 25 ปี ซึ่งรวมนักเรียน นักศึกาา เป็นหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน
เป็นหนี้เกินตัว – โดยเกือบ 30 % ของหลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10 – 25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน จนทำให้รายได้กว่าครึ่งต้องนำไปจ่ายคืนหนี้สิ้น ทั้งบัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล
นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังพบได้อีกหลายปัจจัย ทั้งการเป็นหนี้โดยไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนหรือถูกต้อง / เป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น / เป็นหนี้นาน / เป็นหนี้เสีย / เป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น / เป็นหนี้นอกระบบ
หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาที่สะสมมานาน
โดยในปี 2563 ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90 % ต่อ GDP ซึ่งนับเป็นการเพิ่มอย่างก้าวกระโดด อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมูลค่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อ 2554 ทำให้เกิดนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการต่าง ๆ ในการบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน
ซึ่งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะสูงกว่าร้อยละ 80 ของ GDP ที่เป็นระดับควรเฝ้าระวัง และอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และอาจลุกลามไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งจะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดหนี้ครัวเรือน
ข้อมูลจากการจัดอันดับในต่างประเทศ ยังพบว่าในปี 2565 ประเทศไทยถูกจับอันดับประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนเป็นระดับต้น ๆ ของโลก และสูงเป็นอันดับที่ 3 ในเอเชีย ซึ่งหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยเกิดมาจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ดังนี้
พฤติกรรมของครัวเรือน : จากงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าครัวเรือนไทยออมน้อย เป็นหนี้สูง และเป็นหนี้นาน เนื่องจากพฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัว ทำให้มีเงินออมน้อย เมื่อต้องการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงจึงจำเป็นต้องกู้แบบเต็มมูลค่าหรือเป็นหนี้สูง นอกจากนี้ ผู้กู้บางรายยังจำเป็นต้องยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือนสูงจนเกินไป ทำให้เป็นหนี้นาน
แรงกระตุ้นจากทั้งภาครัฐและเอกชน : ที่ผ่านมามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมักมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ซึ่งบางมาตรการมีส่วนทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้ในขณะที่ยังไม่พร้อม เช่น โครงการรถยนต์คันแรกในปี 2555 ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนเองก็มีการออกมาตรการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำให้ครัวเรือนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้เช่นกัน
การส่งเสริมของสถาบันการเงิน : คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันการเงินมีการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของตนเอง โดยการยื่นข้อเสนอที่เย้ายวนใจ ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนติดกับดักภาระหนี้ เช่น โพรโมชันผ่อน 0% หรือการให้เงินคืน (cash back) เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต
รวมทั้งยังมีการเจาะกลุ่มลูกค้าอายุน้อยซึ่งอาจยังไม่มีความพร้อมทางการเงิน โดยงานศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า คนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี กู้เงินเพื่อซื้อรถยนต์มากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้กู้เพื่อซื้อบ้านหลังแรกที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
สิ่งที่จะตามมาหากไม่แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน
แม้เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเริ่มมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่หากไม่ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน อาจทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนจะค้างอยู่ที่ 84 % ของ GDP และอาจเพิ่มสูงขึ้น ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหนี้ครัวเรือนจะส่งผลลบมากขึ้นต่อ GDP ในระยะยาว
อีกทั้งยังเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เนื่องจากหากลูกหนี้จำนวนมากชำระหนี้ไม่ได้ พร้อม ๆ กัน อาจกระทบฐานะการเงินของเจ้าหนี้ เกิดปัญหาหนี้เสียในวงกว้างจนกลายเป็นวิกฤต ส่งต่อปัญหาออกไปเป็นทอด ๆ ทั้งปัญหาด้านสุขภาพจิต ปัญหาครอบครัว ก่อเกิดไปถึงปัญหาอาชญากรรมในที่สุด
นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ช่วงสังคมผู้สูงอายุ เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับรายได้ของครัวเรือนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดย ธปท.
หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน : เร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว การกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีบริการให้คำปรึกษาแก้หนี้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ การสร้างตัวช่วยลูกหนี้ โดยให้มีคนกลางทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการแก้หนี้และไกล่เกลี่ยหนี้ และการผลักดันให้มีกฎหมายที่ช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไปต่อไม่ไหวได้เข้ากระบวนการฟื้นฟูหรือขอล้มละลายได้ด้วยตนเอง
หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง : ให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้ โดยจะผลักดันให้มีแนวทางแก้ไขปัญหา เริ่มจากหนี้บัตรกดเงินสดที่เป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง มีอายุมากและมีปัญหาทางการเงินรุนแรงก่อน
หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต : ธปท. จะออกเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (responsible lending) และกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืนและลูกหนี้ยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ (macroprudential policy) รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย (risk-based pricing) พร้อมผลักดันให้เจ้าหนี้อื่นเห็นพฤติกรรมดีของลูกหนี้ เพื่อกระตุ้นการรีไฟแนนซ์หนี้ไปยังดอกเบี้ยที่ถูกลง
หนี้ที่ยังไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ครัวเรือน อาทิ หนี้ กยศ. สินเชื่อสหกรณ์อื่น และหนี้นอกระบบ : จะมีการติดตามข้อมูลให้ครอบคลุมลูกหนี้ต่าง ๆ มากขึ้น และผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลต่าง ๆ ในการประเมินและติดตามสินเชื่อ อาทิ ข้อมูลพฤติกรรมการจ่ายเงิน เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้นและด้วยต้นทุนการกู้ยืมที่ตรงตามความเสี่ยงของตน
ข้อมูล :
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- tradingeconomics.com