KEY :
- เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2023 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด ทางตอนใต้ของประเทศตุรกี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ใกล้พรมแดนระหว่างตุรกีและซีเรีย
- ข้อมูลล่าสุดของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2023 มียอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 40,000 คนแล้ว
- แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานที่อยู่ในหินใต้ผิวโลกอย่างฉับพลัน
‘แผ่นดินไหว’ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งจากทางธรรมชาติและมาจากผลพวงการกระทำของมนุษย์ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อาคารบ้านเรือน เกิดความสูญเสียที่มิอาจประเมินค่าได้
ซึ่งในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงต่อเนื่องในหลายประเทศ อาทิ ในปี 2004 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.1 แมกนิจูด ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีประเทศในพื้นที่คาบมหาสมุทรอินเดีย ที่ได้รับผลกระทบ 14 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดสึนามิ และมียอดผู้เสียชีวิตรวมมากกว่า 2 แสนคน
นอกจากนี้ในปี 2010 ยังมีเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7 แมกนิจูด ที่ประเทศเฮติ มียอดผู้เสียชีวิตกว่า 3 แสนคน
และในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2023 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด ทางตอนใต้ของประเทศตุรกี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ใกล้พรมแดนระหว่างตุรกีและซีเรีย ส่งผลให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาหลายครั้ง
ซึ่งข้อมูลล่าสุดของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2023 มียอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 40,000 คนแล้ว อย่างไรก็ตามทางองค์การประชาชาติ หรือ UN ได้มีการประเมินยอดผู้เสียชีวิตอาจมีมากกว่า 50,000 คน
‘แผ่นดินไหว’ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานที่อยู่ในหินใต้ผิวโลกอย่างฉับพลัน เพื่อปรับความสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ ซึ่งจะเกิดตามแนวขอบของแผ่นเปลือกโลก หรือ ตามแนวรอยเลื่อน โดยปกติเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อน ภายในชั้นเปลือกโลกที่อยู่ด้านนอกสุดของโครงสร้างของโลก มีการเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ อยู่เสมอ
ซึ่งแผ่นดินไหวมักจะเกิดมาจากการปลดปล่อยพลังงานอย่างรวดเร็ว เกิดขึ้นได้ทั้ง ‘แผ่นดินไหวระหว่างแผ่น’ โดยเกิดได้บ่อยและรุนแรงกว่า ‘แผ่นดินไหวภายในแผ่น’
นอกจากนี้อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอีกประการหนึ่ง คือ เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การระเบิดต่าง ๆ การทำเหมือง สร้างอ่างเก็บน้ำใกล้รอยเลื่อน การทำงานของเครื่องจักรกล การจราจร เป็นต้น
ในแต่ละปีเกิดแผ่นดินไหวนับล้านครั้ง
จากข้อมูลของ องค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่าในแต่ละปีเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านครั้ง (จำนวนตั้งแต่ขนาดเล็กที่จับสัญญาณได้)
ซึ่งจากสถิติข้อมูลนับตั้งแต่ปี 2000-2021 พบว่า แผ่นดินไหวขนาด 8+ แมกนิจูด มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ครั้งต่อปี / แผ่นดินไหวขนาด 7 – 7.9 แมกนิจูด มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13-14 ครั้งต่อปี
ในขณะที่ แผ่นดินไหวขนาด 6 – 6.9 แมกนิจูด มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 137 ครั้งต่อปี และ แผ่นดินไหวขนาด 5 – 5.9 แมกนิจูด มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,886 ครั้งต่อปี
ระดับความรุนแรงของ ‘แผ่นดินไหว’ ตามมาตราเมร์กัลลี
ระดับความรุนแรงตามมาตราเมร์กัลลีเปรียบเทียบกับแมกนิจูดของแผ่นดินไหว
- มาตราเมร์กัลลีระดับที่ 1 = 1.0 – 3.0 แมกนิจูด : ไม่รู้สึกแต่เครื่องวัดสามารถตรวจจับได้
- มาตราเมร์กัลลีระดับที่ 2-3 = 3.0 – 3.9 แมกนิจูด : รู้สึกได้เป็นบางคน โดยเฉพาะที่อยู่บนอาคารสูง ๆ หรือเป็นผู้ที่มีประสาทไว
- มาตราเมร์กัลลีระดับที่ 4-5 = 4 – 4.9 แมกนิจูด : ผู้ที่อยู่ในบ้านจะรู้สึก ผู้ที่อยู่ในอาคารจะรู้สึกกันได้เกือบทุกคน
- มาตราเมร์กัลลีระดับที่ 6-7 = 5 – 5.9 แมกนิจูด : ต้นไม้สั่น บ้านแกว่ง สิ่งปลูกสร้างบางชนิดพัง / ฝาห้องแยกร้าว กรุเพดานร่วง
- มาตราเมร์กัลลีระดับที่ 8-10 = 6.0 – 6.9 แมกนิจูด : ตึกร้าว ปล่องไฟพัง / บ้านพัง ตามแถบรอยแยกของแผ่นดินท่อน้ำท่อแก๊สขาดเป็นตอน ๆ
- มาตราเมร์กัลลีระดับที่ 9 ขึ้นไป = 7.0 – 9.9 แมกนิจูด : ตึกถล่ม สะพานขาด ทางรถไฟท่อน้ำและสายไฟใต้ดินเสียหาย แผ่นดินถล่ม น้ำท่วม / ทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นดินแถบนั้นเสียหายโดยสิ้นเชิง พื้นดินเคลื่อนตัวเป็นลูกคลื่น
อนึ่ง มาตราเมร์กัลลี เป็นมาตราสำหรับใช้กำหนดขั้นความรุนแรงของแผ่นดินไหว คิดค้นโดยจูเซปเป เมร์กัลลี ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวชาวอิตาลี เมื่อ พ.ศ. 2445 โดยแบ่งไว้ 10 อันดับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 แฮร์รี โอ. วูด และแฟรงก์ นิวแมนน์ นักวิทยาแผ่นดินไหวชาวอเมริกันได้นำมาตราเมร์กัลลีมาปรับปรุงทำให้มาตรานี้เพิ่มเป็น 12 อันดับ
การพยากรณ์แผ่นดินไหว
ปัจจุบันยังไม่สามารถกระทำได้ให้ถูกต้องแม่นยำ ทั้งด้านเวลาและสถานที่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ จึงยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกในอนาคต การดำเนินการศึกษา เพื่อการพยากรณ์แผ่นดินไหวในปัจจุบันมีการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลจากการตรวจวัดของค่า พารามิเตอร์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงผิดปกติก่อนเกิดแผ่นดินไหว
อาทิเช่น วัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก วัดค่า แรงเค้น (Stress) และความเครียด (Strain) ของเปลือกโลก วัดก๊าซเรดอน วัดสนามแม่เหล็กโลก วัดค่าความโน้มถ่วงในพื้นที่ต่างๆ วัดคลื่นความถี่วิทยุ รวมถึงการสังเกตสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ก่อนเกิดแผ่นดินไหว เช่น น้ำใต้ดิน พฤติกรรมของสัตว์ และอื่น ๆ เป็นต้น
ข้อปฏิบัติเมื่อขณะเกิดแผ่นดินไหว
เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ให้อยู่อย่างสงบ มีสติ คิดหาหนทางที่ปลอดภัย หมอบอยู่บริเวณที่สามารถป้องกันสิ่งของหล่นใส่ เช่น บริเวณใต้โต๊ะ ใต้เตียง หลีกเลี่ยงให้ห่างจากหน้าต่าง หากอยู่นอกอาคารให้อยู่ในที่โล่ง อยู่ให้ห่างจากสิ่งห้อยแขวนต่าง ๆ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองจากภัยแผ่นดินไหว เป็นต้น
กรณีที่อยู่นอกอาคาร ให้อยู่ด้านนอก ในที่โล่ง อยู่ให้ห่างจากอาคาร เสาไฟ สายไฟฟ้า ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งของที่อาจหล่นใส่
กรณีที่อยู่ในรถ จอดรถเมื่อสามารถจอดได้โดยปลอดภัย และในที่ซึ่งไม่มีของหล่นใส่ อยู่ให้ห่างอาคาร ต้นไม้ ทางด่วน สะพานลอย เชิงเขา เป็นต้น
ในกรณีที่ติดอยู่ในซากอาคาร พยายามอย่าติดไฟ อยู่อย่างสงบ ใช้ผ้าปิดหน้า เคาะท่อ ฝาผนัง เพื่อเป็นสัญญาณต่อหน่วยช่วยชีวิต ใช้นกหวีด การตะโกนอาจสูดสิ่งอันตรายเข้าร่างกาย
ข้อมูล :
- กรมทรัพยากรธรณี
- กรมอุตุนิยมวิทยา
- องค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS)
- สสวท.