คัดลอก URL แล้ว
ฝน-ลูกเห็บ-หิมะ ความเหมือนที่แตกต่าง จากปรากฏการณ์ธรรมชาติ

ฝน-ลูกเห็บ-หิมะ ความเหมือนที่แตกต่าง จากปรากฏการณ์ธรรมชาติ

ประเด็นน่าสนใจ

ในช่วง 1-2 วันนี้ ปรากฎการณ์ลูกเห็บตกในหลายพื้นที่ที่เกิดขึ้นในบริเวณภาคเหนือของไทย จนกลายเป็นกระแสข่าวฮือฮาขึ้นมา จากการที่ลูกเห็บจำนวนมากได้ตกลงมาในพื้นที่จังหวัดพะเยา เต็มพื้นที่ เต็มถนน จนคล้ายกับภาพรายงานข่าวหิมะตกในต่างประเทศที่เคยมีการนำเสนอผ่านสื่อฯ

(ภาพ – Facebook / Nummol Maprang)

ซึ่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย ที่จะได้เห็นภาพในลักษณะนี้ แต่ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเคยมีภาพข่าวที่รายงานเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้ เช่นเมื่อปี พ.ค. 2498 ที่มีลูกเห็บตกเป็นจำนวนมาก ลงมาเต็มพื้นที่คล้ายหิมะเช่นกัน โดยในครั้งนั้น เกิดขึ้นที่พื้นที่จังหวัดเชียงราย และเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม เช่นกัน

รู้จักไหม? “หยาดน้ำฟ้า”

ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการระเหยของน้ำ กลายเป็นเมฆ และกลายเป็นฝน เป็นสิ่งที่หลายคนคุ้นเคยกันดี ในการเรียนรู้ตั้งแต่สมัยประถมศึกษาที่ผ่านมา

“หยาดน้ำฟ้า” หรือ precipitation เป็นชื่อเรียกปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกของเรานี้ ที่ไอน้ำควบแน่นจนกลายเป็นน้ำ หรือ น้ำแข็งตกลงมา โดยไม่ระเหยหายกลับ หรือมีสภาพเป็นไอ

ภาพการเกิดฝนตกตามธรรมชาติ

ทั้งละอองฝน ฝน หิมะ ลูกเห็บ จะถือเป็น “หยาดน้ำฟ้า” หรือ precipitation ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการควบแน่นของไอน้ำในบรรยากาศ นอกจากนี้ ยังมีที่เรายังไม่คุ้นเคยอีกหลายอย่างเช่น ฝนน้ำแข็ง (Sleet), เม็ดหิมะ หรือ ลูกปรายหิมะ (graupel) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เดียวกันแต่มีปัจจัยที่ทำให้แตกต่างกัน

ภาพเปรียบเทียบระหว่าง ลูกเห็บ, ลูกปรายหิมะ, ฝนน้ำแข็ง และหิมะ
(ภาพ – NOAA)

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มีปัจจัยแตกต่างที่จะทำให้เกิดผลที่ต่างกันทั้งหมดนี้ประกอบไปด้วยเรื่องของ กระแสลม และอุณหภูมิในอากาศที่ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

การเกิดลูกเห็บ

ลูกเห็บเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และพบเห็นได้ในช่วงฤดูร้อนเป็นส่วนใหญ่ มีสภาพอากาศที่แปรปรวน กระแสลมแรง โดยการลูกเห็บนั้น จะเริ่มต้นคล้ายกับการเกิดฝนตกทั่วไป

แต่ด้วยสถาพอากาศร้อน กระแสลมแรง ทำให้แรงลมพัดเอาเม็ดฝนลอยจึงพัดพาเอาเม็ดฝนลอยสูงขึ้นไป ในชั้นด้านบนที่เย็นและทำให้เม็ดฝนกลายเป็นเม็ดน้ำแข็ง และหล่นลงมาด้านล่าง

ซึ่งกระแสลมอาจจะพัดวนขึ้นลง ซ้ำ ๆ แบบนี้อยู่หลายรอบ ทำให้เม็ดน้ำแข็งได้รับความชื้นมากขึ้น และเย็นกลายเป็นน้ำแข็งเพิ่มขึ้น ทำให้เม็ดน้ำแข็งหรือลูกเห็บเหล่านี้ มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้นั่นเอง

ซึ่งประเทศไทยจะพบบ่อยในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากสภาพอากาศชื้น เนื่องลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดพาอากาศชื้นจากทะเลเข้ามา

แต่ในช่วงของฤดูหนาวจะเกิดได้ยากกว่า เนื่องจากกระแสลมมรสุมที่พัดในช่วงฤดูหนาวจะเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่หลายคนคุ้นเคยกับคำว่า “ลมหนาว” หรือ “มวลอากาศเย็น” จากประเทศจีน ที่พัดลงมา โดยจะเป็นอากาศเย็น และแห้ง

การเกิดหิมะ

เมื่อไอน้ำระเหยขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศ ไอน้ำที่มีความเย็นเหล่านั้น ลอยขึ้นไปเจอกับสภาพอากาศเย็น ทำให้ไอน้ำแข็งตัวกลายเป็นเกล็ดหิมะเลยโดยตรง และร่วงลงสู่พื้นด้านล่าง

ดังนั้นการจะเกิดหิมะได้นั้น สภาพอากาศโดยรวมบริเวณพื้นล่างก็จะมีสภาพอากาศเย็นที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ซึ่งในกรณีของการของการเกิดหิมะตกในทะเลทรายซาฮาราก็เช่นกัน แม้ว่าในช่วงกลางวันจะร้อน แต่ในช่วงกลางคืนของทะเลทรายจะมีอุณหภูมิที่ต่ำ ซึ่งอาจจะต่ำได้ถึงในระดับติดลบ และเมื่อมีไอน้ำมากพอ ก็จะทำให้เกิดหิมะตกได้

ภาพการเกิดหิมะ

ในกรณีของประเทศไทย หากจะเกิดหิมะตกขึ้นได้ ก็ต้องเผชิญสภาพอากาศบนพื้นล่างในระดับที่ต่ำกว่า 0 ต่อเนื่อง และมีความชื้นในอากาศที่มากพอ แต่ด้วยสภาพของประเทศไทย แม้ว่า จะมีอากาศเย็น แต่ก็มีความชื้นไม่มากพอ แต่เมื่อมีความชื้นมากพอ อากาศก็ไม่เย็นพอ ดังนั้นจึงเปิดหิมะตกได้ยาก

การเกิดฝนน้ำแข็ง

การเกิดฝนน้ำแข็ง หรือ ฝนหิมะ ซึ่งอาจจะมีหลายชื่อเรียกในภาไทย แต่ในภาษาอังกฤษคือ Sleet โดยปรากฎการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อไอน้ำในอากาศเกิดเป็นเกล็ดหิมะ และร่วงหล่นลงมาเจอกับชั้นอากาศอุ่นกว่า ทำให้เปลี่ยนสถานะกลายเป็นหยดน้ำ หรือ เม็ดฝน

แต่กลับมาเจอชั้นอากาศที่เย็นกว่าก็อย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง ที่มีลักษณะเป็นเม็ด ๆ อีกครั้งหนึ่ง มีขนาดกลม มน ไม่ใหญ่มากนัก

ยังมีอีกปรากฎการณ์หนึ่งคือ ฝนเยือกแข็ง หรือ Freezing Rain โดยปรากฎการนี้จะคล้ายกับการเกิดฝนหิมะ – ฝนน้ำแข็ง แต่สภาพอากาศนั้นมีความเย็นไม่มากพอที่จะทำให้น้ำกลายสภาพเป็นหยดน้ำแข็งได้ มีเพียงน้ำฝนที่อยู่ในสภาพเย็นจัด และเมื่อตกลงสู่พื้นที่มีอากาศเย็นต่ำกว่า 0 องศาฯ จึงกลายเป็นน้ำแข็งในภายหลัง

น้ำฝนที่มีอุณหภูมิเย็นจัด เมื่อลงมาติดอยู่บนกิ่งไม้ในสภาพอากาศหนาวเย็น
จึงกลายเป็นน้ำแข็งอีกครั้ง

ลูกเห็บตกได้ในเดือนนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก

จากกรณีของการเกิดลูกเห็บตกในพื้นที่ภาคเหนือในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมานี้ ทำให้หลายคนไม่คุ้นกับการเกิดลูกเห็บตกในช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ และเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อกระแสลมตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่เรื่องของอาเพศ หรือลางร้ายแต่อย่างใด เป็นเพียงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเท่านั้น และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เป็นระยะ ๆ มากบ้างน้อยบ้างเท่านั้นเอง

ภาพเหตุการณ์ลูกเห็บตกเมื่อ เม.ย. 2561

หากเราย้อนไปในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ก็จะได้สัมผัสอากาศหนาว โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเกิดจากการที่ลมหนาวจากจีน พัดลงมา (เรียกอย่างเป็นทางการคือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ)

ซึ่งหากกระแสลมมรสุมมีกำลังแรง ก็จะทำให้เกิดอากาศหนาวได้มากขึ้นนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อใดก็ตาม หากกระแสลมตะวันออกเฉียงเหนือนี้ อ่อนกำลงลง กระแสลมฝ่ายตะวันตก ก็จะเข้ามามีบทบาทกับสภาพอากาศในประเทศไทย

กระแสลมฝ่ายตะวันจะพัดมาจากทางประเทศอินเดีย เข้าทางประเทศเมียนมา ซึ่งจากแผนที่อากาศในขณะนี้ จะเห็นว่า กระแสลมตะวันตก ได้พัดเข้ามาจากทางฝั่งประเทศเมียนมา

กระแสลมฝ่ายตะวันตกนี้ เมื่อเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยแล้ว มักจะก่อให้เกิด ฝนตกชุกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ทางด้านรับมรสุม มีพายุฝนฟ้าคะนอง และอาจจะเกิดลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ปะทะกับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ลงมา ซึ่งก็จะเป็นแนวพื้นที่ภาคเหนือในขณะนี้

และคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกนี้ มักจะมาพร้อมกับกระแสลมกรด (Jet Sream) จะมีความเร็ว 50-300 ไมล์ต่อชั่วโมง โดยมีความเร็วลมสูงสุดบริเวณแกนกลาง

ซึ่งกระแสลมกรดนี้ จะมีความแปรปรวนค่อนข้างมาก จึงเป็นสาเหตุให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง โดยมีความรุนแรงแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เกิดขึ้นและปัจจัยด้านสภาพอากาศ

ในขณะนี้ ประเทศไทย มีคลื่นกระแสลมตะวันตกที่พักเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน และคาดว่าจะมีผลทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงมีลูกเห็บตกบางแห่ง ไปจนถึงช่วงวันที่ 23 ม.ค. 2565 นี้

(แฟ้มภาพ – ม.ค. 2561)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง