คัดลอก URL แล้ว
ญี่ปุ่น เผชิญปัญหาศก. รุม หลังเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี, GDP -0.3%, ขาดดุลการค้า 2.1 ล้านล้านเยน

ญี่ปุ่น เผชิญปัญหาศก. รุม หลังเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี, GDP -0.3%, ขาดดุลการค้า 2.1 ล้านล้านเยน

KEY :

ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาค การสู้รบในยูเครน รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้ประเทศญี่ปุ่น เผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยรายงานล่าสุดของทางการญี่ปุ่นระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาของญี่ปุ่นซึ่งไม่รวมค่าอาหารสดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 3.6% พุ่งสูงที่สุดในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2525 และมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นเร็วที่สุดด้วย ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ที่ 3.5%

แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มชาติที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐฯ หรือ อังกฤษ ที่มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่า แต่ความท้าทายที่ธนาคารแห่งชาติของญี่ปุ่นต้องเผชิญไม่ต่างกัน เมื่อแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ซึ่งหากธนาคารกลางของญี่ปุ่นปรับอัตราดอกเบี้ยก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้าน ทำให้ในขณะนี้ รัฐบาลยังระบุว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ท่ามกลางสถานการณ์ของเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องมีการปิดประเทศ ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ภาพ – AXP Photography

อาหาร-ที่อยู่อาศัย-น้ำ-ไฟ แพงขึ้น

จากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น พบว่า ผลการศึกษาพบว่า ราคาอาหารกว่า 88% หรือราว 154 รายการมีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นจาก 4.2% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

โดยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 1.1% ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา เพิ่มขึ้น 14.6% โดยเป็นผลกระทบมาจากค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง รวมถึงวัสถุดิบบางอย่างที่ต้องนำเข้ามีราคาเพิ่มสูงขึ้น เช่น แป้งสาลี

ซึ่งผลสำรวจของบริษัทวิจัยสินเชื่อ Teikoku Databank ระบุว่า บริษัทเอกชนในญีปุ่นกว่า 63.7% ยังไม่มีแผนการช่วยเหลือค่าครองชีพพนักงาน ในขณะที่มีราว 6.6% ที่ได้ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพพนักงานไปแล้ว ซึ่ง 2 ใน 3 ที่มีการจ่ายนั้นระบุว่า เป็นการจ่ายครั้งเดียว เฉลี่ยราว 53,700 เยนหรือประมาณ 13,600 บาท

ในขณะที่บริษัทที่ยังไม่มีแผนการช่วยเหลือค่าครองชีพนั้นยังคงต้องเผชิญต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยังไม่มีแผนในการพิจารณาช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับพนักงาน

ทางด้านของรัฐบาลญี่ปุ่น ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการจัดสรรวงเงินในการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ ในการลดค่าไฟฟ้าและพลังงาน, ให้เงินช่วยเหลือดูแลเด็กในครอบครัวที่มีรายได้น้อย

(ภาพ – Berto Macario)

GDP ลดลง

รายงานล่าสุดยังระบุด้วยว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญสภาวะหดตัวลง โดยในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา GDP ของญี่ปุ่นลดลง – 0.3% หรือคิดเป็น 1.2% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ทำให้ประชาชนลดการบริโภคต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นลดลง ในขณะที่การนำเข้าสินค้าต่าง ๆ จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ซึ่งภายหลังที่มีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 การใช้จ่ายต่าง ๆ ก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแต่ไม่มากนัก แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวและการรับประทานอาหารนอกบ้านลดลง ในขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ก็ลดลงเช่นกัน และประชาชนมีแนวโน้มที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อนำเงินไปใช้กับค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าพลังงาน และอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นแทน

ทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ มูลค่าหลายหมื่นล้านเยน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นค่อนข้างรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและบริษัทเอกชน ทำให้รายได้ที่ลดลง สวนทางกับต้นทุนและสินค้าต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น จึงยังต้องใช้เวลาในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้ง

ขาดดุลการค้า 2.1 ล้านล้านเยน

มูลค่าการค้าของญี่ปุ่นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นรายงานว่า มูลค่าการนำเข้าและส่งออกของญี่ปุ่นนั้นขาดดุลอยู่ที่ 2.16 ล้านล้านเยน ซึ่งนับเป็นการขาดดุลการค้าครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าเดือนตุลาคมปีที่แล้วถึง 23.8 เท่า

สาเหตุหลักที่ทำให้การขาดดุลเพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นทั้ง น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ร่วมกับปัญหาของค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมาก ทำให้เม็ดเงินที่ญี่ปุ่นต้องใช้เพื่อการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงเหล่านี้ เพิ่มสูงขึ้นถึง 2.5 เท่า โดยมูลค่าการนำเข้าในเดือนตุลาคม 2565 นั้นอยู่ที่ราว 11.16 ล้านล้านเยน สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

อย่างไรก็ตาม แนวโน้การส่งออกของญี่ปุ่นก็มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ในประเทศแถบเอเซียเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มูลค่าส่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 9.015 ล้านล้านเยน และนับเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดเช่นกัน

แต่ยังคงไม่สามารถเติบโตในระดับที่เกินดุลการค้าได้ เนื่องจากราคาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ควบคู่กับค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง

ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณนี้ ลดลง เมื่อเทียบกับทีก่อนหน้า อยู่ที่ราว 6.86 ล้านล้านเยน ซึ่งแม้จะลดลงไม่ต่ำที่สุดแต่ก็ยังคงเป็นอันดับที่สอง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โดยเป็นผลกระทบมาจากราคาพลังงานเชื้อเพลิงเช่นกัน

(ภาพ – Nichika Yoshida )

เปิดท่องเที่ยวแต่ยังเป็นปัญหา

ในช่วงฤดูหนาวถือเป็นหนึ่งในช่วงไฮซีซั่นของญี่ปุ่นที่จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาเดินทางมาท่องเที่ยวสัมผัสอากาศหนาว ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ทางการญี่ปุ่นได้มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ มากขึ้น และกระตุ้นการท่องเที่ยว

ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลญีปุ่นพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศด้วยการออกคูปองส่วนลดให้ชาวญี่ปุ่นออกไปท่องเที่ยวและใช้บริการร้านอาหารให้มากขึ้น แต่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ก่อนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะประกาศเปิดประเทศเมื่อไม่นานมานี้

นักท่องเที่ยวจำนวนมากเริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น แต่ภาคการท่องเที่ยวกลับเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่แรงงานหลายส่วนหลายไปจากระบบ โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติ เช่นฟิลิปปินส์ที่เดินทางออกไปประกอบอาชีพในประเทศอื่นที่ใช้ภาษาอังกฤษ และมีการผ่อนคลายมาตรการไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ออสเตรเลีย ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นจึงยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้เต็มที่มากนัก

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังเชื่อว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังสามารถประคองตัวต่อไปได้ และจะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะ


ที่มา
– https://www3.nhk.or.jp/news/html/20221115/k10013891511000.html
– https://www3.nhk.or.jp/news/html/20221115/k10013891281000.html
– https://www3.nhk.or.jp/news/html/20221118/k10013896071000.html


ข่าวที่เกี่ยวข้อง