KEY :
- APEC 2022 Thailand จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565
- รัฐบาลไทยได้เลือกศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นสถานที่จัดการประชุมหลัก
- ประโยชน์ของไทยในการเป็นเจ้าภาพ APEC เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว
เป็นที่ทราบการดีว่าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย – แปซิฟิก ประจำปี 2565 (APEC 2022 Thailand) โดยการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2535 และ 2546
โดยรัฐบาลไทยได้เลือกศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นสถานที่จัดการประชุมหลัก และหอประชุมกองทัพเรือเป็นสถานที่จัดเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจพร้อมคู่สมรส ซึ่งได้จัดสรรวงเงินงบประมาณสำหรับการประชุมครั้งนี้จำนวน 3,283.10 ล้านบาท
สำหรับกำหนดการประชุม โดยในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นวันก่อนการประชุม รัฐบาลไทยมีกำหนดจัดงานเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจและแขกรับเชิญพิเศษพร้อมคู่สมรสที่หอประชุมกองทัพเรือ ในเช้าวันถัดมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะเจ้าภาพ จะให้การต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจและผู้แทนที่เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
จากนั้นในช่วงเย็นวันเดียวกัน ผู้นำเขตเศรษฐกิจพร้อมคู่สมรส จะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
การประชุม APEC คืออะไร
เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืนและความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค
ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยด้วยประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น รวมทั้งสมาชิกอาเซียน และประเทศในอเมริกาเหนือและใต้ ซึ่งประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม
เอเปคมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
หัวข้อหลักในการประชุม APEC 2022
การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 มีพลวัตและความท้าทายแตกต่างจากเมื่อครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพฯ ในปี 2546 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวการณ์โควิด-19 ที่เอเปคกำลังปรับตัวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ ๆ ไทยจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในยุคหลังโควิด-19 อย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน
โดยกำหนดหัวข้อหลักคือ Open. Connect. Balance. หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม เชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย
รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
ทั้งนี้ ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้
ประโยชน์ของไทยในการเป็นเจ้าภาพ APEC
การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหลายมิติ โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี
นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพการประชุมของไทยท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นการฟื้นฟูการเดินทางและทำธุรกิจแบบพบหน้า และยังเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงความพร้อมว่าไทยสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดได้โดยยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พร้อมกัน
ประเด็นที่ไทยมุ่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมและเป็นผลลัพธ์ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ ได้แก่
- 1) การส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ในบริบทของการเจริญเติบโตหลังโควิด-19 ที่จะต้องยั่งยืนและสมดุล และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน
- 2) ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไก APEC Safe Passage Taskforce เพื่อหารือแนวทางที่ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย อาทิ การอำนวยความสะดวกอาชีพสำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้ Public Key Infrastructure ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางกว้างขึ้น
- 3) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในเอเปค ด้วยการจัดทำเอกสารผลลัพธ์ระดับผู้นำเพื่อเร่งการพัฒนาตามแผนงานของเอเปคไปสู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลในยุคหลัง โควิด-19 ตามแนวคิด BCG Economy
ที่มาของตราสัญลักษณ์ APEC 2022
ตราสัญลักษณ์ของการประชุม ออกแบบโดยชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นรูป “ชะลอม” ซึ่งเป็นเครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่สิ่งของในการเดินทาง หรือนำไปมอบกับบุคคลที่เคารพในสังคมไทยจากรุ่นสู่รุ่น ทำจากไม้ไผ่ สะท้อนถึงการค้าที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงมิตรภาพเข้าด้วยกัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตราสัญลักษณ์ประกอบด้วยชะลอม 21 ช่อง สื่อถึงสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ และใช้สีน้ำเงิน ชมพู เขียว สื่อให้เห็นถึงคำขวัญของการประชุม “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
โดย ‘ชะลอม’ สื่อถึงหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคในปี 2565 คือ
- OPEN: ชะลอมมีลักษณะปลายเปิดไว้ใช้ใส่สิ่งของต่าง ๆ จึงเสมือนว่าเป็นการสื่อการค้าลงทุนที่เปิดกว้าง
- CONNECT: เพราะชะลอมมีไว้ใส่สิ่งของเพื่อขนส่ง จึงเปรียบได้กับความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค
- BALANCE: ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติ จึงถือว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระสำคัญของไทยและกำลังผลักดันในเวทีเอเปค 2565 นี้
การรักษาความปลอดภัย – ปิดการจราจรโดยรอบ
ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคนั้น จะมีการปิดการจราจรถนนโดยรอบศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเฉพาะถนนรัชดาภิเษกจะปิดการจราจรตั้งแต่แยกอโศกมนตรีถึงแยกพระรามที่ 4 และถนนดวงพิทักษ์จะปิดการจราจรทั้งเส้นทาง ระหว่างวันที่ 16–19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงปิดใช้งานสวนเบญจกิติ, สวนป่าเบญจกิติ และสถานีรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับสถานที่จัดประชุมในช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้งมีการจัดเตรียมรถรับ-ส่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่พักอาศัยหรือทำงานในสถานที่ใกล้เคียงกับบริเวณจัดประชุม
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เตรียมกำลังตำรวจประมาณ 20,000 นาย เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกผู้นำที่เข้าร่วมประชุมนอกจากนี้ สตช. ยังระดมกวาดล้างปราบปรามผู้กระทำความผิดที่ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนเถื่อน อาวุธปืนสงคราม ยาเสพติด และหมายจับค้างเก่า รวมถึงประกาศให้พื้นที่การประชุม ที่พักของผู้นำ และเส้นทางที่ผู้นำจะใช้ เป็นพื้นที่ห้ามกีดขวางการจราจร เพื่อป้องกันการรวมตัวของผู้ชุมนุมด้วย
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้กำหนดเขตห้ามบินสำหรับอากาศยาน โดยเฉพาะอากาศยานไร้คนขับ และอากาศยานที่ไม่ได้รับอนุญาตให้บิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รัศมีโดยรอบ 10 นอติคอลไมล์ (ประมาณ 19 กิโลเมตร) จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ความสูงตั้งแต่ 0–3,000 ฟุต จากพื้นดิน ในช่วงการประชุมเอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 13–21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
บัตรอนุญาตผ่าน-เข้าออก พื้นที่ประกาศห้ามในการจัดประชุม APEC
โดยสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี แจ้งประชาสัมพันธ์ ผู้ที่มีบ้านพักอาศัยหรือสำนักงานอยู่ในพื้นที่สน.ลุมพินี และประสงค์ขอ”บัตรอนุญาตผ่าน-เข้าออกพื้นที่ประกาศห้าม ในช่วงการจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิค (APEC 2022) สามารถ กรอกแบบฟอร์มเพื่อขอรับบัตรผ่านเส้นทาง “APEC 2022″ ได้โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดด้านล่าง หรือ กดลิงค์ Google form https://forms.gle/4RgNRmm3GeoQKDyCA
หลังจากกรอกแบบฟอร์มเรียบร้อยแล้ว สามารถมารับบัตรผ่าน ที่ สน.ลุมพินี ในวันเวลาราชการ เท่านั้น โดยในวันดังกล่าว ยานพาหนะที่จะสามารถเข้า-ออกพื้นที่ประกาศห้าม จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเท่านั้น
ข้อมูล : APEC 2022