KEY :
- ดร. Jinal Bhiman และทีมงาน ในสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ (NICD) เป็นชุดแรกที่ได้เห็นรหัสพันธุกรรมของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
- ในวินาทีแรกที่เห็นผลวิเคราะห์ที่มีการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น เธอคิดว่า “อาจจะเป็นการวิเคราะห์ผิดพลาด” เธอและทีมงานทำการวิเคราะห์ผลซ้ำอีก เพื่อยืนยันสิ่งที่ค้นพบ
- ความภูมิใจในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบเชื้อนี้ถูกสั่นคลอนจากการที่แอฟริกาใต้ถูกโดดเดี่ยว และผู้คนจำนวนไม่น้อยไม่พอใจในสิ่งที่เธอค้นพบ
…
ณ เวลานี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ระบาดไปทั่วโลก และทำให้เกิดผู้คนทั่วโลกติดเชื้อจำนวนมากทะลุหลักล้านคนต่อวัน เพียงระยะเวลาเพียงเดือนเศษหลังการประการการค้นพบเชื้อสายพันธุ์ B.1.1.529 และในเวลาต่อมาองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้สายพันธุ์นี้ ชื่อว่า “โอมิครอน” พร้อมกับจัดให้อยู่ในรายชื่อ “สายพันธุ์ที่น่ากังวล” หรือ Variant of Concern เพียงไม่กี่วันให้หลัง
แต่ในนาทีแรกที่นักวิทยาศาสตร์ชาวแอฟริกาใต้ค้นพบสายพันธุ์นี้เป็นครั้งแรก เกิดอะไรขึ้นบ้าง และสิ่งที่ตามมากลายเป็นหลักนานาประเทศประกาศปิดพรมแดน นั้นเป็นอย่างไร
ค่ำวันศุกร์ของการพบสายพันธุ์ใหม่
ในค่ำวันศุกร์ สัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษจิกายน 2564 เมื่อ ดร. Jinal Bhiman และทีมงาน นักวิทยาศาสตร์ในสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ (NICD) ได้เห็นผลการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8 ตัวอย่างที่ถูกส่งมาจากจังหวัดกัวเต็ง ของแอฟริกาใต้ เพื่อตรวจหาสายพันธุ์ของโควิด-19 เนื่องจากพบการระบาดที่ผิดปรกติในพื้นที่
“เราไม่เคยเห็นการกลายพันธุ์มากขนาดนี้มาก่อน”
ดร. Jinal Bhiman นักวิทยาศาสตร์ผู้ที่เห็นรายงานการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากตัวอย่างที่พบ โดยในครั้งแรกที่พบนั้น Bhiman คิดว่า อาจจะมีอะไรผิดพลาดในการวิเคราะห์ตัวอย่างที่เกิดขึ้นได้ในห้องทดลอง ดังนั้นในคืนนั้น จึงได้มีการตรวจซ้ำอีกครั้ง
ซึ่งก่อนที่จะมีการรายงานยืนยันการค้นพบนั้น เพื่อความมั่นใจ จึงได้มีการนำตัวอย่างวิเคราะห์เพิ่มเติม ในสัปดาห์ถัดมาหลังจากการเห็นรหัสพันธุกรรมครั้งแรก เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาใต้ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลจากตัวอย่างเชื้อเพื่อเติม
และเมื่อมั่นใจแล้วว่า ผลการวิเคราะห์นั้นถูกต้อง จึงได้มีการแจ้งต่อรับบาลของแอฟริกาใต้ อัปโหลดข้อมูลเข้าสู่ระบบของ GSAID ซึ่งข้อมูลนั้น Bhiman ระบุว่า ได้มีการเช็ค-ตรวจสอบซ้ำ เพื่อความมั่นใจหลายรอบก่อนที่จนมั่นใจ หลังจากนั้น รัฐบาลแอฟริกาใต้ จึงได้ประกาศอย่างเป็นทางการในการค้นพบสายพันธุ์ B.1.1259
ในสัปดาห์ถัดมาก็เริ่มเห็นการระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และอัตราการติดเชื้อซ้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในแอฟริกาใต้ ในขณะเดียวกัน WHO ก็ได้ประกาศให้เชื้อในสายพันธุ์ที่ค้นพบนี้ อยู่ในรายการ “สายพันธุ์ที่น่ากังวล” หรือ Variant of Concern พร้อมทั้งตั้งชื่อสายพันธุ์ที่พบนี้ว่า “โอมิครอน” ( Omicron)
…
ความกังวลทั่วโลกและการโดดเดี่ยวแอฟริกาใต้
ดร. Bhiman เล่าว่า ในครั้งแรกของการค้นพบสายพันธุ์โอมิครอนนี้ ในฐานะของการเป็นที่เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์ ถือเป็นความภูมิใจในการที่ได้ทำหน้าที่และค้นพบสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ค้นพบสายพันธุ์ใหม่
หลังจากที่รัฐบาลแอฟริกาใต้ประกาศการค้นพบในครั้งนี้ และ WHO บรรจุเข้าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อความน่ากลัวเข้ามาแทนที่ จากการที่หลายประเทศประกาศปิดพรมแดน ระงับการเดินทางจากประเทศแอฟริกาใต้อย่างรวดเร็ว และทั่วโลก นั่นทำให้รู้สึกว่า
“แอฟริกาใต้กำลังถูกโดดเดี่ยว”
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าเป็นเรื่องน่าผิดหวังต่อการตอบสนองกับการค้นพบสายพันธุ์โอมิครอน โดย Bhiman เชื่อว่า การห้ามเดินทางนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะเชื้อนั้นน่าจะเดินทางไปแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เพราะการประกาศขององค์การอนามัยโลกเกิดขึ้นหลังจากที่ค้นพบเชื้อครั้งแรกไปแล้ว 2 สัปดาห์ และการระบาดก็เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการค้นพบในห้องปฏิบัติการเสียอีก
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ตกเป็นเป้าหมายของความเกลียดชัง เนื่องจากการค้นพบดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดการระงับการเดินทาง และผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ก่อให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจกับแอฟริกาใต้
“การตกเป็นเป้าหมายของความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นไม่สนุก และมันน่ากลัว แม้ว่าจะเข้าใจว่าหลาย ๆ คนรู้สึกอย่างไร”
Bhiman กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการโดดเดี่ยวแอฟริกาใต้
…
ไม่ควรมีใครถูกโดดเดี่ยวจากการรายงานข้อมูล
Shabir Madhi, ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัคซีนจากมหาวิทยาลัย Witwatersrand ระบุว่า หลังจากที่ได้รับข้อมูลรหัสพันธุกรรมของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่วนตัวยังคงมองสถานการณ์ในแง่ดี ว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนและการติดเชื้อของผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จะยังคงช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของเชื้อได้ และสิ่งที่คิดก็ถูกต้อง เมื่อเห็นภาพของจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และจำนวนผู้เสียชีวิต
Madhi ระบุว่า ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. เป็นการประเมินข้อมูลต่าง ๆ ว่า แอฟริกาใต้กำลังเผชิญหน้ากับอะไรบ้าง และกำลังจะเกิดอะไรขึ้นบ้างจากการระบาดของโอมิครอนในแอฟริกาใต้ จากข้อมูลผู้ป่วยทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชน
ซึ่งจากสิ่งที่เกิดขึ้น และการตอบสนองของทั่วโลกจากนานาชาติ Madhi ระบุว่า ประชาคมโลกควรจะต้องมีจุดยืนใหม่ที่ชัดเจน เมื่อมีประเทศหนึ่งรายงานข้อมูลการค้นพบที่พบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเขาไม่สมควรจะถูกลงโทษด้วยการปิดพรมแดนและถูกโดดเดี่ยวจากการรายงานสิ่งที่ค้นพบนั้น
ประเทศต่าง ๆ ควรใช้ความระมัดระวังในการประเมินโมเดลต่าง ๆ ในคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการระบาดที่เกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และควรประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า
…
ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอจะยืนยันที่มาของการกลายพันธุ์
ต้นตอของการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนี้ Bhiman ระบุว่า ยังคงไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอว่า ที่มาที่ไป รวมถึงต้นตอสาเหตุของการกลายพันธุ์นี้มาจากที่ใด และเกิดขึ้นได้อย่างไรที่ชัดเจน
แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ ก็มีความเป็นไปได้หลายทาง โดยในทฤษฎีแรกนั้น คาดว่าเกิดจากการที่มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่เป็นระยะเวลานาน ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายนั้นต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่พบ และส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ซ้ำ ๆ
อีกทฤษฎีหนึ่งนั่นคือ การที่มีสัตว์ติดเชื้อโควิด-19 จากมนุษย์ มีการกลายพันธุ์ในสัตว์ ก่อนที่จะแพร่เชื้อกลับสู่มนุษย์อีกครั้งหนึ่ง และทฤษฎีที่สาม ก็คือ การที่เชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา อาจจะมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ด้วยที่เราไม่ได้ตรวจสอบสายพันธุ์ของเชื้อครบทุกคน เราจึงไม่เคยพบมันมาก่อนที่จะมีการค้นพบในแอฟริกาใต้
…
ซึ่งในอนาคตอาจจะเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นอีกหรือไม่นั้น ยังคงไม่สามารถตอบได้ว่า จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่การที่ประเทศต่าง ๆ ค้นพบเชื้อสายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะการค้นพบ “สายพันธุ์ที่น่ากังวลนี้” ทำให้เห็นแล้วว่า
“มาตรการในการระงับการเดินทาง การปิดพรมแดนไม่ช่วยอะไรได้มากนัก และไม่ควรลงโทษประเทศที่มีการรายงานการค้นพบสายพันธุ์ที่น่ากังวล หรือสายพันธุ์ใหม่ เราควรจะต้องคิดกันให้มากขึ้น เพราะมันเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นระดับโลก เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะประชาชนในประเทศของคุณ” Bhiman กล่าว
ที่มา
- ข้อมูล – https://theconversation.com/south-african-scientists-on-the-inside-story-of-discovering-omicron-and-what-their-experience-offers-the-world-about-future-variants-podcast-176269
- ภาพ – HKUMed