คัดลอก URL แล้ว
สื่อต่างชาติ รายงานว่าไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในผู้สูงอายุล่าช้าที่สุด

สื่อต่างชาติ รายงานว่าไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในผู้สูงอายุล่าช้าที่สุด

สำนักข่าวรอยเตอร์เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยโดยพบว่า กลุ่มสูงอายุในไทยได้รับวัคซีนครบโดสเพียง 6.7% เท่านั้น จากผู้สูงอายุทั้งหมด

รอยเตอร์ส ระบุด้วยว่า จากข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ 30 ประเทศทั่วโลกพบว่า ไทยเป็นประเทศเดียวใน 30 ประเทศที่มีผู้สูงอายุที่ได้รับการฉีดวัคซีนน้อยกว่ากลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า

รายงานของรอยเตอร์ส ยังวิเคราะห์ข้อมูลของรัฐบาลไทย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีน ให้ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ครบโดสแล้ว 6.7% จากประชากรสูงอายุที่มีประมาณ 10.9 ล้านคน ขณะที่กลุ่มอายุ 18-59 ปีมีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วถึง 15% ส่วน ประชากรอีก 10.2% ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งเด็ก ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

ขณะที่ มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีข้อมูลเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ว่า ได้ฉีดวัคซีน ให้ผู้สูงอายุครบโดสไปแล้วอย่างน้อย 82% คิดเป็น 45.6% ของประชากรทั้งหมด ส่วนอินโดนีเซีย สถานการณ์จะคล้ายกับไทย คือมีผู้สูงอายุเพียง 17% เท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่า 13% เมื่อเทียบกับประชาทั้งหมด

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า แผนการจัดลำดับความสำคัญของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ผู้สูงอายุจะเปลี่ยนไปหลังจากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ พร้อมย้ำว่า อัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างต่ำในกลุ่มนี้อาจทำให้มีผู้สูงอายุเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา การเสียชีวิตจากโควิด ในประเทศไทยนั้น พบว่า กว่า 62% หรือเกินครึ่ง เป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และคิดเป็น 8.7% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งชี้ให้เห็นว่า แม้ผู้สูงอายุจะมีการติดเชื้อน้อย แต่เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง จึงทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า

ขณะที่ในอินโดนีเซีย กลุ่มผู้สูงอายุคิดเป็นเกือบ 12% ของผู้ป่วยทั้งหมด แต่คิดเป็นเพียง 47% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยเคยประกาศในช่วงแรกว่า ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ๆ แต่การวางแผนเปลี่ยนไปจากระบบการจัดลำดับความสำคัญตามอายุไปเป็นระบบจัดลำดับความสำคัญตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ หรือ พื้นที่ที่เกิดการระบาด หลังจากมีการระบาดอย่างหนัก ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือน เม.ย.

ส่งผลให้กลุ่มประชากรที่อายุน้อยและวัยทำงานในกรุงเทพเข้าถึงการฉีดวัคซีน ได้ง่ายกว่าคนชราและ ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุลดลงตามไปด้วย

รายงานของรอยเตอร์ยังระบุอีกว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับปริมาณการจัดสรรวัคซีนคิดเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของประเทศไทย ขณะที่มีจำนวนประชากรคิดเป็น 1 ใน 10 ของทั้งประเทศ อีกทั้ง วัคซีนยังถูกจัดสรรไปยังต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบทุกคน เพื่อปูทางให้สามารถเปิดภาคการท่องเที่ยวอย่างจำกัดสำหรับชาวต่างชาติ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ว่า การจองวัคซีนผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันเป็นหลักนั้น เท่ากับ เป็นการตัดโอกาสผู้สูงอายุในหลายพื้นที่ เพราะเป็นกลุ่มที่เข้าใจและใช้เทคโนโลยีน้อยที่สุด

ทั้งนี้ รัฐบาลไทย ยืนยันว่า ขณะนี้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุให้มากยิ่งขึ้น โดย นพ.เฉวตสรร ยังระบุว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยอย่างน้อย 70% ควรได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มภายในสิ้นเดือน ก.ย. นี้ ด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง