คัดลอก URL แล้ว
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราแค่ “เครียด” หรือเป็น “โรคเครียด” ความแตกต่างที่ต้องรู้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราแค่ “เครียด” หรือเป็น “โรคเครียด” ความแตกต่างที่ต้องรู้

ตลอดช่วงเวลาการเติบโตตั้งแต่เด็ก ‘ความเครียด’ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโต ไม่ว่าจะเป็น ความเครียดจากการเปลี่ยนแปลง ความเครียดจากการทำงาน ความกังวลที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งความกดดันจากความไม่แน่นอนในอนาคต ซึ่งความเครียดไม่เพียงเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อแรงกดดัน แต่ยังเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิตและสุขภาพจิตของเรา แม้ด้านหนึ่งความเครียดจะช่วยให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักการจัดการอารมณ์ การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถก้าวข้ามภาวะความเครียดได้ เพื่อทำความรู้จักกับ ‘โรคเครียด (Adjustment Disorder)’ ให้มากขึ้น

ขอนำเกร็ดความรู้ดีๆ จาก พญ.เต็มหทัย นาคเทวัญ จิตแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพจิต (Mental Health Center) โรงพยาบาลนวเวช มาอธิบายเป็นข้อมูลให้ทุกคนได้เข้าใจถึงสาเหตุ ความเสี่ยง และวิธีการจัดการกับโรคเครียดอย่างลึกซึ้ง อาจช่วยให้พบทางออกในการรับมือกับความเครียด และสร้างสุขภาพจิตที่แข็งแรงในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Q: ความหมายของ ‘ความเครียด’ และ ‘โรคเครียด’ ความแตกต่างกันอย่างไร?

A: เริ่มจาก ‘ความเครียด’ เกิดขึ้นเมื่อเราต้องเผชิญกับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภาวะทางใจหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เวลาที่เราต้องอ่านหนังสือหนักๆ อาจทำให้เรารู้สึกปวดหัว มึน หรือไม่อยากทานอาหาร ซึ่งถือเป็นความเครียดที่พบได้ทั่วไป แต่เมื่อความเครียดพัฒนาไปเป็น ‘โรคเครียด’ หรือ ภาวะปรับตัวผิดปกติ (Adjustment order) อาการจะมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น หากความเครียดจากการสอบทำให้เราไม่อยากพบปะเพื่อน หรือเริ่มเก็บตัวและรู้สึกเศร้า จนไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ หรือในวัยทำงานที่เมื่อเกิดความเครียดแล้วนำไปสู่พฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น ไม่อยากทำงาน ทำงานแล้วสมาธิลด ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อารมณ์แปรปรวน นั่นแสดงว่าเราอาจกำลังเผชิญกับ ‘โรคเครียด’

Q: จะรู้ได้อย่างไรว่าเราแค่เครียด หรือเป็นโรคเครียด

A: ทุกคนมีระดับความสามารถในการรับมือกับความเครียดที่แตกต่างกัน บางคนอาจจัดการได้ดีและรู้สึกว่าความเครียดนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อไหร่ที่ความเครียดเริ่มส่งผลกระทบต่อด้านต่าง ๆ ของชีวิต เช่น งาน การเรียน หรือความสัมพันธ์ อาจบ่งบอกได้ว่าเราเข้าสู่ภาวะโรคเครียด ดังนั้น เราควรหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงจากคนรอบข้าง เช่น หากคุณได้รับข้อคิดเห็นว่า “ดูไม่ค่อยมีสมาธิเลย” หรือ “ทำไมช่วงนี้อารมณ์ไม่ดีตลอด?” สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า เราอาจต้องการการช่วยเหลือ การตรวจสอบและขอคำปรึกษาจากผู้ชำนาญการตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปมากกว่าเดิม

ความน่ากังวลของโรคเครียด

ความน่ากังวลของโรคเครียดขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเรา เริ่มต้นจากการกระทบที่ชัดเจนทั้งทางด้านจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรม หากเราตระหนักถึงอาการและเข้ารับการดูแลจากแพทย์ได้อย่างทันท่วงที โรคเครียดจะไม่น่ากังวลมากนัก ทว่าหากปล่อยไว้นานโดยไม่เร่งรักษา อาจทำให้โรคเครียดพัฒนาเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคไบโพลาร์ จุดนี้เองสะท้อนให้เห็นว่าโรคเครียดสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพจิตที่ใหญ่ขึ้นได้

แนวทางในการจัดการความเครียด

เมื่อต้องเผชิญกับความเครียด การพยายามคิดหาทางแก้ปัญหาเองอาจทำให้รู้สึกหมกมุ่นและไม่สามารถหาทางออกได้ง่าย ซึ่งแนวทางที่หมอขอแนะนำคือ การนำความเครียดออกมาทำให้เป็นรูปธรรม เช่น ใช้การเขียนอารมณ์ความรู้สึกออกมาในรูปแบบของ Mind Map หรือเขียนเป็นไดอารี เพื่อระบุว่าความเครียดมาจากไหน และเราใช้วิธีการไหนในการแก้ไข

ขั้นตอนแรก คือการค้นหาสาเหตุของความเครียด เพื่อประเมินว่าความเครียดนี้เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้หรือไม่

โรคเครียดหรือภาวะการปรับตัวผิดปกติ เป็นหนึ่งในโรคทางสุขภาพจิต แต่เป็นโรคเริ่มต้นที่สามารถหายเองได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา โรคนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีตัวกระตุ้น ภายในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเราสังเกตได้ จริงๆ ทุกคนเราอาจจะผ่านโรคเครียดมาแล้วก็ได้ เพราะเมื่อความเครียดมันหายไป มันก็จะหายเองภายใน 6 เดือน โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเราเป็นโรคเครียดมาก่อน

Q: จุดไหนที่ควรจะเริ่มเข้ามาพบแพทย์

A: หมอคิดว่าจุดที่เรารู้สึกว่าเราเริ่มที่จะไม่เข้าใจตัวเอง เริ่มมีความคิดวกไปวนมา วิธีการแก้ไขปัญหาความเครียดแบบเดิม ๆ ที่เคยใช้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเดิมได้อีกแล้ว การพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้เราได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำที่ถูกต้อง ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปมากกว่านี้

Q: แล้วเราควรจะไปพบใคร ระหว่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

A: การเลือกแพทย์เฉพาะทางขึ้นอยู่กับความสะดวกและความสบายใจของเรา ในบริบทประเทศไทย ความเปิดกว้างในการเข้าถึงการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ หากรู้สึกไม่สบายใจหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคุณ การพบกับนักจิตบำบัดอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะพวกเขาสามารถช่วยให้คุณเข้าใจและจัดการกับปัญหาโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา ซึ่งอาจช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจมากขึ้น หากหลังจากนั้นยังรู้สึกว่าต้องการคำแนะนำทางการแพทย์เพิ่มเติม การพบแพทย์จิตเวชเพื่อประเมินและรักษาอาการที่ลึกซึ้งกว่าก็เป็นทางเลือกที่ดี ทั้งนี้ การเลือกแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางควรขึ้นอยู่กับความสะดวกใจของคุณ และสิ่งที่คุณรู้สึกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพจิตของคุณมากที่สุด

เติมพลังกายและใจเคล็ดลับจัดการความเครียดอย่างยั่งยืน

•แนวทางการป้องกันความเครียด ด้วยการหันมาดูแลตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญ เริ่มต้นจากสุขภาพกาย การนอนหลับที่้เพียงพอ และการพักผ่อนอย่างเต็มที่จะช่วยให้สมองได้ฟื้นฟูและควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ ตลอดจนการออกกำลังกาย ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดได้ เนื่องจากมีการหลั่งสาร Endorphin ที่ช่วยให้สมองรู้สึกผ่อนคลาย มีความรู้สึกดีและสบายตัว
•ด้านจิตใจ การเข้าใจและรู้จักตัวเองเป็นสิ่งที่จำเป็น หากพบว่ามีปัญหาที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ หรือรู้สึกท้อแท้ ควรพิจารณาปรึกษาผู้ชำนาญการเฉพาะทาง การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาและหาวิธีการจัดการที่เหมาะสม

โรคเครียดเป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานและวัยรุ่น ซึ่งมักพบในกรณีของแรงกดดันจากการทำงาน หรือการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน ความเครียดเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเผชิญได้ แต่เมื่อความเครียดเริ่มเป็นปัญหาที่เราควบคุมไม่ได้ อยากให้เข้ามาปรึกษาหมอด้วยความคิดที่ว่า คุณหมอเป็นเพื่อนที่จะมาแชร์ปัญหา และหาทางออกร่วมกัน และมากกว่านั้นการมาหาคุณหมอจะทำให้เราเข้าใจตัวเเองมากขึ้น และจะมีวัคซีนที่ป้องกันตัวเองไปได้ตลอดชีวิต

ที่มา: ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพจิต (Mental Health Center) โทร. 1507 I Line: @navavej


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง