คัดลอก URL แล้ว
จริงหรือไม่? บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า

จริงหรือไม่? บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ภัยร้ายที่คุกคามอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากความอยากลอง พฤติกรรมเลียนแบบ ความต้องการเข้าสังคม หรือบางคนหวังผลในแง่ลดความเครียด อีกทั้งกระแสสื่อโฆษณา รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดหรือทำให้เข้าใจผิด เช่น บุหรี่ไฟฟ้า GEN 5 หรือ TOY POD ที่มาในรูปแบบตุ๊กตา พกพาง่าย และเหมือนของเล่นจนแยกไม่ออกว่าเป็นสิ่งของอันตราย ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เริ่มต้นการสูบ ในบทความนี้รวบข้อมูลไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า มาให้ได้ตระหนักกันมากขึ้น พร้อมฝากข้อคิดให้ทุกท่านหันมา “รักตัวเอง” “ซื้อสุขภาพ” ด้วยการ”เลิกบุหรี่” เพื่อนำใช้สร้างความตระหนักรู้กับตนเองและคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น

โดย พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช ได้ตอบคำถามคลายข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ทั้ง 2 ชนิด ดังนี้

Q: เมื่อติดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า … แล้วสุขภาพจะเป็นอย่างไร?

เมื่อทดลองสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ร่างกายจะได้รับสารนิโคติน โดยสารนิโคตินจะถูกดูดซึมทางผิวหนังและเยื่อเมือกที่บุผิว เช่น ปาก จมูก หรือการสูดดมทางปอด เมื่อสูดนิโคตินเข้าร่างกาย สารนิโคตินจะเข้าสู่สมองภายในเวลา 8-10 วินาที ออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดแดงหดรัดตัว ความดันโลหิตสูงขึ้น หายใจเร็วขึ้น และกระตุ้นสมองส่วนกลาง ทำให้ผู้สูบรู้สึกคลายความเครียด ในคนที่ติดนิโคตินมาก เมื่อหยุดสูบประมาณ 30 นาที จะแสดงอาการอยากนิโคติน ทำให้กระวนกระวาย กังวล ขาดสมาธิ หงุดหงิด มึนศีรษะ เศร้าหมอง นอนไม่หลับ หากกลับไปสูบ อาการดังกล่าวก็จะหายไป

A: ทั้งบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนประกอบของนิโคติน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระบบต่าง ๆ ของเราดังนี้
ระบบประสาทส่วนกลาง: เวียนหัว วิงเวียน การนอนหลับผิดปกติ ปวดศีรษะ หลอดเลือดสมองหดตัวเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ส่งผลต่อพัฒนาการของสมองทั้งต่อทารกในครรภ์ เด็ก และวัยรุ่น
ระบบหัวใจและหลอดเลือด: ภาวะหลอดเลือดแข็ง ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นเร็ว และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ระบบหายใจ: โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมหดเกร็ง และโรคมะเร็ง
ระบบทางเดินอาหาร: แผลในกระเพาะอาหาร อาการคลื่นไส้ ปากแห้ง กรดไหลย้อน โรคมะเร็ง
น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น

  1. โพรพิลีนไกลคอล: ระคายเคืองตา ทางเดินหายใจ ไอ ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน
  2. กลีเซอรีน: ไอ หลอดลมตีบ หอบเหนื่อย
  3. สารประกอบอันตรายอื่น ๆ เช่น สารหนู โลหะหนัก ฟอร์มัลดีไฮด์ เบนซีน สารชูรสมินต์ เมนธอล ซึ่งอาจก่อมะเร็ง
    นอกจากนี้ พิษของบุหรี่ไฟฟ้า ยังส่งผลเหนี่ยวนำการอักเสบ ลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ทั้งด้านพฤติกรรม หน่วยความจำ กล้ามเนื้อกระตุก

สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบสูงขึ้น 71%, โรคหัวใจวายเฉียบพลันสูงขึ้น 59% และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น 40%

Q: บุหรี่ไฟฟ้าต่างจากบุหรี่ธรรมดาอย่างไร?

A: บุหรี่ไฟฟ้าใช้ระบบการส่งนิโคตินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไอที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้า มีความร้อนสูง ทำให้เผาทำลายเซลล์เยื่อบุการหายใจ ปริมาณของนิโคตินที่มีความเข้มข้น และอีกทั้งส่วนผสมอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างกันของแต่ละบริษัท ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงแตกต่างกัน

บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดโรคที่ต่างจากการสูบบุหรี่ธรรมดา ที่รู้จักกันในชื่อ “EVALI” ซึ่งมาจาก E-cigarette or Vaping product use-Associated Lung Injury ซึ่งมีความหมายว่า “อาการปอดบาดเจ็บที่สัมพันธ์กับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการสูบไอ” อาการแสดงได้แก่ ไอแห้ง เหนื่อยเวลาออกแรง อาจมีร่วมกับ อาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อาการเกิดขึ้นเร็ว ในหลักวัน สัปดาห์ หรือเพียงไม่กี่เดือน หลังสูบบุหรี่ไฟฟ้า ภาพทางรังสีปอดพบปอดอักเสบรุนแรง โดยตรวจไม่พบสาเหตุจากการติดเชื้อ เกิดภาวะพร่องออกซิเจนได้รุนแรง จนหลายรายเกิดภาวะหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

Q: จริงหรือไม่?… บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่

A: บางคนอยากเลิกบุหรี่ แต่เลิกไม่ได้ จึงหาทางเลือกใหม่ด้วยการหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเชื่อว่ามีความปลอดภัยกว่า อันตรายน้อยกว่า และช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ จากข้อมูลพบว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเลิกบุหรี่เพียงร้อยละ 5-9 และมีข้อมูลว่า หากคนที่สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่เทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทน ทำให้โอกาสเลิกบุหรี่ลดลง 27 เปอร์เซ็นต์
ข้อเท็จจริง คือ “บุหรี่ไฟฟ้ามีพิษภัยที่ไม่ต่าง หรือ อาจร้ายกาจกว่าบุหรี่ธรรมดาเสียด้วย
อีกทั้งไม่ช่วยในการเลิกบุหรี่”

Q: การเลิกบุหรี่ดีต่อสุขภาพอย่างไร?

A: ภายในหลักนาทีหลังหยุดบุหรี่ อัตราการเต้นของหัวใจเริ่มลดลงสู่ระดับปกติ
ภายใน 24 ชั่วโมงหลังหยุดสูบบุหรี่ ระดับนิโคตินจะไม่หลงเหลืออยู่ในร่างกาย
ภายใน 48-72 ชั่วโมง ระดับ Carbon monoxide ในเลือดจะกลับสู่ปกติ
หลังเลิกบุหรี่ 1-12 เดือน อาการไอ อาการเหนื่อยลดลง การทำงานของระบบการหายใจจะดีขึ้น
หลังเลิกบุหรี่ 1-2 ปี ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันลดลง
หลังเลิกบุหรี่ 3-6 ปี อัตราเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดลดลงครึ่งหนึ่ง
หลังเลิกบุหรี่ 5-10ปี อัตราเสี่ยงโรคมะเร็งช่องปากและกล่องเสียง ลดลงครึ่งหนึ่ง ลดปัจจัยเสี่ยงเส้นเลือดสมองตีบ
หลังเลิกบุหรี่ 10 ปี อัตราเสี่ยงโรคมะเร็งปอดลดลงครึ่งหนึ่ง ลดอัตราเสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะปัสสาวะ ไต
หลังเลิกบุหรี่ 15 ปี อัตราเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด จะเทียบเท่าคนไม่สูบบุหรี่
หลังเลิกบุหรี่ 20 ปี อัตราเสี่ยงโรคมะเร็งช่องปาก กล่องเสียง ตับอ่อน จะเทียบเท่าคนไม่สูบบุหรี่ อัตราเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกลดลงครึ่งหนึ่ง

ดังนั้น การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่เหมาะสม นำไปสู่การ “เฝ้าระวัง” “การติดตาม” และ ”การรักษา” ได้อย่างทันท่วงที โดยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ (Dual Energy Low Dose Chest CT Scan For Lung Cancer Screening) เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยง อันประกอบด้วย

  1. อายุ 50 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่จัด มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่ หรือรับควันบุหรี่ (ควันบุหรี่มือสอง)
  2. สูบบุหรี่ตั้งแต่ 20 มวนต่อวัน ติดต่อกัน 20 ปีขึ้นไป หรือเทียบเท่า
  3. ยังสูบบุหรี่อยู่ หรือหยุดสูบน้อยกว่า 15 ปี
  4. ผู้ที่มีความเสี่ยงทำงานใกล้ชิดสารเคมี สารกัมมันตรังสี สัมผัสฝุ่นควัน หรือมลพิษทางอากาศเป็นระยะเวลานาน
  5. มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งปอด

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ตระหนักถึงอันตราย และความสูญเสียทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ทำให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขทั่วโลก ได้แสดงบทบาทในการเป็นผู้นำในการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการผิดปกติต่าง ๆ สืบเนื่องจากการสูบบุหรี่ทุกชนิด


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง