‘โรคอ้วน’ ต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันเกาะตับ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง โดยโรคกลุ่มนี้ยังคุกคามความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย
คนไทยป่วยโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคน กระทบเศรษฐกิจ 8.52 แสนล้านบาท!
ปัจจุบัน คนไทยป่วยเป็นโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคน คิดเป็นอันดับสองของเอเชีย จากคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (HDC) พบว่า เป็นโรคอ้วนหรือผู้ที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/ตารางเมตรขึ้นไป มากถึง 45.6% ในปี 2563 และเพิ่มเป็น 46.2% ในปี 2564 และ 46.6% ในปี 2565
โดยงานวิจัย British Medical Journal (BMJ) รายงานว่า หากอุบัติการณ์ของโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จะทำให้มีผลกระทบทางเศรษฐกิจถึง 4.9% ของ GDP หรือประมาณ 8.52 แสนล้านบาท จะหมดกับค่ารักษาทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายทางอ้อม และการสูญเสียผลิตภาพทางเศรษฐกิจ สร้างผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย
ปัญหาคนไทยอ้วนและน้ำหนักเกิน จึงเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อสุขภาพที่ดี เศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสังคมไทยที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนด้วย ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักว่า ‘อ้วน คือโรคที่ต้องรักษา’ เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว แต่กลับมองเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งทุกฝ่ายต้องสร้างความรู้ความเข้าใจถึงภัยอันตรายจากโรคอ้วนที่ก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้มากกว่า 200 โรค
โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างค่า BMI กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น ผู้ที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตรขึ้นไป พบว่าร้อยละ 50 มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม และโรคความดันโลหิตสูง, ร้อยละ 40 พบภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ส่วนโรคอื่น ๆ ที่พบ เช่น โรคกรดไหลย้อน ไขมันพอกตับ โรคเบาหวาน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมทั้งโรคซึมเศร้า อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น และมีปัญหาสุขภาพจิต
ที่มา: Novo Nordisk บริษัทนวัตกรรมเวชภัณฑ์ชั้นนำที่มุ่งมั่นในการคิดค้นนวัตกรรมการรักษาโรคอ้วน