โรคหัวใจ ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น แต่ในเด็กก็มีโอกาสพบได้เช่นกัน ซึ่งโรคหัวใจในเด็กอาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด ดังนั้นผู้ปกครองควรศึกษาและสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หากยิ่งรู้เร็วก็มีโอกาสรักษาหายได้
โรคหัวใจเด็ก มี 2 ประเภท
โรคหัวใจในเด็ก สามารถพบในเด็กได้ทุกช่วงวัย ผู้ป่วยเด็กบางรายมีความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่เริ่มอยู่ในครรภ์มารดาและบางรายตรวจพบได้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งโรคหัวใจในเด็กมีหลายประเภทและมีอาการแตกต่างกัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1.โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมหรือโครโมโซม รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ อาทิ ปัญหาสุขภาพ การติดเชื้อ พฤติกรรมการดูแลตนเอง และการได้รับยาหรือสารเคมี ส่งผลให้โครงสร้างของหัวใจและหลอดเลือดมีความผิดปกติ อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดไม่รุนแรง อาการอาจแสดงออกไม่ชัดเจน แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการที่สังเกตได้คือ ลักษณะผิวหนังหรือกล้ามเนื้อมีสีเขียวคล้ำโดยเฉพาะบริเวณปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปาก และใบหน้า
2.โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง
มีสาเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกัน ได้แก่
- โรคหัวใจรูมาติค เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่พบในเด็กวัยเรียนอายุ 5 – 15 ปี หากเกิดการติดเชื้อจะทำให้คออักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถหายขาดได้ แต่หากหัวใจอักเสบรุนแรง อาจทำให้ลิ้นหัวใจเสียหายถาวร
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จนทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ในผู้ป่วยเด็กบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันได้
- โรคคาวาซากิ เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุผนังหลอดเลือดและต่อมน้ำเหลือง แม้สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากไวรัส แบคทีเรีย รวมไปถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันจนเกิดภาวะผิดปกติ
- โรคหัวใจจากการขาดวิตามินบี 1 (เหน็บชา) เกิดจากภาวะการขาดวิตามินบี 1 ซึ่งอาจทำให้หัวใจเต้นช้าลง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างไฟฟ้าหัวใจตั้งแต่กำเนิด หรืออาจเกิดภายหลังจากภาวะลิ้นหัวใจรั่ว หากปล่อยไว้นานอาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้
สัญญาณเตือนว่าลูกน้อยอาจเป็นโรคหัวใจ
- เหนื่อยหอบง่าย
- หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ
- ดูดนมได้ช้า
- การเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ
- ภาวะตัวเขียว โดยเฉพาะปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปาก
แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีป้องกันโรคหัวใจในเด็ก แต่เราสามารถป้องกันความเสี่ยงและความรุนแรงได้ ด้วยการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ เพื่อดูความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดของทารกในครรภ์ หากตรวจพบเร็วสามารถรักษาได้ อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กที่มีอาการบ่งชี้เสี่ยงโรคหัวใจหลังคลอด ผู้ปกครองควรรีบพามาพบกุมารแพทย์โรคหัวใจ เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมอย่างละเอียดและวางแผนการรักษาต่อไป ทั้งนี้หากปล่อยไว้นาน อาจเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
ขอบคุณที่มาจาก : ผศ.พญ.อิงคนิจ ชลไกรสุวัฒน์ กุมารเวชศาสตร์ ศูนย์หัวใจเด็ก โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล