ผู้สูงวัย เมื่ออายุมากขึ้น สุขภาพร่างกายจะเริ่มเสื่อมมากขึ้นตามไปด้วย หากไม่ดูแลสุขภาพ ก็เสี่ยงเป็นโรคภัยต่างๆ ได้ง่าย โดยส่วนมากแล้วมักจะเกิด 6 โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ดังต่อไปนี้ จะมีวิธีดูแลป้องกันอย่างไรได้บ้าง ไปอ่านคำแนะนำกัน
1.โรคหลอดเลือดสมอง
สาเหตุ: ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลายการทำงานของสมองหยุดชะงัก
อาการ: อาการเบื้องต้น : ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน ชาครึ่งซีก อ่อนแรงและหน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก หรือฟังไม่เข้าใจ เวียนศีรษะ การทรงตัวไม่ดี กลืนลำบาก ปวดศีรษะ (บางครั้งจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง) ซึ่งอาจจะแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกัน
วิธีดูแล:
- ลดการบริโภคอาหารรสเค็มจัด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ คอเลสเตอรอลและไขมันต่ำ อาหารที่มีเส้นใยสูง
- หลีกเลี่ยงดื่มเหล้า แอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
- หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับปกติ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือมีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรรับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง
2.โรคหัวใจขาดเลือด
สาเหตุ: เกิดจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้เลือดที่จะไหลเวียนไปยังหัวใจไม่พอ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรม เช่น การใช้ยาเสพติด ความเครียด และการสูบบุหรี่
อาการ: อาการเจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะขณะออกแรง พักแล้วดีขึ้น โดยจะรู้สึกแน่นๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก หรือค่อนมาทางซ้าย เจ็บลึกๆ หายใจไม่สะดวก อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด บางรายเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ แขน หรือ คอ
วิธีดูแล:
- พบแพทย์เพื่อรักษาและปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ
- เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
- คุมน้ำหนักถ้าเกินมาตราฐานควรลดน้ำหนัก
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดไขมัน ลดเค็ม รับ เน้นอาหารที่มีกากใยเส้นใยสูง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่หักโหมมากเกินไป
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้โรคหัวใจกำเริบ เช่น อย่าทำงานหักโหมเกินไป อย่ารับประทานอาหารอิ่มเกินไป ระวังอย่าให้ท้องผูก งดดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตื่นเต้นตกใจหรือการกระทบกระเทือนทางจิตใจ
3.โรคข้อเข่าเสื่อม
สาเหตุ: เกิดจากความเสื่อมของกระดูกบริเวณข้อต่อซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้มีความเจ็บปวด ข้อต่อผิดรูปเดินได้ไม่ปกติส่งผลต่อชีวิตประจำวัน
อาการ: มีอาการปวดหัวเข่า เช่น เดินขึ้นหรือลงบันได นั่งพับเพียบ นั่งยองๆ แต่อาการจะลดลงหลังจากการพัก, เข่ามีเสียงกรอบแกรบ ขณะเคลื่อนไหวเข่า และจะรู้สึกปวดเข่าร่วมด้วย, เสียวหัวเข่า โดยเฉพาะเวลาเดิน หรือมีการเคลื่อนไว, มีอาการฝืดตึง เข่าติด เคลื่อนไหวลำบากในตอนเช้า, บวม ร้อน กดแล้วเจ็บ, กระดูกบริเวณรอบๆ อาจจะโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน ต้นขาลีบ บิดเบี้ยวผิดรูป ทำให้ขาสั้นลง
วิธีดูแล:
- ใช้ความร้อนประคบรอบเข่า ลดอาการปวด เกร็ง
- บริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- ใช้สนับเข่า เพื่อกระชับ ลดอาการปวด
- ใช้ไม้เท้าช่วยเดิน ช่วยลดแรงที่กระทำต่อข้อ
- หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ไม่หมาะสม เช่น นั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยองๆ
- ลดน้ำหนักในรายที่อ้วนมาก
4.โรคความดันเลือดสูง
สาเหตุ: คนทั่วไปจะมีความดันเลือดไม่เกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท สำหรับผู้ที่มีความดันเลือดสูงมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
อาการ: ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ อาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบๆ เหมือนไมเกรน ในผู้ป่วยที่เป็นมานาน อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ และเมื่อมีอาการมากอาจโคมา และเสียชีวิตได้
วิธีดูแล:
- ควบคุมน้ำหนักร่างกายให้พอดีและหมั่นออกกำลังกาย
- ลดอาหารเค็ม งดรับประทานผงชูรส ป้องกันอาการท้องผูกโดยการรับประทานผักผลไม้ให้มาก ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้หงุดหงิดโมโห ตื่นเต้นและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรบริโภคอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ มีเส้นใยอาหารสูง
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ไม่ควรหยุดยาหรือปรับยาด้วยตนเอง
- หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ ควรบันทึกลงคู่มือไว้ด้วย
- สำหรับผู้ที่รับประทานยาขับปัสสาวะ ควรรับประทานผลไม้ ประเภท ส้ม กล้วย เป็นประจำ
5.โรคอัลไซเมอร์
สาเหตุ: เกิดจากความเสื่อมถอยของโครงสร้างเนื้อเยื่อสมอง มักพบในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมและอาการหลงลืมจนผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
อาการ: อาการสำคัญและสัญญาณเริ่มแรก คือสูญเสียความจำและมีอาการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจไม่รู้ตัวว่ามีปัญหาในการจดจำสิ่งต่าง ๆ
วิธีดูแล:
- ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์
- ไม่รับประทานยาเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา สารเสพติดต่างๆ
- รับข้อมูลข่าวสารโรคต่างๆ อย่างสม่ำเสมอจะช่วยฝึกความจำ
- รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ไม่เกินมาตราฐาน
- พบปะญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง และเข้าร่วมกิจกรรม ต่างๆ เป็นประจำ
- กระตุ้นให้ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย เดินเล่น เคลื่อนไหวเป็นประจำ จะสามารถชะลอความเสื่อมของร่างกายและสมองได้
6.โรคเบาหวาน
สาเหตุ: ภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลินทำงานไม่ปกติ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
อาการ:
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น เหงื่อออก ใจสั่น มือสั่น รู้สึกหิว อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง สับสน หมดสติ ชัก
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ น้ำหนักลด คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง สับสน หมดสติ ชัก
วิธีดูแล:
- ควบคุมอาหาร อย่าปล่อยให้อ้วนไม่รับประทานของหวาน งดสูบบุหรี่ดื่มสุราและของเค็ม
- ควรรับประทานอาหารไขมันต่ำ อาหารที่มีเส้นใยสูง และออกกำลังกายพอควรอย่างต่อเนื่อง
- อย่าเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริง
- พบแพทย์และตรวจเลือดตามนัด รับประทานยาตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัดและสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ดูแลรักษาเท้าให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะเมื่อมีบาดแผลจะทำให้แผลหายช้า
- มีลูกอมติดตัวไว้ เพื่อป้องกันการหมดสติจากน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป หลังรับประทานยาเบาหวาน
- ถ้ามีแผลแล้วหายช้า หรือมีความผิดปกติใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
ขอบคุณข้อมูลจาก
- อ. พญ.อรพิชญา ศรีวรรโณภาส สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
- มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย
- โรงพยาบาลกรุงเทพ