เด็กสมาธิสั้น ยุคปัจจุบันเด็กๆ เป็นกันเยอะมาก เนื่องจากพ่อแม่ส่วนใหญ่ทำงานและอาจไม่มีเวลาในการเลี้ยงลูก จึงพึ่งตัวช่วยให้เด็กๆ เล่นมือถือ หรือพวกอุปกรณ์เทคโนโลยีแกดเจ็ตต่างๆ ส่งผลให้เด็กมีการพัฒนาที่ช้า ในบางรายพัฒนาการปกติแต่สมองส่วนเหตุผลไม่ทำงาน ซึ่งแต่ละรายก็จะมีอาการที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่เคส ทำให้หลายๆ ครอบครัวต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการรักษาลูกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการให้เล่นมือถือกันเดือนละหลักหมื่นเลยทีเดียว จะมีวิธีป้องกันและสังเกตอาการอย่างไรได้บ้าง เพื่อที่จะให้เด็กห่างไกล ลดความเสี่ยง หรือรับการรักษาได้ทัน
เช็คพฤติกรรม เข้าข่ายสมาธิสั้น อาการบ่งบอก ลูกติดมือถือหนัก
หลายๆ บ้านเลี้ยงลูกด้วยมือถือ เปิดให้เด็กๆ ดูการ์ตูน อาจจะเพราะด้วยพ่อแม่ยุคใหม่ต้องทำงานเลยไม่ค่อยมีเวลาเลี้ยงลูก เด็กจะได้หยุดร้องหยุดงอแงง่ายๆ ทั้งนี้หารู้ไม่ว่าการปล่อยให้ลูกเล่นมือถือ และอยู่กับหน้าจอเพียงลำพังนานเกินไปวันละหลายชั่วโมงจะส่งผลกระทบต่อสมองส่วนความจำลดการสื่อประสาทไปยังสมองส่วนหน้า โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบยิ่งต้องระวัง หากทำพฤติกรรมนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะสะสมส่งผลให้เกิดอาการสมาธิสั้นได้
- สมาธิสั้น พฤติกรรมก้าวร้าว วอกแวกง่าย จดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ไม่นาน
- ซนอยู่นิ่งไม่ได้ ซนมากกว่าเด็กวัยเดียวกัน
- ไม่ฟังเมื่อมีคนพูดด้วย
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เบื่อง่าย
- หุนหันพลันแล่น รอคอยนานๆ ไม่ได้
- ชอบพูดโพล่ง พูดจังหวะคนอื่น
- นอนหลับยากขึ้น
- การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์น้อยลง
- ตื่นสาย เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- ระบบภูมิคุ้มกันไม่มีประสิทธิภาพ ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
“ออทิสติกเทียม” อีกหนึ่งโรคฮิตที่เกิดจากเล่นมือถือมากไป
“ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทาง ทำให้เด็กเกิดความผิดปกติทางการสื่อสารกับผู้อื่น สาเหตุมาจากผู้เลี้ยงดูขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เช่น ไม่พูดคุย ไม่เล่นกับลูก เป็นต้น และเลี้ยงด้วยการให้ลูกเล่นอุปกรณ์สื่อสารอย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนมากไป ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบ One – Way Communication หรือการรับสารเพียงทางเดียว จึงส่งผลให้เด็กเกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสังคม
เช็คอาการ “ออทิสติกเทียม”
- 6 เดือน ไม่ยิ้มหรือไม่แสดงอารมณ์สนุกสนาน
- 9 เดือน ไม่มีการส่งเสียง ยิ้ม แสดงสีหน้า โต้ตอบกลับไปมา
- 12 เดือน ไม่หันหาเสียงเรียกชื่อ ไม่เล่นน้ำลาย
- 18 เดือน ไม่มีการเล่นสมมติง่าย ๆ ไม่มีการใช้ภาษาพูดร่วมกับภาษาท่าทาง
***เด็กที่มีอาการเหล่านี้จะรู้แน่ชัดว่าเป็นออทิสติกหรือแค่มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้ชำนาญการด้านพัฒนาการเด็ก
วิธีการรับมือ เด็กสมาธิสั้น เด็กออทิสติกเทียม
- ปรับพฤติกรรมฝึกให้เด็กรู้จัก การรอคอย การอดทน
- คุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนในการใช้เทคโนโลยีของลูก จำกัดเวลาใช้งานไม่เกิน 60 นาทีต่อวัน ควรให้เริ่มใช้เมื่อเด็กอายุ 3 – 4 ปี
- เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ให้คำชม ให้รางวัล
- จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่มีสิ่งกระตุ้นมากเกินไป สถานที่เรียนต้องสงบ ไม่สับสนวุ่นวาย
- คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมอื่นๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากการเล่นมือถือ ทำกิจกรรมกับสิ่งที่ลูกชอบบ่อยๆ สม่ำเสมอ ฝึกฝนการมีวินัยให้เด็ก มีระเบียบกำหนดกิจกรรมอย่างเป็นขั้นตอน แนะนำกิจกรรม เช่น การต่อบล็อก ร้อยเชือก ระบายสี เตะบอล ขี่จักรยาน เป็นต้น
- การรักษาโดยการใช้ยา ช่วยให้เด็กมีสมาธิ ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น
- นอกจากจะปรับพฤติกรรมจำกัดเวลาให้ลูกเล่นมือถือ หากิจกรรมทำกันแล้ว ขณะเดียวกันต้องมอบความรักความอบอุ่น พูดคุยกับลูกด้วยบ่อยๆ
ทั้งนี้หากเด็กมีอาการสมาธิสั้นแล้ว ต้องทำการรักษาปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 10,000 ++ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายทั้งในเรื่องของ ค่ายา, ค่าจิตแพทย์, ค่าพบนักจิตบำบัด ฯลฯ ซึ่งก็แล้วแต่เคสด้วย บางรายนอกจากอาการสมาธิสั้นก็อาจมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : รพ. ศิครินทร์, รพ. กรุงเทพ