คัดลอก URL แล้ว
นอนดึก ตื่นสาย เพื่อชดเชยชั่วโมงนอน ทดแทนได้จริงมั้ย?

นอนดึก ตื่นสาย เพื่อชดเชยชั่วโมงนอน ทดแทนได้จริงมั้ย?

นอนดึก หรือ เข้านอนไม่เป็นเวลา เป็นปัญหาส่วนใหญ่ที่หลายคนต้องพบเจอ ซึ่งอาจจะเกิดจากลักษณะการทำงาน หรือกิจกรรมอื่นๆ เคยสงสัยกัยไหมว่า ถ้าเราจำเป็นจะต้อง นอนดึก แต่ตื่นให้สายหน่อย เพื่อเก็บชั่วโมงการนอนให้ครบ 6-8 ชั่วโมง แบบนี้จะเป็นผลเสียต่อสุขภาพร่างกายเราหรือไม่ แล้วเป็นการนอนที่ทดแทนได้จริงมั้ย? ไปพบคำตอบพร้อมๆ กัน

นอนดึกแล้วตื่นสายไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ

คุณภาพการนอนที่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ชั่วโมงการนอนเพียงอย่างเดียว แต่มันอยู่ที่การหลับที่ลึกมากพอด้วย ดังนั้นการนอนดึกแล้วตื่นสายไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ เพราะถ้าหากร่างกายปรับตัวไม่ทัน ก็อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพเราได้ สังเกตได้เลยว่า คนที่นอนดึกตื่นสาย มักจะตื่นมาพร้อมกับความรู้สึกอ่อนเพลีย เหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม ไม่สดชื่น ทั้งๆ ที่ก็นอนไปหลายชั่วโมง ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับอาการ Jet Lag หรืออาการเมาเมื่อเดินทางไปต่างประเทศแล้วร่างกายยังปรับตัวไม่ได้

การนอนดึกทำให้ฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกายเปลี่ยนแปลง

การที่เรานอนดึกจะทำให้ฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยปกติคนจะรู้สึกง่วง หรืออยากนอนหลับช่วงระยะเวลาประมาณ 4-5 ทุ่ม เพื่อบอกว่าร่างกายหมดชั่วโมงการทำงานแล้ว หากเรายังฝืน ไม่ยอมนอน ร่างกายก็จะดึงฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดออกมาใช้ เพื่อกระตุ้นร่างกายให้รู้สึกตื่น และโดยธรรมชาติฮอร์โมนชนิดนี้จะออกฤทธิ์อยู่ที่ 2-4 ชั่วโมง ทำให้เราไม่ต้องนอนไปอีกสักระยะ เวลาก็จะถูกยืดออกไปอีก แล้วถ้าหากคุณยังขอต่อเวลามากขึ้นไปอีก กว่าจะรู้สึกง่วงก็เช้าวันใหม่พอดี เมื่อเป็นแบบนี้บ่อยๆ ร่างกายก็จะรู้สึกเพลีย บางคนถึงกับน็อคไปเลยก็มี เพราะร่างกายเริ่มควบคุมตัวเองไม่ได้แล้ว

แท้จริงแล้ว ฮอร์โมนคอร์ติซอล เป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย และมีความสำคัญต่อชีวิต หากขาดไปก็จะส่งผลอย่างมากต่อเซลล์ของร่างกาย และถ้าหากถูกดึงมาใช้มากเกินไป ก็จะเป็นผลเสียต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิคุ้มกันที่แย่ลง ผิวพรรณไม่สดใส กระตุ้นให้เราโหยหิวและต้องการอาหารที่มีพลังงานสูงขึ้น เพื่อเก็บสะสมไขมันไว้ใช้เป็นพลังงาน แล้วดึงออกมาใช้เมื่อถึงเวลาจำเป็น ซึ่งนี่ก็เป็นกลไกของร่างกายที่จะชดเชยพลังงานที่คุณสูญเสียไปกับความเครียด เพราะฉะนั้นสังเกตได้เลยว่าคนที่นอนดึก มักจะหิวบ่อย หรือหิวในเวลากลางคืน ซึ่งนั่นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณอ้วนง่ายมากขึ้นอีกเช่นกัน

สรุปแล้ว การนอน 6-8 ชั่วโมงก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ควรเข้านอนให้เป็นเวลาด้วย ไม่ใช่นอนดึกแล้วมาชดเชยชั่วโมงนอนด้วยการตื่นสาย นอกจากจะไม่ได้รู้สึกสดชื่นมากขึ้น ยังจะเป็นการทำร้ายร่างกายทางอ้อมอีกด้วย เพราะฉะนั้นมาฝึกวินัยในการเข้านอนให้เป็นนิสัยกันเถอะ เพื่อสุขภาพที่ดีของเราเอง

ที่มา : นพ. สมิทธิ์ อารยะสกุล โรงพยาบาลสมิติเวช www.samitivejhospitals.com


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง