‘อาการไอของลูก’ คือความกังวลของคนเป็นพ่อแม่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงจนร่างกายของลูกน้อยมิอาจรับมือได้ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงอยู่ ฉะนั้น ผู้ปกครองจึงต้องใส่ใจดูแลเด็ก ๆ ให้มากเป็นพิเศษ
บทความให้ความรู้โดย พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายเกี่ยวกับ โรคติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจในเด็ก (RSV) พร้อมรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นให้ทุกท่านได้ทำความรู้จักและเข้าใจโรคให้มากขึ้น รวมทั้งสามารถนำมาพิจารณาถึง ความแตกต่างระหว่าง RSV กับไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดธรรมดา ที่คุณหมอได้เปรียบให้เห็นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อผู้ปกครองจะได้นำไปสังเกตอาการและรับทราบแนวทางป้องกันรักษาได้อย่างทันท่วงที
ความแตกต่างระหว่าง RSV กับไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดธรรมดา
RSV (Respiratory Syncytial Virus) เชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจในเด็ก
เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อที่ติดต่อสู่กันได้ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กสู่เด็กด้วยกัน สามารถติดต่อกันผ่านสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย ผ่านการไอ จาม และสัมผัสกันโดยตรง
อาการ
• อาการเริ่มแรกเหมือนไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล และจะหายได้ภายใน 5-7 วัน
• แต่อาการมีได้หลากหลายและมีความรุนแรงที่ต่างกัน เด็กบางคนมีอาการมากกว่าไข้หวัด คือ
- คออักเสบ จะมีอาการเจ็บคอ ไอมีเสมหะ
- กล่องเสียงอักเสบ จะมีอาการเสียงแหบ ไอเสียงก้อง
- หลอดลม/หลอดลมฝอยอักเสบ/ปอดบวม ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วย ไอมากจนอาเจียน อาจมีหายใจเร็ว แรง หายใจลำบาก หรือหายใจแบบมีเสียงวี๊ด (wheezing) ได้ในรายที่มีอาการหนัก
การรักษา
• การรักษาอาการทั่วไป ให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ ให้ออกซิเจน ช่วยดูดระบายเสมหะ
• การรักษาแบบเฉพาะที่ พ่นยาขยายหลอดลม พ่นน้ำเกลือเข้มข้นชนิดพิเศษ เพื่อลดภาวะหลอดลมเกร็ง หายใจมีเสียงวี๊ด
• การใช้ยา Montelukast มีส่วนช่วยในการลดความรุนแรงในช่วงแรกของการหายใจหอบเหนื่อยแบบมีเสียงวี๊ด และให้ใช้ยาต่อเนื่องเพื่อลดการกลับเป็นซ้ำ
การป้องกัน
• ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ดังนั้นจึงเน้นการป้องกันโดยการเพิ่มภูมิต้านทานธรรมชาติ โดยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
• หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด
• ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง และล้างมือบ่อยๆ
ไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดา
ไข้หวัดใหญ่ต่างกับไข้หวัดธรรมดาอย่างไร? อาการะยะเริ่มคล้ายกันมาก แต่ไข้หวัดใหญ่นั้นอาการรุนแรงกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยมีไข้สูง (39-40 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ ไอมาก อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งอาจจะป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ ไข้หวัดใหญ่ยังติดต่อกันได้ง่ายมาก จากการหายใจเอาเชื้อที่กระจายอยู่ในละอองฝอยจากการไอ จาม หรือการอยู่ใกล้ชิด สัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนกับผู้ป่วย และนำเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำคัญอย่างไร
• ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและการเสียชีวิต สำหรับบุคคลกลุ่มเสี่ยง
• ลดอัตราการลาป่วยและการเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาล
• ลดอัตราการขาดงาน ขาดโรงเรียน หรือรบกวนแผนการเดินทาง
• ลดการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ต่อสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือผู้ร่วมงานต่างๆ
โรคระบบทางเดินหายใจที่มีอาการใกล้เคียงกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา โรงพยาบาลนวเวช www.navavej.com