ภูมิแพ้ โรคยอดฮิตที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารกระตุ้นที่ในภาวะปกติแล้วจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายพร้อมกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่ภาวะช็อกและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน เกิดจากอะไร
พญ.ลินน่า งามตระกูลพานิช แพทย์ด้านภูมิแพ้และหอบหืด ศูนย์ภูมิแพ้และหอบหืด รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) คือ อาการภูมิแพ้ที่มีปฏิกิริยารุนแรงอย่างเฉียบพลัน เมื่อร่างกายได้รับสารกระตุ้นบางอย่าง เช่น อาหาร หรือยาบางชนิด แมลงกัดต่อย หรือสารอื่นๆ เนื่องจากระบบภูมิต้านทานของบุคคลนั้น ไวต่อสารกระตุ้นดังกล่าวมากกว่าคนปกติ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายพร้อมกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่ภาวะช็อก อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้แบบ Anaphylaxis ที่พบได้ อาทิ การแพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว อาหารทะเล แพ้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแอสไพริน ยาแก้ปวด แพ้แมลงสัตว์กัดต่อย หรือแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยางของพืช เช่น ถุงมือยาง ลูกโป่ง เป็นต้น
โดยทั่วไป ร่างกายจะมีกลไกป้องกันสิ่งแปลกปลอมด้วยการสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibody) เพื่อช่วยกำจัดสารต่างๆ ที่คาดว่าเป็นอันตราย จากนั้นเนื้อเยื่อตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจะตอบสนองด้วยการหลั่งสารฮิสตามีนและสารเคมีตัวอื่นทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้หรืออาการแพ้ตามมา แต่ระบบภูมิคุ้มกันในบางคนนั้น มีความไวต่อสารเหล่านี้มากกว่าคนอื่น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลันแบบ Anaphylaxis ได้ เนื่องสภาพร่างกายของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ทำให้มีอาการแพ้สิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกันไป
อาการที่บ่งบอกว่าเป็นภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน
ได้แก่ 1.เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ มีอาการคัน ผิวหนังแดงหรือซีด 2.มีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย 3.ความดันโลหิตลดต่ำลง 4.ลิ้น ปาก หรือคอบวม หายใจติดขัดและอาจมีเสียงดังหวีดๆ รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในลำคอ กลืนลำบาก 5.แน่นหน้าอก ใจสั่น 6.ชีพจรอ่อน หัวใจเต้นเร็ว 7.ไอ จาม น้ำมูกไหล โดยการแพ้แบบ Anaphylaxis ในเด็กมักมีสาเหตุมาจากการแพ้อาหารเป็นหลัก ส่วนในผู้ใหญ่มักเกิดจากการแพ้ยารวมถึงสาเหตุอื่นๆ
วิธีการรักษา
การรักษาหลักๆ ยังคงเป็นการใช้ยา Epinephrine ซึ่งปกติจะใช้วิธีฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อต้นขา ร่วมกับประเมินอาการของผู้ป่วยตามหลัก ABC ส่วนวิธีรักษาอื่นๆ ขึ้นอยู่กับอาการแพ้และการตอบสนองของผู้ป่วย กรณีที่เคยมีอาการแพ้ในระดับที่ไม่รุนแรงมาก่อน ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ ผู้ที่มีประวัติแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองจากสารนั้นๆ เพื่อไม่ให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น ผู้ที่แพ้อาหารควรอ่านฉลากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์หรือสอบถามคนขายก่อนซื้อมารับประทานเสมอ ส่วนผู้ที่เสี่ยงมีอาการแพ้ หรือต้องการทราบความเสี่ยงในการแพ้สารใดๆ อาจป้องกันได้โดยเข้ารับการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ข้อมูลจาก : ศูนย์ภูมิแพ้เเละหอบหืด รพ.กรุงเทพ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-310-3000 02-3103221 หรือ Call Center โทร.1719