เมื่อต้องสูญเสียคนที่รักไป ความเศร้าโศกเสียใจย่อมต้องเกิดขึ้น แต่คนที่ยังอยู่จะมีวิธีรับมืออย่างไรให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ในบทความนี้มีวิธีรับมือจาก 5 ทฤษฎีการปรับตัวเมื่อเกิดความสูญเสีย (The 5 Stages of Grieving) มาแนะนำ
ทฤษฎีการปรับตัวเมื่อเกิดความสูญเสีย – จิตวิทยาของความคิดถึง เมื่อคนรักจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
จิตใจของเราจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น 5 แบบ เมื่อต้องสูญเสียคนที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ ได้แก่
ระยะที่ 1 ‘ตกใจและไม่เชื่อ’
เมื่อจิตใจเรารู้ว่าคนที่รักจากไป ในระยะแรก ๆ จะเกิดความรู้สึก ‘ตกใจ’ และ ‘ไม่เชื่อ’ อาจจะมีความรู้สึกงงๆ มึนๆ อาการนี้สามารถเกิดขึ้นภายในเวลาเป็นชั่วโมงหรือหลายวัน
ระยะที่ 2 ‘โกรธแค้นและรู้สึกผิด’
‘ความโกรธ’ เป็นอีกหนึ่งอารมณ์ที่จะเกิดขึ้น จะรู้สึก ‘โกรธว่าทำไมต้องเป็นฉัน’ ‘รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเลย’ โกรธไปหมดทั้ง โกรธตัวเอง หมอ ครอบครัว เพื่อน โกรธคนที่เรารัก โกรธหลาย ๆ อย่าง รวมทั้งมี ‘ความรู้สึกผิด’ ในใจ จะย้อนกลับไปคืดเรื่องต่าง ๆ คิดว่า ‘ผิดที่ฉันยังไม่ได้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้’ ‘ผิดที่ฉันยังไม่ได้พูดอะไรกับคนที่เพิ่งตายไป’ ‘ฉันน่าจะช่วยไม่ให้เขาตาย’ (ถึงแม้จะรู้ทั้งรู้ว่าที่จริงแล้วความตายอยู่นอกเหนือการควบคุม) ระยะนี้จะรู้สึกประมาณ 2 สัปดาห์
ระยะที่ 3 ‘ต่อรอง’
มีปฏิกิริยา ‘ต่อรอง’ คุณอยากจะขอเลื่อนเวลาออกไปเพื่อที่จะปรับปรุงวิถีชีวิตใหม่ เพราะรู้สึกว่าถ้ามีเวลาอีกหน่อยคุณจะทำมันได้ดีกว่านี้ คุณจะคิดว่า ‘ฉันจะยอมทำทุกอย่างขอเพียงพรุ่งนี้ตื่นมาพบว่านี่เป็นแค่ฝันร้าย’ ‘ฉันสัญญาว่าจะปรับปรุงตัวแต่ได้โปรดให้เขามีชีวิตอยู่ต่ออีกสักระยะหนึ่ง’ ‘ถ้าเพียงวันนั้นฉันทำอย่างนั้น’ ความคิดนี้จะวนเวียนเข้ามาในหัวคุณ
ระยะที่ 4 ‘ซึมเศร้า’
เป็นระยะที่จิตใจซึมเศร้า ไม่มีเรี่ยวแรง มีอาการแยกตนเอง พูดน้อยลง มองโลกในแง่ลบ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ (หลายคน) อาจจะคิดอยากตาย จิตใจว่างเปล่า รู้สึกกระสับกระส่าย คิดถึงและถวิลหาผู้ที่จากไป อยากพบแม้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้ฟุ้งซ่าน ฝันร้าย บางคนรู้สึกว่าเขาพบคนที่เขารักและตายไปแล้วทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นถนน สวน รอบบ้าน ทุกที่ที่เขาเคยอยู่ด้วยกัน ระยะนี้อาจกินเวลานานประมาณ 4-6 สัปดาห์ หลายคนอาจปล่อยเวลาไปกับการนั่งนอนเฉยๆ ไม่ทำอะไร ที่จริงแล้วเขากำลังคิดถึงผู้ที่จากไป ความคิดถึงนี้จะมีทั้งภาพความสุขและภาพในด้านลบ ปรากฏการณ์นี้ดำเนินไปอย่างเงียบ ๆ แต่เป็นส่วนที่จำเป็นในการทำใจ
ระยะที่ 5 ‘การยอมรับ’
ระยะนี้ถึงจุดที่เราสามารถยอมรับความเป็นจริงได้ และพร้อมที่จะเผชิญกับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ก็อาจจะรู้สึกสุขบ้างทุกข์บ้าง แต่จะสามารถวางใจให้เป็นกลางได้มากขึ้น มองอนาคตได้มากขึ้น สามารถอยู่กับความว่างเปล่าได้อย่างไม่ทุรนทุราย นั่นคือ ภาพรวมของผู้ที่สามารถก้าวผ่านวิกฤตของความสูญเสีย
ทั้ง 5 ระยะอาจเกิดแบบไม่มีลำดับ ระยะไหนเกิดก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นครบทุกขั้นตอน แต่ต้องลงท้ายด้วยการยอมรับได้เสมอ
คำแนะนำ สิ่งที่ต้องทำ เมื่อต้องพบการสูญเสีย การจากลา
พยายามประคองสติไว้ให้ดีที่สุด
สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกสุด คือ การพยายามประคองสติไว้ให้ดีที่สุด พยายามอยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันให้ได้ หากพบว่าตนเองเริ่มจะไม่ไหว การได้ระบายออกทางจิตใจไม่ว่าทางใดทางนึงจะทำให้เราคลายความทุกข์ใจไป
จำไว้ว่าการร้องไห้เป็นเรื่องปกติ
การร้องไห้เป็นเรื่องปกติ และเราสามารถเสียใจได้อย่างเต็มที่ หากมีเพื่อนหรือผู้ที่ไว้ใจก็สามารถพูดระบายความรุ้สึกได้ หรือจะใช้วิธีเขียนบันทึกเพื่อระบายความในใจก็ได้เช่นกัน
ไม่ควรอยู่คนเดียวให้มากนัก
ที่สำคัญคือ ไม่ควรอยู่คนเดียวให้มากนัก พยายามใช้เวลาอยู่กับเพื่อน หรือทำตัวให้ยุ่ง ๆ ไว้ก่อนในช่วงนี้ หากิจกรรมทำ เช่น เข้าวัด ฟังธรรม หรือการทำบุญใส่บาตร
ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบที่จะลืม
เพราะโดยธรรมชาติของกลไกการเยียวยาทางจิต เมื่อเวลาผ่านไปความเจ็บปวดจะค่อย ๆ จางลงได้เอง เราจะเริ่มคิดถึงสิ่งอื่น ๆ คิดถึงอนาคต อาจสามารถสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ หรือสนใจสิ่งใหม่ ๆ ได้มากขึ้น แต่ความรู้สึกสูญเสียและความคิดถึงจะยังคงอยู่
ใช้วิธีคิดบวก
หนึ่งในวิธีการคิดที่จะช่วยให้จิตใจของอยู่ได้ โดยไม่เป็นทุกข์มากจนเกินไป คือการใช้วิธีการคิดบวก เช่น คิดว่าเขาไปดีแล้ว, เขาไปในที่ๆ สบายกว่าเรา ไม่ต้องเจ็บปวดไม่ต้องทรมานอีกต่อไป, คิดว่าเขาหลับสบายแล้ว หมดห่วงหมดกังวลแล้ว, คิดว่าเขาไปอยู่บนสวรรค์แล้ว หรือคิดว่าส่วนดีของเขาก็ยังคงอยู่ในใจเรา
ขอบคุณ : นพ.เจษฎา ทองเถาว์ แพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์