คัดลอก URL แล้ว

MMPA เตรียมจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำมันรถที่สกัดจากนมวัวในปี 2025

หนึ่งในนวัตกรรมน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่น่าจับตามองไม่แพ้กันเมื่อทางสมาคมผู้ผลิตนมมิชิแกน (The Michigan Milk Producers Association หรือ MMPA) เตรียมผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง Biofuels ที่สกัดจากนมวัว ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมนมวัว และอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง

โดยทาง MMPA ได้ร่วมกับ Dairy Distiller ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตวอดก้าจากนมวัวภายใต้เครื่องหมายการค้า Vodkow ที่ตั้งอยู่ในออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ได้ร่วมกันพัฒนา Biofuels โดยใช้เทคโนโลยีในการสกัดนมวัวสดให้เป็นเอทานอลด้วยกระบวนการกรองพิเศษที่เรียกว่าการซึมผ่านของนม วัสดุนี้เต็มไปด้วยแลคโตสซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับน้ำตาลในรูปแบบอื่น ๆ สามารถป้อนยีสต์เพื่อทำเอทานอลได้ และจะนำเอทานอลไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิง นั่นหมายความว่าจากเดิมที่กระบวนการนี้เคยใช้ในการผลิตวอดก้า ก็ได้ยกระดับสู่การผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์

ทว่านวัตกรรมดังกล่าวนั้นเป็นกระบวนการการผลิตที่ถูกปัดฝุ่นจากยุคปี 70 ซึ่งเป็นช่วงนี่น้ำมันดิบขาดแคลน จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอล และน้ำมันเชื้อเพลิงจากผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะเอทานอลจากนมวัว จนกระทั่งสถานการณ์น้ำมันดิบกลับมาเป็นปกติ นวัตกรรมดังกล่าวจึงไม่ถูกสานต่อ ซึ่งการนำนวัตกรรมเอทานอลจากนมวัวกลับมาครั้งนี้จึงเป็นการช่วยต่ออายุให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงสามารถดำเนินต่อได้ภายใต้มาตรการด้านมลพิษที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มใช้งานอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น

ทางกลุ่มบริษัทฯ มีแผนจัดตั้งโรงงานผลิต Biofuels มูลค่าลงทุนกว่า 41 ล้านดอลลาร์ โดยได้รับเงินสนับสนุน 2.5 ล้านดอลลาร์จาก Michigan Strategic Fund พร้อมวางแผนจะเปิดในต้นปี 2025 เป็นต้นไป

โรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ถัดจากที่ตั้งของ MMPA ที่มีอยู่ในเมืองคอนสแตนติน รัฐมิชิแกน ซึ่งมีการผลิตน้ำนมที่ผ่านการสกัดแยกโปรตีน และไขมันออกมากถึง 14,000 ตันต่อปี โรงงานแห่งนี้จะสามารถแปรรูปวัตถุดิบที่อุดมด้วยแลคโตสเป็นเอทานอลได้ 2.2 ล้านแกลลอนต่อปี ทั้งนี้ตัวเอทานอลดังกล่าวจะถูกนำไปผสมเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่ง ซึ่งเพียงพอที่จะชดเชยการปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 14,500 ตันต่อปี

MMPA ระบุว่าเชื้อเพลิงนมนี้ถูกกำหนดให้เป็นเอทานอลที่มีความเข้มข้นของคาร์บอนต่ำที่สุดที่มีอยู่ และตั้งเป้าว่าจะช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนของอุตสาหกรรมผลิตนมวัวเมืองคอนสแตนตินได้มากถึง 5%

แม้ว่าในอุตสาหกรรมผลิตนมวัว หรือแม้แต่ปศุสัตว์ จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนสูง American Dairy Association รายงานว่าอุตสาหกรรมนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของสหรัฐฯ หรือร้อยละ 20 ของการปล่อยก๊าซในภาคเกษตรกรรม ซึ่งโครงการการร่วมมือกันของผู้ผลิตนมวัวที่ต้องการสนับสนุนในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปริมาณขยะในอุตสาหกรรมดังกล่าว

เครดิตข้อมูลจาก mimilk.com และ roadandtrack.com


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง