คัดลอก URL แล้ว

Toyota Uno ประสบความสำเร็จการทดสอบรถพ่วงไฮโดรเจนฟิวเซล

Toyota Motor ประกาศความสำเร็จการทดสอบจริงของ Toyota Uno รถบรรทุกหัวลากขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนฟิวเซลใช้งานขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และสินค้าภายในท่าเรือ และพื้นที่ปิด พร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีโลจิสติกส์บนที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ด้วยการตั้งเป้าเป็นซัพพลายเออร์ระดับ Tier 1 ของผู้ผลิตนวัตกรรมไฮโดรเจนฟิวเซล

หลังจากทางโตโยต้า ได้พัฒนารถบรรทุกหัวลากไฮโดรเจนฟิวเซลโดยร่วมมือกับ Fenix Marine Services ในการนำร่องใช้งานขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ภายในท่าเรือลอสแองเจลิสเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2019 และโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จในปี 2022 ที่ผ่านมา

โดยหลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบในฐานะการพิสูจน์ประสิทธิภาพการใช้งานแบบจำกัดพื้นที่แล้ว บางส่วนก็จะประจำการในท่าเรือลอสแองเจลิสตามปกติ และบางส่วนถูกย้ายไปที่ศูนย์กระจายชิ้นส่วนลอสแองเจลิส (Toyota LAPDC) ของผู้ผลิตรถยนต์ในเมืองทอร์รันซ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อทำหน้าที่การขนส่งสินค้าประเภทต่าง ๆ

Ian Medina หัวหน้าฝ่ายลอจิสติกส์ของ LAPDC กล่าวว่า “Toyota LAPDC รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้นำร่องรถบรรทุกไฮโดรเจนฟิวเซล UTR สำหรับโรงงานของเรา เมื่อเปรียบเทียบกับรถหัวลากดีเซลคลาส 8 แล้ว Uno นำเสนอรถบรรทุกที่เชื่อถือได้ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และบังคับทิศทางได้ง่าย ซึ่งช่วยลดการปล่อยมลพิษในภาคขนส่ง”

“จากผลตอบรับเชิงบวกที่ Uno มอบให้กับ LAPDC เราหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยปูทางไปสู่โอกาสในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ท่าเรือได้มากขึ้น”

เป้าหมายการลดปริมาณคาร์บอนภายในท่าเรือที่ใหญ่ในอเมริกา

Toyota Uno จัดเป็นรถแทรกเตอร์หัวลากอเนกประสงค์ Utility Tractor Rig (UTC) ซึ่งถูกใช้งานขนส่งตู้ ที่สามารถรองรับการพ่วงตู้คอนเทนเนอร์ และพ่วงขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมากถึง 120,000 ปอนด์ หรือ 54,000 กก. ขึ้นไป หัวใจสำคัญคือขุมพลังไฮโดรเจนฟิวเซลจาก Toyota Mirai ที่ได้รับการปรับปรุงให้รองรับการใช้งานบรรทุกรถพ่วงที่มีน้ำหนักมากโดยเฉพาะ

ขณะเดียวกันท่าเรือลอสแองเจลิสเป็นหนึ่งในท่าเรือที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา และเป็นท่าเรือลำดับต้น ๆ ที่ได้นำร่องโครงการขนส่งสินค้าจากเรือสู่พื้นที่โกดัง และการกระจายสินค้าที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์กับพันธมิตรต่าง ๆ มากถึง 16 โครงการ และมีรถ UTC พลังงานสะอาด และพลังงานไฟฟ้าหลายร้อยคันที่ได้ร่วมโครงการเหล่านี้ อันเป็นสนามทดสอบการใช้งานจริงในสภาวะต่าง ๆ ตลอดอายุการใช้งาน โดยตั้งเป้าบรรลุการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์สำหรับท่าเรือภายในปี 2035

จากเดิม การใช้งานรถบรรทุก UTC จะใช้รถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซลที่มีกำลังมหาศาล แต่ด้วยรถบรรทุกประมาณ 12,000 คัน ที่ปฏิบัติงานในท่าเรือลอสแองเจลิส ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมาก ในความเป็นจริง อุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือลอสแองเจลิส รวมถึงรถบรรทุกสนาม ได้รับรายงานว่าผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 185,000 เมตริกตันในปี 2021 ตามบัญชีรายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของท่าเรือ

ตั้งเป้าสู่ซัพพลายเออร์ไฮโดรเจนฟิวเซลระดับ Tier 1 ของโตโยต้า

โตโยต้ากล่าวว่าในอนาคตสามารถทำหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์ระดับ Tier 1 ของระบบส่งกำลังไฮโดรเจนฟิวเซลให้กับผู้ผลิตรายอื่น สิ่งนี้จะเห็นว่าบริษัทผลิต Fuel cell stacks ,ถังไฮโดรเจน, ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ที่จำเป็นอื่น ๆ ในขณะที่ตัวถังรถยนต์เพื่อการพาณิชย์จะได้รับการออกแบบ และพัฒนาโดยบริษัทอื่น ๆ

ขณะเดียวกันทีมพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงของโตโยต้า (FCD) กำลังพัฒนาระบบส่งกำลัง Fuel cell electric รุ่นใหม่สำหรับ UTR ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีประสิทธิภาพที่เทียบเคียง หรือเหนือกว่ารถบรรทุก-รถพ่วงที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบัน จนสามารถใช้งานแทนที่ได้ในที่สุด ซึ่งภายในปีนี้ โตโยต้าจะเริ่มผลิตชุดไฮโดรเจนฟิวเซลสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้งานหนักบนถนนจอร์จทาวน์ รัฐเคนตักกี้

“ผลลัพธ์ของการปรับปรุงเหล่านี้จะทำให้ UTR ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนเป็นเวอร์ชันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือในบางกรณีอาจเกินกว่านั้น ซึ่งในอนาคตระบบส่งกำลังที่ปล่อยคาร์บอนปริมาณสูงจะถูกแทนที่ในที่สุด” Dallas Fox วิศวกรของ Toyota Dallas กล่าวถึงทิศทางในอนาคต

เครดิตข้อมูลจาก toyota.com


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง