คัดลอก URL แล้ว

ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2566 ตลาดรถ EV ในไทยอาจพุ่งทะยานเพิ่มขึ้น 300%!

สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จัดงานกิจกรรมสัมนาทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2566 เผยถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ในช่วงปี 2565 ที่ฟื้นตัวหลังวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด – 19 ผลกระทบการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มดีขึ้น และการฟื้นตัวของเศรฐกิจ ส่งออกดีขึ้น ซึ่งในประเทศไทยยังคงติด Top 10 การผลิตรถยนต์ของโลกในปี 2565 ด้วยยอดผลิตรวมสูงสุด 1.88 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 12% จากปีที่ผ่านมา

พร้อมคาดการณ์ในปี 2566 ยอดการผลิตทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์จะเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังคงต้องเผชิญความท้าทายในด้านการรับมือกับตลาดรถ EV ที่คาดว่าอาจมียอดจดทะเบียนพุ่งทะลุ 300% ในปี 2566 และความไม่แน่นอนทางการเมือง

สถิติการผลิตยานยนต์ในประเทศไทยตลอดปี 2565

ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยภายในปี 2565 ที่ผ่านมา มีจำนวนรวมสูงถึง 1.88 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 11.73% จากปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งทำได้เพียง 1.69 ล้านคัน โดยแบ่งเป็นผลิตเพื่อจัดจำหน่ายภายในประเทศ 8.50 แสนคัน (เพิ่มขึ้น 11%) และผลิตเพื่อการส่งออก 1.04 ล้านคัน (เพิ่มขึ้น 5.13%)

ขณะที่ยอดการผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยภายในปี 2565 ที่ผ่านมา มียอดผลิตสูงถึง 2.02 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 13.21% จากปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งทำได้เพียง 1.78 ล้านคัน ขณะที่ยอดผลิตเพื่อส่งออกได้เพียง 0.424 ล้านคัน เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มียอดส่งออกสูงถึง 0.437 ล้านคัน (ลดลง 3.01%)

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศภายในปี 2565 ทำได้รวมสูงสุดถึง 849,388 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 11.9%

ทั้งหมดนี้้เป็นไปตามที่สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้คาดการณ์ไว้ จากปัจจัยเชิงบวกที่เพิ่มขึ้น เช่น ประชาชนได้รับวัคซีนทั่วถึง ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เต็มที่, การผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 พร้อมการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว การเปิดประเทศ รวมถึงภาคเกษตรที่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ทางสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ได้คาดการณ์ยอดการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยภายในปี 2566 นั้น ด้านอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์จะสามารถผลิตรถยนต์ได้มากถึง 1.95 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 3.5% โดยแบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 9 แสนคัน และส่งออกจำนวน 1.05 ล้านคัน

ขณะที่อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ คาดการณ์ไว้ที่ 2.10 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 4.2% โดยแบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1.75 ล้านคัน และส่งออกจำนวน 3.5 แสนนคัน

ตลาดยานยนต์ EV ร้อนแรง คาด ยอดจดทะเบียนอาจพุ่งทะลุ 300% ในปี 2566

ประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ทางภาครัฐได้ประกาศนโยบายมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Package EV3) โดยมาพร้อมสิทธิประโยชน์ที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในทุกภาคส่วน รวมถึงการส่งเสริมศูนย์กลางฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

ส่งผลให้มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าทั้งจากจีน ยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย กระหน่ำเปิดตัว และเดินหน้าจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มกำลัง ซึ่งตลอดปี 2565 – 2566 มีรถยนต์ไฟฟ้าที่เปิดตัวในไทยรวมทุกค่ายมากถึง 20 รุ่น และจะยังคงเปิดตัวรุ่นใหม่เรื่อย ๆ ในอนาคต

ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 9,584 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ทำได้เพียง 1,943 คัน หรือเพิ่มขึ้น 393%

ขณะที่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนได้ ก็มียอดจดทะเบียนสูงถึง 9,912 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ทำได้เพียง 3,769 คัน หรือเพิ่มขึ้น 163%

แม้ว่าเมื่อเทียบกับยอดจดทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ทุกประเภทตลอดปี 2565 จะยังคงมีเพียงแค่ 1% ก็ตาม

ส่วนรถโดยสารไฟฟ้ามียอดจดทะเบียนในปี 2565 สูงถึง 976 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ทำได้เพียง 119 คัน หรือ 720% และรถบรรทุกไฟฟ้าที่มียอดจดทะเบียนปีที่แล้วเพียง 2 คันในปี 2564 เป็น 24 คันในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 1,100%

ด้านสถานีชาร์จ หรือสถานีอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้า มีการเติบโตมากกว่า 79% ในช่วงเวลาแค่ 1 ปีจากข้อมูลสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าเปิดเผยว่า จำนวนหัวชาร์จอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่กันยายน 2021 จนถึงธันวาคม 2022 แบบ AC Charger เพิ่มขึ้นจาก 1,511 เป็น 2,404 หัวชาร์จ ส่วนแบบ DC Charger เพิ่มขึ้นจาก 774 เป็น 1,342

ด้วยสถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มดีขึ้น การผลิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่เดินหน้าเต็มกำลัง จนบางค่ายรถสามารถเปิดโควต้าสั่งจองได้อีกครั้ง ความชัดเจนของนโยบายมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และราคาที่น่าดึงดูด อีกทั้งการเปิดตัวรถยนต์ EV ที่มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ได้ทุกไลฟ์สไตล์ ส่งผลให้คาดการณ์กันว่าตลอดปี 2566 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนกว่า 35,000 – 40,000 คัน (หรือเพิ่มขึ้น 300% เมื่อปีที่ผ่านมา)

สถานการณ์ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ที่ต้องจับตา

ในปี 2566 สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อ, นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ, การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก, ราคาพลังงานที่มีการปรับตัวตามสถานการณ์พลังงานโลก ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวอยู่ แม้ภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มปรับไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เริ่มฟื้นตัวแล้วก็ตาม

สำหรับในประเทศไทยนั้น ในปี 2566 เป็นปีที่จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองอันเนื่องมาจากการเลือกตั้ง สส. และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังจากประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา และกำหนดวันเลือกตั้ง สส. ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ และคาดการณ์ว่ากกต. จะรับรองผลการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม และจัดตั้ง ครม. ชุดใหม่ในเดือนสิงหาคมตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลต่อความต่อเนื่องของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน

ด้านราคาพลังงานภายในประเทศ แม้จะมีการปรับตัวลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามราคาต้นทุนการผลิตที่ลดลง แต่ทางรัฐบาลยังต้องแบกรับภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบมากถึง 50,609 ล้านบาท และก๊าซ LPG ที่ติดลบ 46,596 ล้านบาท โดยคาดว่าอาจจะมีการปรับราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นภายในปี 2566 ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ยังคงกำหนดค่า Ft สำหรับครัวเรือนยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ แต่มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น


ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทุกภาคส่วนเริ่มมียอดการผลิต และจัดจำหน่ายที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ภาวะสงคราม พลังงาน และเศรษฐกิจ จะยังส่งผลต่อการชะลอทั้งการผลิต การขนส่ง และซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์อยู่บ้าง แต่คาดว่าในปี 2566 อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ – รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกที่ยังมีอนาคตที่สดใส

ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยนั้น หลังจากภาครัฐได้เปิดประตูอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ยอดจดทะเบียนก็พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว สิ่งที่ควรจับตาภายในปี 2566 – 2567 มากที่สุดก็คือการขยายสถานีอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น, การบริการดูแลลูกค้ายานยนต์ไฟฟ้าจากศูนย์บริการจากค่ายรถที่มีประสิทธิภาพ ดูแลได้ทั่วถึง, การเติบโตของธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์ไฟฟ้าเอกชนที่ต้องมาพร้อมกับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การจัดการแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งจากโรงงานไฟฟ้า และแหล่งพลังงานหมุนเวียน,  การเตรียมความพร้อมของบุคลากรกู้ภัย และหน่วยดับเพลิงในการรับมืออุบัติเหตุจากรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด การจับตาราคาแร่ลิเทียม และราคาแร่โลหะหายากที่เกี่ยวข้อง ที่จะส่งผลต่อราคาของรถ และชิ้นส่วนอะไหล่สำคัญที่สูงขึ้น

ทั้งหมดนี้จะช่วยดูแลกลุ่มผู้ใช้งาน และผู้ที่จะตัดสินใจซื้อ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่อาจจะเติบโตมากกว่า 300% ภายในปี 2566 – 2567 เป็นต้นไป

เครดิตข้อมูลจาก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง