Toyota Motor คืนชีพตำนาน “แพนด้า AE86 (Hachiroku)” ไอคอนนิก Drift King สัญชาติญี่ปุ่นให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้งด้วยขุมพลังใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสองรุ่น สองขุมพลังในงาน Tokyo Auto Salon 2023 นี้ โดยมีทั้งรุ่นขุมพลังไฮโดรเจนสันดาปภายใน และขุมพลังไฟฟ้า 100%
ตำนานแพนด้า Drift King จากญี่ปุ่น
โดย Toyota AE86 นั้น เป็นรถสปอร์ตขนาดเล็กในตระกูล Corolla ที่ถูกผลิตในระหว่างปี 1983 – 1987 โดยจะมีด้วยกัน 2 รุ่น ได้แก่ Toyota Corolla Levin ที่มาพร้อมไฟหน้าทรงสี่เหลี่ยมดูสง่างาม และ Toyota Sprinter Trueno ที่โดดเด่นด้วยไฟหน้า Pop up โดยรถ AE86 ในยุคแรก โดดเด่นด้วยเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 16 วาล์ว TWIN CAM DOHCความจุ 1.6 ลิตร 4A-GEU 130 แรงม้า ขับเคลื่อนล้อหลัง
ซึ่งรถรุ่นนี้ได้รับความนิยมในการแข่งขันมาอย่างยาวนาน แต่ที่สร้างชื่อจริง ๆ คือ ตำนาน “Drift King” Keiichi Tsuchiya ที่นำ AE 86 มาแข่งขันวิ่งลงเขา และสามารถทำคะแนนได้ดีกว่าคู่แข่งทุกคน จนได้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของการผลิตการ์ตูนเรื่อง Initial D ที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั่วโลก จึงทำให้ความนิยมในการนำ AE86 (โดยเฉพาะรุ่น Sprinter Trueno) มาคัสตอมให้เป็นรถดริฟต์ และนักสะสมทั่วโลก
ซึ่งทาง Toyota ได้มีโครงการการคัสตอม AE86 ให้แฟน ๆ สายรถแต่ง รถซิ่ง และรถดริฟต์ทุกเจนเนอเรชั่นได้ตื่นเต้นอีกครั้ง โดยมีโจทย์สำคัญคือการคืนชีพไอคอนนิกสู่โลกยุคใหม่ที่เน้นพลังงานทางเลือกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางบริษัทฯ ได้แสดงให้เห็นอย่างว่าผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่มีเครื่องยนต์อยู่แล้วก็สามารถยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นทางทางคาร์บอนได้ โดยยังคงเอกลักษณ์ และประสิทธิภาพดั้งเดิมเอาไว้ จึงเป็นที่มาของ Toyota Sprinter Trueno / AE86 H2 Concept และ Toyota Corolla Levin / AE86 BEV Concept
Toyota Sprinter Trueno / AE86 H2 Concept
เริ่มจาก AE86 รุ่นไฟหน้า Pop Up ที่ป็อปปูล่ามากที่สุดในโลก ได้ปรับแต่งให้รองรับขุมพลังไฮโดรเจนแบบสันดาปภายใน ในด้านรูปลักษณ์ภายนอกนอกเหนือจากดีคอลข้างตัวถัง กับสติ๊กเกอร์ประเภทเชื้อเพลิงที่รองรับก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่ภายในนอกจากเปลี่ยนพวงมาลัยใหม่ เบาะ Bride พร้อมเข็มขัด 4 จุดสายสีฟ้า และจอมอนิเตอร์ ก็แทบจะคงรูปลักษณ์เดิม ๆ ไม่ได้แต่งอะไรจัดหนักมาก โดยเฉพาะตัวเกียร์ยังคงเป็นเกียร์ธรรมดา 6 สปีดอยู่
แต่ไฮไลท์สำคัญคือการเปลี่ยนจากเครื่องยนต์เบนซิน เป็นเครื่องยนต์ไฮโดรเจน ซึ่งได้นำเครื่องยนต์ไทป์ 4A-GEU แบบดั้งเดิมมาปรับอุปกรณ์ใหม่ให้รองรับทั้งหัวฉีดไฮโดรเจน และระบบจุดระเบิดที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากเครื่องยนต์ G16E-GTS จาก GR Yaris และ GR Corolla โดดเด่นด้วยฝาครอบวาล์วสีน้ำเงินวาว ที่สลักคำจารึกว่า Toyota 1600 และ TWIN CAM 16 VALVE
ด้วยข้อดีของตัวเครื่องยนต์สันดาปภายในของ 4A-GEU ที่สามารถดัดแปลงให้รองรับเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้ แต่ก็อาจจะไม่สามารถมอบสมรรถนะได้แรงสะใจมากนัก เนื่องจาก 4A-GEU ถูกสร้างขึ้นสำหรับการวัดปริมาณสารสัมพันธ์ของน้ำมันเบนซิน (Stoichiometry หรือ λ [แลมบ์ดา]) ซึ่งอัตราส่วนอากาศต่อเชื้อเพลิงตามทฤษฎีของน้ำมันเบนซินคือ 14.7
ในขณะที่เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ปริมาณอากาศที่สามารถรับเข้าไปนั้นน้อยมาก จึงให้อัตราส่วนอากาศต่อเชื้อเพลิงตามทฤษฎีที่ 34.3 รวมถึงหัวฉีดไฮโดรเจนก็ยังไม่แม่นยำเท่าหัวฉีดน้ำมัน จึงทำให้ได้แรงม้าที่น้อยกว่าเครื่องยนต์เบนซิน แต่ก็ได้รับการปรับปรุงส่วนอื่นเพื่อให้สมรรถนะที่ดีขึ้น
ตัวถังบรรจุก๊าซ 70MPa 2 ถัง ท่อส่งก๊าซ และระบบเติมไฮโดรเจน ที่ยกมาจาก Toyota Mirai โฉมปัจจุบัน ซึ่งบางอุปกรณ์ก็สามารถแทนที่ของเดิมได้เลย แต่ถังไฮโดรเจนนั้นจะต้องติดตั้งเพิ่มลงในพื้นที่ห้องสัมภาระท้ายไปด้วย จึงทำให้สูญเสียพื้นที่ภายในห้องสัมภาระไปจนแทบบรรทุกอะไรไม่ได้เลย แต่ด้วยการที่เป็นรถแข่ง ตรงส่วนนี้จึงมองข้ามไป
และส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก 55 กก. จาก 940 กก. ในแบบเดิม เป็น 995 กก. แต่ก็ยังคงเป็นรถที่หนักน้อยกว่า 1 ตันตามแผนที่วางไว้
Toyota Corolla Levin / AE86 BEV Concept
สำหรับรุ่นไฟหน้าคงที่เองก็ได้รับความนิยมที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ได้รับการเปลี่ยนขุมพลัง 4A-GEU มาใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ยกมาจากกระบะขุมพลังไฮบริดอย่าง Tundra แบตเตอรี่จาก Prius PHV ซึ่งวางอยู่ในห้องสัมภาระท้าย
ส่วนเกียร์จะเป็นเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ที่นำมาจาก GR86 อันเนื่องมาจากต้องการรองรับแรงบิดที่สูงขึ้นของระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า และต้องเชื่อมต่อกับ Dog Clutch ของมอเตอร์ไฟฟ้าเฉพาะตัวอีกด้วย แต่ถึงกระนั้น ทางบริษัทฯ ติดตั้งเกียร์เพื่อเพิ่มความสนุกในการขับขี่มากกว่าใช้ส่งกำลังจริง ๆ เนื่องจากแรงบิดรถสามารถถ่ายทอดจากมอเตอร์ไฟฟ้าได้โดยตรง
ความน่าสนใจของรถรุ่นนี้คือมาการใช้ คอมเพรสเซอร์ และ Masterback เป็นประเภทที่ใช้อากาศ (ไม่ใช่ Masterback อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป) เพื่อใช้ในการระบายความร้อนมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ให้กับรถรุ่นนี้
แม้ภายนอกจะไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมมากนักเนื่องจากต้องการรักษาสภาพให้คงเดิม แต่ภายในนั้นมีการปรับปลี่นรชิ้นส่วนหลายรายการ รวมถึงเสริมโครงด้านใน โดยระบุว่าจะรองรับการขับขี่ผาดโผน และการลีลาเข้าโค้งแบบโดนัทได้ดี
ซึ่งทั้งสองรุ่นได้เปิดให้แฟน ๆ ได้ชมทั้งการกลับมาของตำนานแพนด้า AE86 ภายใต้ขุมพลังใหม่แล้ว ยังเป็นการเผยถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาขุมพลังที่ให้ความเป็นกลางทางคาร์บอนของโตโยต้าอีกด้วย อันเป็นการปูทางความพร้อมในการพัฒนาขุมพลังใหม่สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ แก่ลูกค้าในอนาคต
เครดิตข้อมูลจาก global.toyota และ car.watch.impress.co.jp