คัดลอก URL แล้ว
งดเหล้าเข้าพรรษา ข้อดี-ข้อเสีย มีอะไรบ้าง? ผู้ที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์ต้องระวัง!

งดเหล้าเข้าพรรษา ข้อดี-ข้อเสีย มีอะไรบ้าง? ผู้ที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์ต้องระวัง!

วันเข้าพรรษา ในปีนี้ตรงกับวันที่ 2 ส.ค. 66 และเป็นประจำทุกปีจะกำหนดให้เป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคมและเครือข่ายงดเหล้า จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้คนไทย ลด ละ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้คำขวัญ “ไกลเหล้า ไกลโรค ไกลอุบัติเหตุ”

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากกว่า 230 ชนิด ทั้งนี้เนื่องในวันเข้าพรรษา รัฐบาลไทยขอเชิญคนไทยทุกคนร่วมลด ละ เลิก เหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดตลอดเทศกาลเข้าพรรษา โดยพอสรุปข้อดี-ข้อเสีย ได้ดังนี้

ข้อดี งดเหล้าเข้าพรรษา

ลดโอกาสอุบัติเหตุและเกิดความสูญเสีย

ลดโอกาสอุบัติเหตุและเกิดความสูญเสียกับครอบครัวและสังคมโดยรวมจากอุบัติเหตุ ที่นำมาซึ่งการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ช่วยลดรายจ่ายในครอบครัว

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ด้านพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรไทย ปี 65 ระบุว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 64 นักดื่มต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากในปี 60 เกือบ 2 เท่า ผู้ดื่มหนักเป็นประจำ มีค่าใช้จ่ายการดื่มสุราเฉลี่ยสูงถึง 3,722 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 340 บาท/วัน

ช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพ

ทั้งนี้การงดดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีขึ้นห่างไกลจากโรคต่างๆ ได้ โดยในทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากกว่า 230 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นโรคทางระบบสมองและระบบประสาท, โรคเกี่ยวหัวใจและหลอดเลือด, โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและตับ และกลุ่มโรคเรื้อรังและความผิดปกติอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน, โรคเกาต์, โรคพิษสุราเรื้อรัง, ขาดสารอาหาร ฯลฯ

ข้อเสียงดเหล้าเข้าพรรษา

ในกลุ่มผู้ที่ติดแอลกอฮอลล์ หรือเป็น โรคติดสุรา ไม่ควรหักดิบงดเหล้า หากทำการงดเหล้าเข้าพรรษาด้วยตนเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ลักษณะผู้ที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์

จะเป็นผู้ที่ดื่มเป็นประจำทุกวัน ดื่มหนัก และดื่มนานเป็นปีๆ ซึ่งอาการอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือ การติดสารทางกาย ได้แก่ การที่ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ฤทธิ์เมาเท่าเดิม และเมื่อหยุดดื่มกะทันหันก็จะเกิดอาการถอนแอลกอฮอล์

คำแนะนำ ผู้ที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์แล้วต้องการหยุดดื่ม

ผู้ที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์แล้วต้องการหยุดดื่ม แพทย์มักจะให้ยาช่วยลดอาการถอน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดแอลกอฮอล์กะทันหัน ดังนั้น หากท่านหรือคนใกล้ตัวมีภาวะติดแอลกอฮอล์และตั้งใจหยุดดื่มในช่วงเทศกาลนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดดื่มกะทันหัน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง