คัดลอก URL แล้ว

TripNiceDay แพลตฟอร์มจัดทริปเที่ยวด้วยตัวเอง เพื่อนักเดินทางตัวจริง

ย้อนไปช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ใหม่ๆ เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากเป็นอันดับต้นๆ สำหรับประเทศไทยก็คือ การท่องเที่ยว

แต่ท่ามกลางมรสุมก็เสมือนดาบสองคม มองในมุมกลับก็เป็นช่องว่างให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อเป็นทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ทริปไนซ์เดย์ (TripNiceDay) แพลตฟอร์มจัดทริปเที่ยวด้วยตัวเอง ที่สร้างขึ้นโดยฝีมือคนไทย จิรายุ ลิ่มจินดา อดีตโปรแกรมเมอร์ที่ริเริ่มแพลตฟอร์มจากการนำเอาวิทยานิพนธ์​ สมัยเรียนปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจ นิด้า มาต่อยอด 

“ถ้าเป็นช่วงก่อนโควิด-19 ผู้ประกอบการการเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ ไม่เคยสนใจต้องพาตัวเองขึ้นมาขายแพ็คเกจทัวร์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะขายได้อยู่แล้ว แต่พอช่วงโควิด-19 ตลาดและพฤติกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยน ผู้คนไม่อยากเที่ยวเป็นกลุ่ม ไม่อยากไปเจอประสบการณ์เดิมๆ และพร้อมที่จะใช้เงินมากขึ้นเพื่อไปเจอประสบการณ์แปลกใหม่ เจอสถานที่ใหม่ๆ” จิรายุเกริ่นถึงจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวหันมาจัดทริปการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองกันมากขึ้น และกลายเป็นโอกาสแจ้งเกิดของ ‘ทริปไนซ์เดย์’

ก้าวแรกของธุรกิจ ท่ามกลางแรงต้านรอบด้าน

จากไอเดียเริ่มต้น ด้วยการนำเสนอ Business Model นี้ต่ออาจารย์ที่ปรึกษา เพียงแค่รู้สึกว่าเป็นโมเดลที่ทุกคนเข้าถึงได้-เข้าใจง่าย เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของนักท่องเที่ยวให้ได้รู้จักสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายมากขึ้น ในทางกลับกันเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายย่อยได้เข้าถึงกลุ่มนัก  ท่องเที่ยวผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเอาประสบการณ์ของผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง

“ทริปไนซ์เดย์ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อย ชุมชน หรือคนตัวเล็กๆ ตามต่างจังหวัดสามารถมีตัวตนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยไม่ต้องใช้เงินทุนมากมาย เพราะเราไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจากฝั่งนักท่องเที่ยวหรือฝั่งผู้ประกอบการ-คู่ค้า”

“ทริปไนซ์เดย์จึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้ประชาสัมพันธ์ตัวเองบนโลกออนไลน์ได้อย่าง เท่าเทียม เปิดโอกาสสร้างรายได้จากการที่นักท่องเที่ยวเลือกสถานที่ของพวกเขาเข้าไปในทริปการเดินทางและเดินทางไปที่นั้นๆ”

จากไอเดียในกระดาษส่งอาจารย์ จิรายุเริ่มปั้นทริปไนซ์เดย์ให้กลายเป็นธุรกิจ ท่ามกลางก้าวแรกที่เต็มไปด้วยแรงต้านและการถูกปฏิเสธ ตั้งแต่การหาพันธมิตรทางธุรกิจ ไปจนถึงการเข้าถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาทุน หลายคนมองว่าตลาดการจัดทริปเองไม่น่าโตได้จริง

“ยิ่งใครบอกว่าแพลตฟอร์มนี้ไม่น่าจะเวิร์ค ผมยิ่งอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งนี้อาจจะเวิร์คก็ได้ ก็เลยกัดฟันทำมาโดยตลอด ปรับเปลี่ยนโมเดลไปเรื่อยๆ ช่วงแรกท้อเหมือนกัน จะไปหาคู่ค้า ขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐก็ไม่มีใครเปิดใจเลย สิ่งที่เราทำได้ คือ ทำให้ดีที่สุดในแต่ละวัน จนเริ่มมีคู่ค้า มีคนเข้ามาใช้แพลตฟอร์มจริงๆ”

จากความพยายามสู่การยกระดับแพลตฟอร์ม

จากการลองผิดลองถูก ทริปไนซ์เดย์ค่อยๆ พัฒนาตัวเองจนแบ่ง Business model ออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งที่ 1 สำหรับนักท่องเที่ยว เปิดให้ใช้ทริปไนซ์เดย์จัดทริปการเดินทาง เมื่อนักเดินทางเลือกสถานที่ต้นทางและปลายทางระบบจะนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้คุณเลือก ช่วยให้การวางแผนการเดินทางสะดวกขึ้น ง่ายขึ้น โดยรวมข้อมูลที่อัปเดตแล้วมาไว้ในที่เดียว

“การที่นักท่องเที่ยวสักคนเลือกไปเที่ยวเชียงใหม่ จะเสียเวลาหาข้อมูลตามหน้าเว็บไซต์ จะพักที่ไหน เดินทางอย่างไร แต่ละสถานที่เสียค่าเข้าเท่าไร เปิด-ปิดกี่โมง ควรเดินทางไปสถานที่ไหนก่อน ตัวทริปไนซ์เดย์จะเข้ามาทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวกลางตัวหนึ่งรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ในที่เดียว” 

ฝั่งที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการ ชุมชน ผู้ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งเป็นฝั่งที่สร้างรายได้ให้กับแพลตฟอร์ม จากการช่วยผู้ประกอบการและคู่ค้าเหล่านี้ขายแพ็คเกจท่องเที่ยวของเขาผ่านบนแพลตฟอร์มทริปไนซ์เดย์ ซึ่งโมเดลนี้เป็นส่วนที่มาภายหลังเมื่อปลายปี 2565

“ช่วงโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดคิดว่าเราเป็นทัวร์จัดทริป คิดว่าเราขายทัวร์ โทรมาซื้อทัวร์กับเรา ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะตอบไปว่าถ้าคุณอยากเที่ยวคุณสามารถจัดทริปได้ด้วยตัวเองผ่านแพลตฟอร์มทริปไนซ์เดย์ แต่พอมีคนต้องการให้ทริปไนซ์เดย์จัดแพ็คเกจทัวร์มาขายมากๆ เข้า จึงเป็นที่มาของการก่อเกิดโมเดลที่ 2” 

“ทริปไนซ์เดย์ยังคงทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ ชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว ด้วยการพากลุ่มคนเหล่านี้มาขายแพ็คเกจบนแพลตฟอร์มของเรา เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงผู้ให้บริการเพื่อการท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น” จิรายุเล่าถึงความบังเอิญที่กลายมาเป็นการแตกไลน์ธุรกิจของทริปไนซ์เดย์

ปัจจุบันทริปไนซ์เดย์มีผู้ใช้งานมากกว่า 5 หมื่นคนต่อเดือน เฉลี่ยวันละประมาณ 1,500 ราย จัดทริป
มาแล้วมากกว่า 7,000 ทริป ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่เคยใช้แพลตฟอร์มมาก่อนจะเกิดการใช้ซ้ำ โดยจิรายุพลิกแพลงทุกกลยุทธ์การตลาดเท่าที่จะนึกได้มากกว่า 30-40 โมเดล เพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ออกบูธ ใช้อินฟลูเอนเซอร์ การทำแคมเปญกับภาครัฐ รวมถึงการได้รับทุนจาก NIA ต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อ และการได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน เพื่อให้แพลตฟอร์มเกิดเงินทุนหมุนเวียน

“ถึงวันนี้ผมยังไม่คิดว่าทริปไนซ์เดย์ประสบความสำเร็จ ยังต้องมีการปรับตัวให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงเริ่มเวิร์ค หลักๆ ผมว่าน่าจะมาจากการมียอดผู้ใช้งานจริงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการลองใช้จริงและเริ่มรู้สึกว่าแพลตฟอร์มของเราทำอะไรได้มากกว่าที่คิด”

ผลการตอบรับที่ดีจากเฟสแรก 

กลายเป็น Key Learning ให้จิรายุนำไปสู่การยกระดับบริการ ในเฟสที่สองที่จะเปิดขึ้นในปลายปี 2566 ที่จะเป็นผู้ช่วยจัดทริปการเดินทางอัจฉริยะที่ฉลาดขึ้นกว่าเดิม โดยระบบจะนำเสนอข้อมูลการเดินทางได้ละเอียดขึ้นไปอีกขั้น เช่น แนะนำสถานที่พักรถ, แนะนำเส้นทางที่เดินทางเร็วสุด ง่ายสุด, แนะนำสถานที่ที่คนนิยมไป ไปจนถึงนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวที่คาดว่าคุณจะชอบ จากการวิเคราะห์พฤติกรรมและอายุของผู้เดินทาง และยกระดับไปไกลถึงขนาดนำเสนอบริการท้องถิ่นที่จะทำให้การท่องเที่ยวสะดวกขึ้น เช่น บริการของฝากถึงที่พักโดยที่คุณไม่ต้องไปซื้อเองให้เหนื่อย, แนะนำบริการรถเช่า, แนะนำบริการทัวร์ท่องเที่ยวท้องถิ่น เป็นต้น

ถ้าแพลตฟอร์มให้ประโยชน์กับผู้คน ก็สามารถไปต่อได้

ถือว่าทริปไนซ์เดย์มาไกลมากจากก้าวแรกที่ไม่มีใครมองเห็นโอกาส กว่าจะมาถึงจุดนี้​ จิรายุต้องยึดมั่นในความเชื่ออย่างแรงกล้า อย่างที่เขาบอกว่า “เพราะผมเชื่อว่าเรามีความสามารถมากพอในการช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือคนให้สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่เราสร้างขึ้นได้ การทำทริปไนซ์เดย์เป็นงานที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า มีความหมาย นั่นทำให้ผมยังคงทำทริปไนซ์เดย์อยู่จนถึงวันนี้”

ก่อนทิ้งท้ายบทเรียนให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ว่า “อย่าท้อ อย่าล้มเลิก คนทุกคนมีความฝัน แต่จะมีสักกี่คนที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อรักษาความฝัน ผมเชื่อว่าถ้าแพลตฟอร์มให้ประโยชน์กับผู้คน ก็สามารถไปต่อได้”

ดูรายละเอียดของ Tripniceday เพิ่มเติมได้ที่ https://www.tripniceday.com/ และ https://www.facebook.com/tripniceday 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplaceของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง