จะรู้ได้อย่างไรว่าคนไหนเป็นเพื่อนที่ดี หรือเพื่อนทั่วๆ ไป เรื่องงี้มีงานวิจัยออกมาให้ได้รู้กัน โดยนักวิจัยได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในโรงเรียน และการสร้างความสัมพันธ์เพื่อน ทดลองกับคนที่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ 355 คนที่เพิ่งย้ายไปอยู่ที่ใหม่ และนักเรียนที่เข้าไปเรียนในวิทยาลัยในปีแรก ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ไปติดตามกัน
งานวิจัยดังกล่าวได้ตีพิมพ์ในวารสารความสัมพันธ์ทางสังคมและส่วนบุคคล (Journal of Social and Personal Relationships) นำโดย เจฟฟรีย์ เอ ฮอลล์ ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัยแคนซัส ฮอลล์ ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในโรงเรียน และการสร้างความสัมพันธ์เพื่อน
พบว่า คุณต้องใช้เวลาประมาณ 50 ชั่วโมงในการพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรู้จักให้กลายเป็นเพื่อน 90 ชั่วโมงสำหรับมิตร และมากกว่า 200 ชั่วโมงสำหรับเพื่อนที่ดีที่สุดหรือเพื่อนยาก ซึ่งการวิจัยของ ฮอลล์ ได้ทำการศึกษา 2 ครั้ง : หนึ่งครั้งกับผู้ใหญ่ 355 คนที่เพิ่งย้ายไปอยู่ที่ใหม่ และสองนักเรียนที่เข้าไปเรียนในวิทยาลัยในปีแรก
ในการศึกษาครั้งแรก ฮอลล์ได้ขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมคิดถึงเพื่อนใหม่ที่พวกเขาพบใหม่ตั้งแต่ย้ายเข้ามา โดยผู้เข้าร่วมประชุม อธิบายว่า เมื่อพวกเขาใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากแค่ไหน พวกเขาก็สนิทกับคนเหล่านั้นมากขึ้น และจากคนรู้จักก็เป็นเพื่อนสนิทมากขึ้น
ในการศึกษาครั้งที่สอง ฮอลล์ให้ผู้เข้าร่วมประชุมอธิบายถึงเพื่อนใหม่สองคน และตามด้วยเหล่าเพื่อนนักเรียนที่ได้ทำความรู้จักใน 9 สัปดาห์แรกของปีการศึกษา โดยในแต่ละจุดเขาจะเผยถึงว่าพวกเขาใช้เวลากับคนรู้จักมากแค่ไหนและสามารถบอกได้ว่าเพื่อนของพวกเขาเป็นอย่างไร
ซึ่งผลการวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้คนใช้เวลาอยู่ใกล้กันมากขึ้น ความสนิทสนมที่พวกเขามีให้กัน มันก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีพื้นที่ทางกายภาพเดียวกันแต่เป็นเรื่องของการเข้ากันได้มากกว่า
ในความเป็นจริงฮอลล์ พบว่า การใช้เวลาร่วมกันกับเพื่อนในที่ทำงานหรือที่โรงเรียนนานๆ ความใกล้และมิตรภาพจะลดลง ในทางตรงกันข้าม “การแฮงค์เอ้าท์” ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การดูทีวี เล่นเกม หรือไปเที่ยวด้วยกัน มิตรภาพเหล่านี้จะทำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า เนื้อหาของบทสนทนาของคนอื่นๆ ก็มีความสำคัญเช่นกัน คนที่มีส่วนร่วมในการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ จะใกล้ชิดกันน้อย ในขณะที่คนพูดคุยในเรื่องตลก เรื่องมีสาระ และเรื่องราวน่าประทับใจต่างๆ รวมถึงการเปิดเผยตัวตนในช่วงเริ่มต้นของมิตรภาพก็ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของเพื่อนให้สนิทสนมกันและแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย
ส่วนคนที่มีบุคลิกเป็นมิตร เข้าถึงง่าย เปิดใจ และรอบคอบ จะมีเคมีมิตรภาพ ที่พร้อมที่จะเป็นเพื่อนกับคนอื่นได้ดีกว่า หรือเรียกได้ว่าต่อติดกับคนอื่นๆ ได้ง่าย
ในท้ายที่สุดการวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การหาเพื่อนหมายถึงการลงทุนอย่างมากในเรื่องเวลาและพลังงาน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราส่วนใหญ่มีเพื่อนสนิทนับนิ้วได้
ที่มา businessinsider