เด็กผู้หญิงควรมีผ้าอนามัยใช้ฟรี ไม่ต่างจากการมีตู้ถุงยางอนามัยฟรีในโรงเรียน หนึ่งความคิดเห็นที่น่าคิดจากกลุ่มผู้ใช้งานสังคมโซเชียล
จากกระแสที่กลายเป็นประเด็นที่ผู้หญิงทั่วประเทศ นั่นคือเรื่องที่รัฐบาลจัดให้ ผ้าอนามัย อยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทสินค้าฟุ่มเฟือย และสามารถจัดเก็บภาษีได้สูงสุดถึง 40% และถึงแม้ว่าหลังจากนั้น จะมีการชี้แจงจากกรมสรรพสามิตในเรื่องดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริงแล้วนั้น แต่นี่ก็กลายเป็นที่มาของการเรียกร้องให้รัฐบาล หันมาให้ความสำคัญในการเข้าถึงสินค้าขั้นพื้นฐานที่ผู้หญิงทุกคนควรได้รับอย่างถ่องแท้เสียที
ขอคำนวนค่าใช้จ่ายประจำเดือน ที่ผู้หญิงต้องใช้จ่ายเมื่อถึงวันนั้นของเดือน
ในแต่ละรอบเดือนว่ามีค่าใช้จ่ายใดๆ บ้าง
และคิดเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่
- โดยเฉลี่ยผู้หญิงจะมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 12 ปี แต่ก็มีรายงานว่าเด็กผู้หญิงบางคนมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 8 ปี และหมดประจำเดือนในวัย 60 ปี
- ประมาณการณ์ของผู้หญิงจะมีประจำเดือนเป็นระยะเวลา 5-7 วันเป็นอย่างน้อย หรือบางคนอาจกินเวลานานถึง 10 -15 วันก็มี
- นอกจากประจำเดือนแล้ว ผู้หญิงบางคนมีภาวะปริมาณตกขาวมามากในช่วงไข่ตก จึงจำเป็นต้องใช้แผ่นอนามัยเพื่อช่วยเรื่องสุขอนามัย
- ในช่วงระหว่างการมีประจำเดือนนั้น อาจมีภาวะ ปวดท้องเกร็งจากการบีบตัวของมดลูก หรือบางคนอาจมีอาการเวียนหัวคลื่นใส้ จนกระทั่งต้องใช้ยาระงับปวดช่วยเหลือ
ประมาณการค่าใช้จ่ายผ้าอนามัย
- ผ้าอนามัยแบบธรรมดา ราคาต่อชิ้นประมาณ 2.50 บาท ตามคำแนะนำของสาธารณะสุข ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 2-4 ชม. หากใช้ วันละ 10 ชิ้น คิดเป็นเงิน 25 บาท หากเป็นประจำเดือน 7 วัน ต้องจ่าย 175 บาท
- ผ้าอนามัยแบบกลางคืน ราคาต่อชิ้นประมาณ 5 – 10 บาท ใช้วันละ 2 ชิ้น คิดเป็นเงิน 20 บาท หากเป็นประจำเดือน 7 วัน ต้องจ่าย 140 บาท
- ค่ายาแก้ปวดประจำเดือน แผงละ 40 บาท มี 6 เม็ด คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 12 บาท กินเฉพาะวันแรกที่เป็นประจำเดือน
- แผ่นอนามัย ราคาต่อชิ้นประมาณ 1.50 บาท ตามคำแนะนำของสาธารณะสุข ควรเปลี่ยนแผ่นอนามัยทุกๆ 2-4 ชม. เช่นกัน หากใช้วันละ 5 ชิ้น เป็นเงิน 7.50 บาท หากใช้เดือนละ 5 วันคิดเป็นเงิน 37.50 บาท
โดยสรุป
ในหนึ่งเดือนของการเป็นผู้หญิงที่มีประจำเดือน จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 400 บาทต่อเดือน หรือราวปีละ 4,800 บาท หรือหากคำนวณคร่าวๆ ว่า ตลอดชีวิตของผู้หญิงเราจะต้องมีค่าใช้จ่าย 230,400 บาท สำหรับการเป็นประจำเดือน
ตัวเลขนี้อาจไม่น่าตกใจเท่าไหร่ในกลุ่มผู้หญิงที่มีรายได้ประจำ แต่หากลองมองไปที่กลุ่มเด็กผู้หญิงในวัยเรียน ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นประจำทุกเดือน ในขณะที่ยังไม่สามารถมีรายได้เอง และไม่สามารถกำหนดการใช้งานว่าจะมีใช้หรือไม่มีใช้ เช่นนั้นแล้ว นี่คือปัจจัยพื้นฐานที่ผู้หญิงควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้าถึงสุขอนามัยขั้นพื้นฐานนี้หรือไม่ จึงกลายเป็นบททดสอบอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจและน่าติดตาม ว่ารัฐบาลจะมีท่าทีกับเรื่องนี้อย่างไร