ประเด็นน่าสนใจ
- ตำแหน่งยอดฮิตเวลาขึ้นเครื่องบินคงไม่พ้นที่นั่งริมหน้าต่างเพราะจะได้มองวิวทิวทัศน์ แต่คุณเคยสังเกตเห็นรูเล็กๆ บริเวณหน้าต่างเครื่องบินกันมั้ย? มันมีอยู่ที่หน้าต่างเครื่องบินทุกบานเลยล่ะ
- รูเล็กๆ นั้นมีชื่อเรียกว่า “Breather Hole” แต่ถือว่ามีประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ใช่เล่น!! เพราะช่วยรักษาความปลอดภัยในการเดินทางบนเครื่องบิน ซึ่งก็หมายถึงความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนบนเครื่องด้วย
“Breather Hole” หรือ “Bleed Hole”
รูเล็กๆ บนหน้าต่างเครื่องบินที่อยู่บริเวณด้านล่างของหน้าต่างทุกบานบนเครื่องบินนั้น มีชื่อเรียกว่า Breather Hole” หรือ “Bleed Hole” ซึ่งอยู่ในส่วนของกระจกหน้าต่างชั้นที่สองที่เรียกว่า “Inner pane”
ทั้งนี้หน้าต่างกระจกเครื่องบิน มีทั้งหมด 3 ชั้น ดังนี้
หากคุณลองสังเกตดูที่หน้าต่างเครื่องบินใกล้ๆ จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นแผ่นอะคริลิกใสอยู่สามชั้น แต่ละชั้นจะมีคุณสมบัติดังนี้
- ชั้นที่สามคือชั้นในสุด “Scratch pane” คือในห้องผู้โดยสารเป็นอะคริลิก มีคุณสมบัติกันรอยขีดข่วนและยังเป็นกระจกนิรภัยกันผู้โดยสารทุบทำลายด้วย
- ชั้นที่สองหรือแผ่นกลาง “Inner pane” คือชั้นกระจกที่มีรูเล็ก ๆ หรือเรียกว่า “Breather hole” หรือ ” Bleed hole” ดังที่กล่าวถึงข้างต้น
- ชั้นแรกคือกระจกแผ่นด้านชั้นนอกสุด ทำหน้าที่รับแรงกดอากาศ โดยชั้นที่สองและชั้นแรกนั้นมีความสำคัญสุดเพราะช่วยในการปรับความดันอากาศในห้องผู้โดยสาร
ปรับความดันในห้องผู้โดยสารให้อยู่ในระดับที่รู้สึกสบาย
Marlowe Moncur ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีของบริษัท GKN Aerospace ซึ่งเป็นผู้ผลิตหน้าต่างเครื่องบินชั้นนำ อธิบายว่า
“วัตถุประสงค์ของเจ้ารูเล็กๆ บนหน้าต่างแผ่นกลางคือ เพื่อปรับระดับความดันระหว่างในห้องผู้โดยสารกับความดันระหว่างแผ่นหน้าต่าง ทำให้หน้าต่างแผ่นนอกแผ่นเดียวที่รับความดันอากาศสูง หากหน้าต่างแผ่นนอกสุดไม่สามารถต้านแรงดันได้ (ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากมาก) หน้าต่างแผ่นกลางจะทำหน้าที่ต้านความดันแทน โดยอาจมีอากาศรั่วออกไปตาม Breather Hole เล็กน้อย แต่ไม่มีปัญหากับระบบปรับความดันอากาศภายในเครื่องบินแต่อย่างใด“
ทั้งนี้ เมื่อเครื่องบิน บินขึ้นท้องฟ้าความดันอากาศภายในห้องผู้โดยสารจะถูกปรับให้อยู่ในระดับที่สบายและปลอดภัยต่อผู้โดยสาร ทำให้ความดันอากาศภายในห้องผู้โดยสารอยู่ในระดับที่สูงกว่าด้านนอกนั่นเอง
คายความชื้นจากช่องว่างระหว่างแผ่นหน้าต่างทำให้กระจกไม่เป็นฝ้าเห็นวิวชัด
Bret Jensen ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการบินของโบอิ้ง ได้กล่าวถึงอีกหน้าที่ของ Breather Hole ไว้ว่า
“ช่วยคายความชื้นจากช่องว่างระหว่างแผ่นหน้าต่างทั้งสาม ทำให้ไม่มีไอน้ำขึ้นเป็นฝ้าที่หน้าต่าง แต่บางครั้งจะมีเกล็ดน้ำแข็งเล็กๆ ก่อตัวขึ้นรอบๆ รูกลมๆ นี้ได้ เพราะเกิดจากที่อากาศในห้องผู้โดยสารสัมผัสหน้าต่างที่เย็นเฉียบ เนื่องจากอากาศด้านนอกอาจจะมีอุณหภูมิ -70 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ -56 องศาสเซลเซียส)
ทริปหน้าหากมีโอกาสได้โดยสารด้วยเครื่องบินและได้ที่นั่งริมหน้าต่าง คุณคงจะสังเกตเห็นเจ้ารูเล็กๆ บนหน้าต่าง อาจจะเผลอเอานิ้วมือลองไปจับมันก็ได้^^!!
อ้างอิงข้อมูลจาก : Pilottalkthailand, travelandleisure