คัดลอก URL แล้ว
‘ก้าวไกล’ กับความสุ่มเสี่ยงถูกร้องยุบพรรค

‘ก้าวไกล’ กับความสุ่มเสี่ยงถูกร้องยุบพรรค

ใครที่ติดตามเกี่ยวกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล ในคดีที่ถูกร้องถึงการหาเสียงเลือกตั้งในการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไข มาตรา 112 คงทราบกันดีแล้ว หลังศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัยแล้ว ระบุว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

พร้อมสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74

ที่มาที่ไปของคดีนี้กับ พรรคก้าวไกล

คดีนี้นายธีรุยทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพระพุทธะอิสระ ผู้ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

ซึ่งก่อนหน้านั้น นายธีรุยทธ ได้ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง แล้ว อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการตามที่ร้องขอภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ทำให้ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง
รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

นายธีรยุทธ ได้ยื่นข้อมูลเป็นหลักฐานการอภิปราย ปราศรัยหาเสียง และการให้สัมภาษณ์ทั้งในเวทีหาเสียง รวมถึงในรายการโทรทัศน์ ที่ผู้ถูกร้องได้กล่าวถึงกรณีการแก้ไขมาตรา 112

โดยก่อนหน้านี้นายธีรยุทธ เคยยื่นต่อเรื่องต่อ กกต. แล้ว เมื่อช่วงเดือน พ.ค.66 แต่คำร้องถูกตีตกไป เนื่องด้วยไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

สว.สมชาย ชี้ ‘ก้าวไกล’ สุ่มเสี่ยงถูกร้องยุบพรรค

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของนายธีรยุทธ ไม่ได้ร้องขอให้ยุบพรรคก้าวไกล แต่หากพิจารณาดูจากคำร้องประกอบหลักฐาน ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทั้งหมดแล้ว อาจถูกวินิจฉัยว่ากระทำผิดและถูกสั่งการให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าวต่อไปในอนาคต

ซึ่งจากคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของนายธีรยุทธ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่19/2564 ที่เคยมีสั่งการให้ผู้ถูกร้องและองค์กรเครือข่ายเลิกดำเนินการที่กระทำอยู่และที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

โดยมองว่าหลังจากคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้วนั้น อาจมีผู้ไปยื่นยุบพรรค ตามความผิดพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยพรรคการเมืองหรือยื่นเอาผิดอาญาตามกฎหมายอื่นในภายหลังต่อไปหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ท่าที ‘พรรคก้าวไกล’ หลังมีคำวินิฉัย

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล คณะกรรมการบริหาร และ สส. ของพรรค ร่วมกันแถลงข่าว

นายชัยธวัช ระบุว่า แม้ว่าจะมีการวินิจฉัยว่าการกระทำของ พรรคก้าวไกลที่ถือว่าใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อการล้มล้างการปกครอง พรรคก้าวไกลขอยืนยันอีกครั้งว่า เราไม่ได้มีเจตนาเพื่อ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” หรือแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติ แต่อย่างใด

“พวกเรายังกังวลว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาวอีกด้วย เพราะฉะนั้น ก็อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจ ระหว่างฝ่าย นิติบัญญัติ กับศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต และอาจกระทบต่อความเข้าใจ การให้ความหมายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

เปิดช่อง ฟันยุบพรรค!?

ความคืบหน้าในฝั่งผู้ร้องอย่างนายธีรยุทธ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า หลังจากทราบคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หลังจากนี้จะไปดูในส่วนของรายละเอียดคำนิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในเร็ว ๆ จะมีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะยื่นต่อ กกต. อีกครั้ง

ทางด้าน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ออกมาประกาศชัดว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. จะไปยื่นหนังสือพร้อมกับคัดคำแถลงการณ์ของศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการยุบพรรค

พร้อมกับส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการเอาผิดจริยธรรมสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

จากนี้ ‘ก้าวไกล’ ต้องเผชิญอะไรบ้าง

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นหลังจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาแล้วนั้น ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นยุบพรรค แต่เปรียบเสมือน ‘สารตั้งต้น’ นำไปสู่ช่องทางให้เกิดการยื่นเรื่องต่อ กกต. เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าถึงขั้น ‘ยุบพรรค’ หรือไม่

ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ ก็ยิ่งเข้าทางฝั่งผู้เห็นต่างจากพรรคก้าวไกล ที่พร้อมลุยเดินหน้าร้องเรียน ที่เรียกว่าไม่ต้องให้ก้าวไกลได้หยุดพักตั้งหลักกันเลยทีเดียว

มิหนำซ้ำเมื่อคราวที่พรรคก้าวไกลได้ลงรายชื่อ ส.ส. 44 คน เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ …) เกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อปี 64

ก็ยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องต่อ ป.ป.ช. ว่ากระทำผิดจริธรรมร้ายแรง เพื่อชี้มูล ส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่นายเรืองไกร ที่ให้ข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะยื่นเรื่องในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง