เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ทาง บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และ บริษัทไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูลการทดสอบการชนด้านข้าง (UN-R95) อันมาจากชิ้นส่วนผิดสเปคในรถยนต์ทั้ง 4 รุ่น ที่พัฒนาร่วมกันระหว่าง Daihatsu และ Toyota โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Toyota Yaris ATIV ที่มียอดจำหน่ายสะสมมากถึง 76,289 คัน โดยเฉพาะในประเทศไทยมียอดจำหน่ายมากถึง 36,890 คัน
สเปคขอบประตูที่แตกต่าง นำไปสู่ข้อมูลการทดสอบที่บิดเบือน
สาเหตุดังกล่าวเกิดจากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ได้ทำการดัดแปลงชิ้นส่วนภายในขอบประตูของรถที่ใช้ในการทดสอบให้มีตำหนิ เช่น การปรากฎรอยแตกในแนวยาว ซึ่งรอยแตกดังกล่าวจะช่วยควบคุมทิศทางการแตกไม่ให้ชิ้นส่วนภายในมีความคมจนเป็นอันตราย และส่งผลต่อคะแนนมาตรฐานทดสอบการชนด้านข้าง (UN-R95) แต่ชิ้นส่วนขอบประตูในรถที่ผลิตจริงกลับไม่ปรากฎรอยแตกดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อมาตรฐานความปลอดภัยที่คาดเคลื่อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายให้แก่ลูกค้า และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และความปลอดภัยได้
ทางไดฮัทสุกล่าวว่าได้รับเบาะแสในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมกับการยืนยันว่ามาการบิดเบือนผลการทดสอบการชนด้านข้างจริง โดยจะดำเนินการทดสอบการชนอีกครั้ง รวมถึงการชนด้านข้าง (UN-R95) ที่เป็นปัญหา พร้อมกับการเชิญหน่วยงานบุคคลที่สามเพื่อมาเป็นสักขีพยานในการทดสอบ และจะดำเนินการวางจำหน่ายอีกครั้งหากรถยนต์ได้รับการรับรองความปลอดภัยอย่างถูกต้อง
“ทางบริษัทฯ ต้องขออภัยอย่างจริงใจสำหรับการทรยศต่อความไว้วางใจแก่ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ให้การไว้วางใจ และการสนับสนุนต่อเรา” Mr. Soichiro Okudaira ประธานไดฮัทสุกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
อ่านข่าวเพิ่มเติม:
ผลกระทบต่อรถที่จำหน่ายมากถึง 88,123 คัน!
สำหรับรุ่นรถยนต์ของ Toyota ที่ได้รับผลกระทบ จะมีด้วยกันทั้งหมด 4 รุ่น โดยส่วนใหญ่จะเป็นรถที่ผลิตและจัดจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียน และเป็นรุ่นรถที่พัฒนาร่วมกันระหว่าง Toyota และ Daihatsu ซึ่งขึ้นกับสัญญาการจัดหา OEM และสัญญาการพัฒนาร่วมกัน ประกอบไปด้วย
Toyota Yaris ATIV ผลิตครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2565 โดยมีสายการผลิตทั้งในไทย และมาเลเซีย มียอดจำหน่ายสะสมทั้งในไทย กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต (GCC) เม็กซิโก และอื่น ๆ รวมมากถึง 76,289 แบ่งออกเป็น
- ตลาดในประเทศไทย 36,890 คัน
- กลุ่ม GCC กับเม็กซิโก และอื่น ๆ รวม 38,860 คัน
- มาเลเซีย 539 คัน
Perodua Axia ผลิตครั้งแรกในมาเลเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มียอดจำหน่ายสะสมรวม 11,834 คัน
ขณะเดียวกัน Toyota Agya เตรียมเปิดสายการผลิตในเดือนมิถุนายน 2566 จึงยังไม่ถูกผลิตออกมา ณ เวลานี้ และรถที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจึงยังไม่มีข้อมูลการผลิต แต่เนื่องจากเป็นรถที่พัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกับ Daihatsu จึงได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
ส่งผลให้รถยนต์ที่ได้รับผลกระทบมีมากถึง 88,123 คัน! (ข้อมูล่าสุดเดือนมีนาคม 2566)
“เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับรถยนต์ที่ขายภายใต้แบรนด์โตโยต้า ดังนั้นมันจึงส่งผลกระทบไม่เพียงแค่แบรนด์ไดฮัทสุเท่านั้นแต่ยังรวมถึงโตโยต้าด้วย” Mr. Akio Toyoda ประธานบริษัท บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าว
แถลงการณ์ล่าสุดจาก โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย
วันนี้ (29 เมษายน 2566) ทางโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้รับทราบถึงผลกระทบดังกล่าว พร้อมทำหนังสือชี้แจงต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดย Toyota Yaris ATIV ที่ผลิตและจัดจำหน่ายในประเทศไทย ได้ประกาศระงับการจัดจำหน่าย และหยุดการส่งมอบรถรุ่นที่มีปัญหาชั่วคราว เพื่อทำการตรวจสอบซ้ำในประเทศญี่ปุ่นตามข้อกำหนดการทดสอบพยาน (witness testing) พร้อมกับได้ดำเนินการทดสอบการชนด้านข้าง (UN-R95) อีกครั้ง และจะเผยกำหนดการจัดจำหน่ายและส่งมอบอีกครั้งในลำดับต่อไป
สำหรับรถรุ่นปัจจุบัน ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขใด ๆ ซึ่งทางบริษัทฯ ให้การยืนยันว่าลูกค้าสามารถใช้งานรถต่อไปได้ตามปกติ
สิ่งที่น่าจับตาต่อไปคือการเคลื่อนไหวของกลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถรุ่นดังกล่าวว่าจะมีทิศทางอย่างไร รวมถึงมาตรการการเยียวยาของทางบริษัทที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเรียกความเชื่อมั่นอีกครั้ง
เครดิตข้อมูลจาก car.watch.impress.co.jp 1, 2, 3 , bloomberg.com,