KEY :
- ภาคเหนือ ฝุ่น PM 2.5 ยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณทางตอนกลางของภาค
- จ.เชียงใหม่ ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นสูงที่สุดในไทย โดยเฉพาะที่ อ.พร้าว ซึ่งจากการตรวจวัดฝุ่นสูงที่สุดในประเทศไทย 50 จุดแรก เป็นพื้นที่ใน อ.พร้าวถึง 36 จุด
- นอกจากนี้ เชียงใหม่ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีรายงานจุดความร้อนสูงที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
- ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในบางพื้นที่ ซึ่งควรเฝ้าระวังในช่วงวันที่ 15-16 เม.ย. ที่คาดว่า จะมีฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น
…
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 บริเวณประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ซึ่งเป็นผลมาจากการระบายอากาศที่มีแนวโน้มทำได้ลดลง
สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่ตรวจวัดได้นั้น ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อเนื่อง และคาดว่า ในภาคเหนือจะยังคงเผชิญสภาวะฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานเช่นนี้ต่อไปอย่างถึงช่วงสิ้นสุดสงกรานต์
ซึ่งในช่วง 13-20 เม.ย. นี้ จะเป็นช่วงที่การระบายอากาศในภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ “อ่อน/ไม่ดี” โดยในช่วงวันที่ 21 เม.ย. การระบายอากาศจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ทำให้ฝุ่นสะสมตัวได้เช่นเดิม
โดยในวันนี้ พื้นที่ของ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ถือเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นที่ตรวจวัดได้อยู่ในเกณฑ์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย และจากรายงานการตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ของศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ พบว่า
จาก 50 จุดที่มีปริมาณฝุ่นสูงที่สุดในประเทศไทย มีมากถึง 36 จุดที่เป็นพื้นที่ในอ.พร้าว จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ เชียงใหม่ ยังมีรายงานจุดความร้อนสูงที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือวันนี้ สถานการณ์ยังคงใกล้เคียงกับเมื่อวานนี้ โดยมีแนวโน้มที่ฝุ่นลดลงเล็กน้อยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะด้านตะวันออกของภาค ที่ติดกับประเทศลาว มีแนวโน้มลดลง ก็แต่ก็ยังคงเกินค่ามาตรฐาน และหลายพื้นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
บริเวณภาคกลางนั้น การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ “อ่อน/ดี” แต่มีภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ฝุ่นควันสามารถสะสมตัวได้ และทำให้ปริมาณของ PM 2.5 สูงขึ้นในบางพื้นที่ แต่ในช่วงวันที่ 15-16 เม.ย. แนวโน้มการระบายจะทำได้ลดลงเล็กน้อย จึงควรเฝ้าระวังในช่วงดังกล่าว
คุณอาจจะสนใจเรื่องนี้
– พื้นที่ปลอดภัยจาก PM 2.5 ไม่ถึง 1% และผู้ที่หายใจในอากาศที่ปลอดภัยมีเพียง 0.001% เท่านั้น
…
กรุงเทพฯ – ปริมณฑลสภาพอากาศ มีแนวโน้มสูงขึ้น
พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในเช้าวันสงกรานต์ พบว่า ปริมาณฝุ่นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แม้หลายพื้นที่ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่สภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
ซึ่งคาดว่า ในช่วงวันที่ 14-15-16 นี้ แนวโน้มการระบายอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มลดลง มีภาวะอากาศใกล้ผิวพื้นค่อนข้างปิด ส่งผลให้คาดว่า จะมีฝุ่นควันสะสมตัวได้มากขึ้นอีก
…
10 จุดค่าฝุ่นสูงสุดในไทย
สำหรับ 10 จุดที่มีรายงานค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงที่สุดในประเทศเมื่อเวลา 08.00 น.จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่
จุดตรวจวัด | ปริมาณฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | บ้านหลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 793 |
2 | บ้านห้วยกุ ต.ป่าตุ้ม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 759 |
3 | รพ.สต.บ้านใหม่ ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 756 |
4 | บ้านขวัญประชา ต.เขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 726 |
5 | บ้านทรายทอง ต.เขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 706 |
6 | บ้านทุ่งบวกข้าว ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 689 |
7 | บ้านป่าแขม ต.แม่แวน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 681 |
8 | บ้านหนองไฮป่าหวาย ต.บ้านโป่ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 656 |
9 | บ้านห้วยทราย ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 654 |
10 | ไร่บุญสม ต.ป่าตุ้ม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 630 |
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
…
รายงานจุดความร้อนในภูมิภาค
สถานการณ์ของการพบจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับที่ลดลงค่อนข้างมาก โดยลดลงเหลือ 16548 จุด จากกว่า 2.3 หมื่นจุด แต่ก็ยังคงถือว่า อยู่ในเกณฑ์ที่สูงต่อเนื่อง
ซึ่งจำนวนจุดความร้อนที่พบในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคมีจำนวนดังต่อไปนี้
- เมียนมาร์ 10,731 จุด (ลดลงจาก 14,849 จุด)
- ลาว 3,098 จุด (ลดลงจาก 3,676 จุด)
- ไทย 2,030 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 1,763 จุด)
- เวียดนาม 503 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 271 จุด )
- กัมพูชา 123 จุด (ลดลงจาก 228 จุด)
- มาเลเซีย 63 จุด (ลดลงจาก 66 จุด)
ซึ่งในประเทศไทย รายงานจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศยังคงเป็นไปในทิศทางขาขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันแล้ว และจากจำนวน 2,030 จุดนั้น พบในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวน 1,685 จุด
แนวโน้มเป็นการพบจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ด้วยกัน รวมถึงการพบรายงานการเผาวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่ภาคกลางเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเผาฝางข้าว
จังหวัด | จำนวนจุดความร้อน | |
---|---|---|
1 | เชียงใหม่ | 399 |
2 | เชียงราย | 285 |
3 | น่าน | 177 |
4 | กำแพงเพชร | 111 |
5 | แม่ฮ่องสอน | 109 |
6 | ตาก | 105 |
7 | พะเยา | 95 |
8 | กาญจนบุรี | 76 |
9 | อุตรดิตถ์ | 65 |
10 | ลำปาง | 59 |