คัดลอก URL แล้ว
รู้จักโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ที่ WHO ระบุ “แพร่กระจายเร็วที่สุดเท่าที่เคยพบมา”

รู้จักโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ที่ WHO ระบุ “แพร่กระจายเร็วที่สุดเท่าที่เคยพบมา”

หลังจากที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กล่าวถึง โควิด-19 สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ที่กำลังระบาดในสหรัฐฯ ว่า เป็นสายพันธุ์ย่อยที่แพร่กระจายได้เร็วที่สุดเท่าที่เคยพบมา (อ่านเพิ่มเติม – https://mono29.com/news/414632.html) โดยมีรายงานพบเชื้อสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 แล้วใน 29 ประเทศทั่วโลก และคาดว่า อาจจะกลายเป็นสาเหตุของการระบาดในระลอกใหม่ในหลายประเทศในอนาคต

สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 มาจากไหน

โควิด-19 สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่แตกออกจากสายพันธุ์ XBB ที่มีการพบในประเทศสิงคโปร์, อินเดีย โดยสายพันธุ์ XBB ที่ระบาดในสิงคโปร์นั้น เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และส่งผลให้ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในสิงคโปร์พุ่งสูงขึ้น แต่ในสิงคโปร์กลับไม่พุ่งสูงขึ้นมากนัก ก่อนที่จะมีรายงานการพบสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ในสหรัฐฯ อีกครั้งในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2565

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์กันว่า สายพันธุ์ย่อย XBB เดิม ได้กลายพันธุ์เป็น XBB.1.5 ในสหรัฐฯ ภายหลังจากเชื้อสายพันธุ์ XBB เดิมได้เข้ามาระบาดในสหรัฐฯ และเกิดการกลายพันธุ์

ซึ่งในสหรัฐฯ มีรายงานการพบครั้งแรกทางพื้นที่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ก่อนที่จะการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว ซึ่งภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ สายพันธุ์ XBB.1.5 ก็ขึ้นแท่นเชื้อสายพันธุ์หลักที่พบการระบาดในสหรัฐฯ

โดยในขณะนี้ พบว่า XBB.1.5 คิดเป็น 40.5% ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่พบในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ นั้นพบสูงถึง 75% ของผู้ป่วยโควิด-19 ในบริเวณนี้ และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก

ความแตกต่าง-ความรุนแรงของ XBB.1.5

ซึ่งความแตกต่างระหว่าง XBB กับ XBB.1.5 นั้นไม่มากนัก โดยมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่ง F486P ทำให้เชื้อ XBB.1.5 สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ดี และสามารถจับกับเซลล์ได้ดี ทำให้กลายเป็นข้อได้เปรียบของเชื้อในสายพันธุ์ย่อยนี้ ที่สามารถแพร่กระจายได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ทำให้มีการระบาดอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ และส่งผลให้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้ พบว่า วัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ชนิดสองสายพันธุ์ (โอมิครอน) นั้นสามารถช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และรับมือกับเชื้อสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ได้ดีกว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เดิม

ประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้น ชนิดสองสายพันธุ์ เทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแบบเดิม จำนวน 1 – 2 เข็ม และการติดเชื้อร่วม
(ภาพ – Center for Medical Genomics )

ผู้เชี่ยวชาญในหลายประเทศให้ข้อมูลตรงกันว่า แม้ว่าวัคซีนโควิด-19 ที่มีการใช้งานกันอยู่ในหลายประเทศ จะเป็นวัคซีนพื้นฐานมาจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบครั้งแรกก็ตาม แต่ยังคงมีประสิทธิภาพเพียงพอ ในการที่จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ แม้จะมีประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันการติดเชื้อได้น้อยกว่าเดิมก็ตาม

สำหรับความรุนแรงของเชื้อในสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นั้น แม้ว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาตัวในสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นนั้น เป็นเหตุผลมาจากการที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ได้หมายความเชื้อในสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ

นักระบาดวิทยาบางรายระบุว่า การที่เชื้อไวรัสมีความสามารถในการแพร่กระจายที่เร็วขึ้น นั่นหมายถึงการที่เชื้ออาจจะต้องแลกเปลี่ยนประสิทธิภาพบางอย่างเช่น ความรุนแรงของโรคที่น้อยลง ซึ่งหวังว่า XBB.1.5 นี้ จะเป็นไปในทิศทางนั้นเช่นกัน ที่จะมีความรุนแรงที่น้อยลง

ทางด้านของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ความรุนแรงของโรค ที่เกิดจากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นั้นไม่ต่างจาก XBB* อื่นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ดื้อต่อยาฉีดสร้างภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปทุกชนิดที่หลายประเทศมีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

และองค์การอนามัยโลก ก็ยังคงอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมถึงความรุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 นี้ต่อไป

การป้องกันส่วนบุคคล

แม้ว่าโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 จะเป็นสายพันธุ์ที่พบใหม่และมีความสามารถในการแพร่กระจายได้เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็ตาม แต่การป้องกันส่วนบุคคลนั้นยังคงใช้การได้ดี โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่มีบุคลากรด้านสาธารณสุขจำนวนไม่น้อยที่ออกมาเรียกร้องให้ รัฐบาลสหรัฐฯ ออกคำแนะนำในการปฏิบัติตัวกับประชาชนมากกว่านี้ เช่น

ดังนั้น แม้ว่าในขณะนี้ ยังคงไม่มีรายงานการพบสายพันธุ์ XBB.1.5 ในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เชื้อสายพันธุ์นี้จะไม่ระบาดมายังประเทศไทย ซึ่งมาตรการการป้องกันส่วนบุคคลอย่างการสวมหน้ากากอนามัย การเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง เช่น ห้องที่ปิดทึบ มีคนอยู่กันหนาแน่น เป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นให้ครบถ้วน ยังคงช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคได้

และหากมีอาการป่วย หรือไม่สบาย ก็สามารถใช้ชุดตรวจ ATK ที่มีอยู่ในขณะนี้ตรวจหาเชื้อได้เช่นเดิม ไม่มีความแตกต่างจากเชื้อในสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ที่พบมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง