KEY :
- คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- เพื่ออุดช่องว่างกรณีสถานศึกษาบังคับนักเรียนที่ตั้งครรภ์ย้ายสถานศึกษาโดยไม่เต็มใจ โดยเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้ได้มีสิทธิในการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
- ในปี 2564 อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี อยู่ในระดับคงที่ ร้อยละ 0.9 ต่อพันประชากร อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เหลือร้อยละ 24.4 ต่อพันประชากร
ปัญหาท้องในวัยเรียน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หน่วยงานภาครัฐ พยายามเร่งแก้ไขอย่างต่อเนื่องตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่กระทบต่อกันเป็นทอด ๆ ไม่ว่าจะตัวของเด็กที่ท้องก่อนวัยอันควร จำเป็นต้องหยุดเรียนเสียโอกาสทางด้านการศึกษาตามช่วงวัย กระทบไปถึงปัญหาครอบครัว ฐานะของแต่ละครอบครัว รวมถึงค่าใช่จ่ายที่อาจเกินกำลังด้วยอายุที่ยังน้อยส่งผลไปถึงบุตร
หรือแม้แต่สภาพร่างกายของเด็กที่ท้องก่อนวัยอันควร ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะครรภ์เป็นพิษ และความเสี่ยงทางร่างกายที่อาจตามมา ล้วนแล้วแต่เป็นผลเสียและผลกระทบที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากขาดความรู้ วุฒิภาวะ อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ หนุ่ม – สาว จนเกิดความผิดพลาดที่ตามมา
แม้ตัวเลขสถิติการท้องในวัยเรียน ณ ปัจจุบันจะมีแนวโน่มลดลง แต่ก็ยังคงต้องมีมาตรการป้องกัน ควบคู่ไปกับกฎระเบียบต่าง ๆ ของทางกระทรวง เพื่อไม่ให้เป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้
ซึ่งล่าสุดทางคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่ออุดช่องว่างกรณีสถานศึกษาบังคับนักเรียนที่ตั้งครรภ์ย้ายสถานศึกษาโดยไม่เต็มใจ โดยเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้ได้มีสิทธิในการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ
ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 7 แห่งกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2561 โดยให้เพิ่มเติมว่า “การย้ายสถานศึกษาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์” เพื่อเป็นการคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้มีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
ซึ่งในปี 2561 ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2561 อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ข้อ 7 ว่า “สถานศึกษาตามข้อ 2 ที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษาต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการเป็นการย้ายสถานศึกษา”
แต่ร่างกฎกระทรวงใหม่นี้จะเพิ่มเติมเป็น “สถานศึกษาตามข้อ 2 ที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษาต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการเป็นการย้ายสถานศึกษาตามเจตนารมณ์ของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์”
สติถิการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
ในปี 2564 อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี อยู่ในระดับคงที่ ร้อยละ 0.9 ต่อพันประชากร อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เหลือร้อยละ 24.4 ต่อพันประชากร ส่วนอัตราการคลอดซ้ำในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน เหลือร้อยละ 7.7 ขณะที่การคุมกำเนิดด้วยวิธีสมัยใหม่
ในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งหากดูเทียบสถิติในปี 2562 อัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี พ.ศ. 2562 เท่ากับ 1.1 ต่อพัน อัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี พ.ศ. 2562 เท่ากับ 31.3 ต่อพัน
ปัจจุบันจึงกำหนดค่าเป้าหมายใหม่ในการลดอัตราคลอดในวัยรุ่น ช่วง พ.ศ. 2566-2570 โดยอัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี จากเดิมไม่เกิน 25 ต่อพันประชากร ภายในปี 2569 ลดลงเป็น ไม่เกิน 15 ต่อพันประชากร ภายในปี 2570 และให้คงค่าเป้าหมายอัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10 – 14 ปี ตามเดิมคือ ไม่เกิน 0.5 ต่อพันประชากรภายในปี 2570 ซึ่งจะมีการเสนอที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาและอนุมัติต่อไป
แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ
ในที่ประชุมเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2565 นำโดยกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุนษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2570 (ฉบับทบทวน พ.ศ. 2565) ภายใต้วิสัยทัศน์ “วัยรุ่นมีความรู้ด้านเพศวิถีศึกษา มีทักษะชีวิตที่ดีสามารถเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรเป็นส่วนตัว รักษาความลับ และได้รับสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาค พร้อมกำหนดพันธกิจ และประเด็นการพัฒนายุทธศาสตร์ 5 ประเด็น คือ
- 1) การพัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษา และทักษะชีวิตที่มีคุณภาพและมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม
- 2) การส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการในการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น การเลี้ยงดูบุตรหลาน และการสร้างสัมพันธภาพ
- 3) การพัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร
- 4) การพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น
- 5) การบูรณาการฐานข้อมูล การวิจัย การจัดการความรู้ และนวัตกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
โดยมอบหมายให้กระทรวงที่เป็นเจ้าภาพยุทธศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนร่างเนื้อหา และส่งกลับมายังฝ่ายเลขานุการ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อมูล :
- กระทรวงสาธารณสุข