ช่วงฤดูฝนย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ‘มือ เท้า ปาก’ (Hand Foot Mouth disease) เป็นอีกหนึ่งโรคระบาดที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญใสใจในการดูแลบุตรหลานเป็นพิเศษ เนื่องจากโรคดังกล่าวสามารถติดต่อกันได้โดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อาจจะยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บทความให้ความรู้ โดย พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช รวบรวมและอธิบายไว้อย่างเข้าใจง่าย เพื่อทำให้ทุกท่านได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ไปดูแลคนใกล้ชิด
สาเหตุ โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มชื่อ Enterovirus โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย คือ Coxsackievirus A16 และ Enterovirus 71 กลุ่มเสี่ยงที่พบติดเชื้อได้บ่อย คือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้าง กรณีติดเชื้อชนิดรุนแรง ที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และสมองอักเสบได้ในเด็กเล็ก
การระบาดของโรคนี้คือ ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว
โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อกันโดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง จากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ ในเด็กมักพบว่าติดต่อกันจากการสัมผัสของเล่น พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อบนมือของผู้เลี้ยงดู
สถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค
ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล และสนามเด็กเล่นโดยเฉพาะในร่ม
อาการและการแสดงของโรคที่สำคัญ คือ
- เริ่มจากอาการไข้ ซึ่งอาจจะไข้ต่ำหรือไข้สูงก็ได้ และมีแผลในปาก มีผื่นที่มือที่เท้า
- โดยแผลในปาก พบได้ตั้งแต่บริเวณของเพดานปาก กระพุ้งแก้มหรือที่ลิ้น เป็นเยอะก็จะลามออกมาที่ริมฝีปากรอบ ๆ ได้
- ผื่นที่มือหรือเท้าจะเป็นตุ่มแดง ๆ หรือปนตุ่มน้ำใส ๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า ในเด็กเล็กอาจมีที่รอบ ๆ ก้นได้ด้วยเช่นกัน
ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ให้ยาโดยรักษาตามอาการ
ปัจจุบัน โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาอาการทั่ว ๆ ไป ตามแต่อาการของผู้ป่วย เช่น
- ไข้สูง ให้ยาลดไข้ตามอาการ เฝ้าระวังภาวะชักจากไข้สูงในเด็กเล็ก
- เจ็บคอ เจ็บแผลในปากมาก รับประทานอะไรไม่ได้ ผู้ป่วยที่ดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ให้พยายามป้อนน้ำ ให้สารน้ำอื่น ๆ เช่น นมและอาหารอ่อน
- ในเด็กที่มีอาการเพลียมาก จนมีภาวะขาดน้ำอาจจำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด
- อาการคัน ให้กินยาแก้แพ้ แก้คัน เพื่อบรรเทาอาการได้ หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก
- ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อน
บทความแนะนำ
- โรคฉี่หนู ในหน้าฝน หากอาการรุนแรง เสี่ยงเสียชีวิต
- ระวัง! โรคติดเชื้อ RSV ในเด็ก อาการเริ่มแรกเหมือนไข้หวัดทั่วไป
- 8 ผลไม้ป้องกันภูมิแพ้ ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ให้ร่างกายแข็งแรง