คัดลอก URL แล้ว
Office : ขีดสุด ‘มนุษย์เงินเดือน’ ของหนังโหดเกาหลีใต้!

Office : ขีดสุด ‘มนุษย์เงินเดือน’ ของหนังโหดเกาหลีใต้!

Office ไม่ใช่หนังธริลเลอร์เรื่องแรกที่ ฮองวอนชัน อยู่เบื้องหลัง ผลงานหนังลำดับก่อนๆ ที่เขาร่วมเขียนบท ไม่ว่าจะเป็น The Chaser (2008, นาฮงจิน) The Yellow Sea (2010, นาฮงจิน) และ Confession of Murder (2012, จองบยองกิล) ก็ล้วนเป็นธริลเลอร์ และจุดที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ทั้งหมดนั้นเป็นความพยายามกะเทาะด้านมืดอันแสนป่วยไข้ของสังคมเกาหลี ผ่านตัวละครชนชั้นล่าง ภายใต้โจทย์หนังเขย่าขวัญทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับ Office งานล่าสุดที่ฮองพลิกบทบาทจากคนเขียนบทมากุมบังเหียนกำกับหนังเองเป็นครั้งแรก และเล่นกับการตีแผ่ด้านอัปลักษณ์ของสังคมเหมือนเคย -ไม่ใช่กับสังคมเมืองใหญ่ แต่เป็นสังคมออฟฟิศที่แม้ภายนอกจะดูสะอ้านปราศจากมลทิน แต่เนื้อในกลับเต็มไปด้วยความบิดเบี้ยวทั้งทางมนุษยธรรมและศีลธรรม ตัวหนังโดดเด้งอย่างยิ่งในแง่การสร้างความสะเทือนขวัญและเย้ยหยันระบบชนชั้นในออฟฟิศได้สมจริง จนได้ตระเวนฉายตามเทศกาลต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงคานส์ครั้งที่ 68 สาย Midnight Screening เคียงคู่กับ Amy สารคดีชีวิตของนักร้องสาว เอมี ไวน์เฮาส์ (2015, อาซิฟ คาพาเดีย) และหนังสามมิติสุดแรงอย่าง Love (2015, กัสปาร์ โน)

 

 

คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ต้องรับมือกับเรื่องชวนหงุดหงิดระหว่างวันทั้งจากเจ้านายจู้จี้ เพื่อนร่วมงานขี้เม้าธ์ หรือกระทั่งแม่บ้านจอมสู่รู้ …แม้แต่พนักงานผู้สุดแสนอุทิศตนแห่ง ‘ทีมขาย 2’ ของบริษัทชื่อดังอย่าง คิมบยองกุก (รับบทโดย แบซองวู) ยังต้องเผชิญกับวันห่วยแตกในออฟฟิศ ซึ่งนำเขาไปสู่การระเบิดความโกรธแค้นเกินคาดใส่ลูกเมียแท้ๆ ของตนอย่างโหดเหี้ยม ก่อนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ร้อนถึงนายตำรวจสืบสวน จองฮุน (ปักซองวุง) ที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาคลี่คลายคดี โดยเริ่มจากสอบปากคำบรรดาเพื่อนร่วมงานของคิมที่ออฟฟิศ ทว่าทุกคนดูเหมือนจะปิดบังความลับบางอย่างไว้ รวมถึงพนักงานฝึกหัดนาม ลีมิเร (รับบทโดย โคอาซุง จาก The Host, Snowpiercer) ผู้แม้จะสนิทสนมกับคิมที่สุดก็ยังไม่สามารถปริปากให้การ เพราะถูกเพื่อนร่วมงานตำแหน่งสูงกว่าห้ามเปิดเผยข้อมูล ‘ภายใน’ แก่ตำรวจ

แต่ยิ่งจองฮุนถลำลึกมากเท่าไร เขาก็ยิ่งพบความจริงว่าสังคมในออฟฟิศแห่งนี้เต็มไปด้วยความบ้าคลั่งขนาดไหน และยิ่งวัน ชะตาของพนักงานออฟฟิศที่เหลืออยู่ก็ยิ่งแขวนอยู่บนเส้นด้าย ทุกคนต่างหวาดผวาว่าสิ่งที่ตนเองก่อไว้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจจะย้อนกลับมาล้างแค้นเป็นโบนัสส่งท้ายอย่างน่าสยดสยอง!

 

 

มองในแง่หนังธริลเลอร์/สยองขวัญ พล็อตข้างต้นอาจทำให้ Office ดูเป็นเพียงหนังสืบสวนธรรมดาๆ ที่ผสมความเป็นหนังสยองขวัญ แต่แท้จริงแล้ว แกนสำคัญของมันไปไกลเกินกว่าหนังธริลเลอร์เรื่องอื่นๆ มาก “ผมรู้สึกว่าหนังตระกูลธริลเลอร์ส่วนใหญ่มักนำเสนอเรื่องราวที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไร และมุ่งเน้นไปที่การสร้างความระทึกขวัญโดยละเลยที่จะถ่ายทอดปัญหาสังคมใกล้ตัว” ผู้กำกับฮองวอนชันอธิบาย “ตอนอ่านบทครั้งแรก ผมก็รู้สึกว่าหนังสามารถสร้างความลุ้นระทึกและขณะเดียวกันก็ตีแผ่และวิพากษ์ปัญหาสังคมเกาหลีปัจจุบันได้ร้ายกาจมากๆ”

ชอยยุนจิน โปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้เป็นผู้ร่างบทต้นฉบับด้วยตัวเอง โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวในการทำงานกับองค์กรขนาดยักษ์ ก่อนที่ฮองจะมาขัดเกลาบทให้กลมกล่อมขึ้น “การเป็นคนเขียนบทมาก่อนช่วยผมเยอะเลยช่วงแก้บทหนัง หลังจาก The Chaser (ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่เขาร่วมเขียน) ผมก็วนเวียนอยู่กับอีกสามสี่โปรเจ็กต์และได้เรียนรู้องค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างหนัง แล้วยังโชคดีที่ได้ร่วมงานกับผู้กำกับมือใหม่ มันสำคัญมากเลยนะที่ได้เห็นพวกเขาเติบโตและทำงานเคียงคู่ไปด้วยกัน”

 

 

เพราะมีฉากหลังเป็นออฟฟิศ ผกก.จึงตัดสินใจให้ฆาตกรใช้อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานทั้งหลายเป็นอาวุธซะเลย “ผมแค่อยากโชว์ให้เห็นว่าไอ้สิ่งที่เราใช้อยู่ทุกวันจะเป็นภัยคุกคามเราได้อย่างไร ตอนอยู่กอง ผมมองไปที่อุปกรณ์เหล่านั้น พลางคิดไปว่า ‘ให้ตายสิ คงเจ็บน่าดูถ้าโดนเล่นงานด้วยที่เย็บกระดาษ!’”

 

 

ฮองเสริมอีกว่า ออฟฟิศคือระบบสังคมซึ่งเปรียบ ‘การทำงาน’ เทียบเท่า ‘การดิ้นรนเอาชีวิตรอด’ และ ‘การถูกไล่ออก’ ก็ไม่ต่างจาก ‘ความตาย’ …ดังที่เรารู้กันว่า ประเทศเกาหลีใต้ขึ้นชื่อมากเรื่องการทำงานหนัก สังเกตได้จากสถิติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ประจำปี 2012 ที่ระบุว่า ชาวเกาหลีใต้ทำงานถึง 2,092 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเยอะเป็นอันดับสามของประเทศสมาชิก OECD (ชั่วโมงการทำงานของประเทศสมาชิกอื่นๆ เฉลี่ย 1,776 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น) สังคมมนุษย์เงินเดือนจึงเสมือนเกมที่เดิมพันด้วยความอยู่รอดในออฟฟิศ การได้เลื่อนตำแหน่งเปรียบได้กับการเคลียร์คู่แข่งไปทีละสเตจ ส่วนผู้พ่ายแพ้ก็ต้องระทมทุกข์จากความสิ้นหวังที่เอ่อล้นจนข้ามขอบเขตของความตึงเครียดไปหลายเท่า

ยิ่งกว่านั้น ระบบการทำงานในเกาหลีใต้ยังเต็มไปด้วยการดูถูกเหยียดหยามและกดขี่คนที่ด้อยตำแหน่งกว่า เนื่องจากบุคคลมากอำนาจชอบเล่นระบบการเมืองในองค์กรนั่นเอง “หลังจากสงครามเกาหลีสงบ เกาหลีใต้พัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วเป็นระยะเวลาสั้นๆ จนกระทั่งเกิดรัฐประหารขึ้น วัฒนธรรมทางการทหารมีอิทธิพลต่อสังคมและสถานทำงานอย่างมหันต์ คนเกาหลีใต้จึงมีวัฒนธรรมก้มหัวทำตามผู้ที่มีอำนาจมากกว่าและพยายามเอาชั่วไปโทษคนอื่น นี่คืออิทธิพลห่วยๆ จากระบบทหารที่ส่งผลกระทบทั่วสังคม ไม่เพียงเฉพาะภายในองค์กร แต่ระบาดไปจนถึงภายในโรงเรียนด้วย”

 

 

การถูกข่มเหงและความเครียดที่ก่อตัวขึ้นระหว่างการเรียนและการทำงานอันหนักหน่วงนี่เองที่เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก “ก่อนเริ่มทำโปรเจ็กต์นี้ มีหลายๆ เหตุการณ์จริงที่เชื่อมโยงกับประเด็นสำคัญของเรื่อง เช่น มนุษย์เงินเดือนที่ฆ่ายกครัวก่อนจะฆ่าตัวตายตาม ซึ่งบางกรณีเขาอาจพยายามปลิดชีพตนเองด้วย แต่ไม่สำเร็จ” ฮองเล่า “นอกจากนี้ ยังมีคดีพนักงานออฟฟิศก่อเหตุแทงเพื่อนร่วมงานกลางที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อเราลองมองเข้าไปในปัญหาเหล่านี้ก็จะพบว่า มันแสดงถึงสภาพวัฒนธรรมองค์การที่ผันผวนปรวนแปร และเราก็ได้เห็นว่ามันกัดกร่อนและโหดร้ายต่อความเป็นมนุษย์มากเพียงใด”

 

ติดตามรับชม

Office พนักงานดีเดือด
วันพุธที่ 22 กรกฎาคม เวลา 23.20 น. ทางช่อง MONO29

สามารถชมทางออนไลน์ได้ที่ : https://mono29.com/livetv

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
: https://movie.mthai.com/

 

 


Movie & Series Talk