ในวันพรุ่งนี้ ( 14 พ.ค. ) จะเป็นวันเลือกตั้ง ที่ประชาชนจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งดังนั้นในคืนนี้จึงจะมีคำเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “คืนหมาหอน” ซึ่งเป็นคำที่คอการเมืองใช้เรียกกันมาอย่างยาวนาน
…
ที่มาของคำว่า “คืนหมาหอน”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการเมืองไทย และการเลือกตั้ง ปัญหาของการซื้อเสียงยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องทั้งจริงและไม่จริง ผสมปนเปกันไปตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่สิ่งที่แน่นอนคือ “ความพยายามในการซื้อเสียง” ยังคงมีอยู่
โดยการซื้อเสียงมักจะมีหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นกันในช่วงโค้งสุดท้าย ในอดีตที่ยังไม่มีโทรศัพท์ การซื้อเสียงก็มันจะเกิดขึ้นจากหัวคะแนนในพื้นที่ ตระเวนเดินทางไปยังบ้านต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เพื่อ “หาซื้อเสียง” จากประชาชน
ส่วนมากจะเน้นการนับหัวในบ้าน เช่น คะแนนเสียงละ 300 บาท หากในบ้านมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 3 คน ก็จะมีการจ่ายเงินให้ 900 บาท เป็นต้น ซึ่งการซื้อเสียงมักจะเกิดขึ้นอย่างมากในคืนก่อนวันเลือกตั้ง เนื่องจาก
- ช่วยให้คนไม่ลืมเบอร์ที่จะต้องกา หากซื้อล่วงหน้าเป็นเวลานาน โอกาสกาพลาดก็สูง
- มีโอกาสในการ “เกทับ” หัวคะแนนรายอื่นที่มาซื้อเสียงก่อนหน้านี้
- หลายบ้านที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกนโยบาย ก็ทำให้เปลี่ยนใจได้ง่ายขึ้น
- ผลสำรวจคะแนนเสียงยังไม่เข้าเป้าต้องเร่งทำยอด
- ฯลฯ
นั่นทำให้การซื้อเสียงจึงมักเกิดขึ้นในคืนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง และเกิดขึ้นในช่วงเย็น-ดึก ซึ่งการเดินทางไปซื้อเสียงตามบ้านต่าง ๆ ของหัวคะแนน ก็จะส่งผลให้มีเสียงหมาเห่า หรือหมาหอน เกิดขึ้น
โดยในอดีต บ้านเรือนประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดไม่ได้อยู่กันอย่างหนาแน่นเหมือนเช่นปัจจุบัน เมื่อมีหมาบ้านหนึ่งเห่า ส่งเสียงดัง หมาของบ้านอื่นในหมู่บ้านได้ยิน ก็จะเห่า หรือหอนตามกันไปเป็นทอด ๆ
และนั่น ก็ทำให้คนในบ้านต้องลุกออกมาดูว่า หมาเห่า – หอนอะไร นำไปสู่การซื้อเสียงเพื่อวัดดวงครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง อุดรูรั่วของคะแนนเสียงเลือกตั้งที่หายไปนั่นเอง
…
การรันตีคืนหมาหอน
หลายครั้งที่ คืนหมาหอนจบลงด้วยความไม่สำเร็จ ยอดคนลงคะแนนไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากหัวคะแนนอีกฝ่ายหนึ่งมาเกทับ หรือจ่ายหนักกว่า หรือ คนเลือกรับเงินและไม่กาบัตรให้
การซื้อเสียงในคืนหมาหอนจึงพัฒนาขึ้นเพื่อ “การันตียอด” ผ่านการ “ขอเก็บบัตรประชาชน” เอาไว้ก่อน และเมื่อถึงเวลาเปิดหีบเลือกตั้ง “จะมีรถมารับ” ไปเลือกตั้ง
การดำเนินการแบบนี้ส่งผลให้ คะแนนเสียงที่ซื้อมา เป็นไปตามเป้ามากกว่าแบบเดิม เนื่องจาก
- เมื่อหัวคะแนนรายอื่นมาที่หลัง ก็จะซื้อเสียงได้ยากขึ้น มีความไม่มั่นใจมากขึ้นที่จะจ่ายเงิน
- การมีรถมารับ แจกบัตรประชาชนคืน ช่วยให้ผู้ที่ขายเสียงให้มีความเกรงใจ และกลัวว่า หากไม่กาเบอร์ที่ให้เงิน หัวคะแนนจะรู้
- หัวคะแนนสามารถย้ำเบอร์ผู้สมัครได้อีกครั้งก่อนเข้าหน่วยเลือกตั้ง ทำให้โอกาสกาผิดน้อยลง
แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องออกกฎมาล้อมคอกปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ โดยมีการระบุเป็นข้อห้ามไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ห้ามไม่ให้มีการจัดยานพาหนะขนคนไปเลือกตั้ง
…
หนึ่งในสาเหตุ “ห้ามจำหน่าย – จ่ายแจก – จัดเลี้ยงสุรา”
แน่นอนว่า หลายครั้งใน “คืนหมาหอน” หัวคะแนนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตที่มีพื้นที่กว้าง ๆ ไม่สามารถเดินทางไป “ซื้อเสียง” ได้ทัน ควบคู่กับบางครั้งก็ถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่การเสียงที่จะพบกับ “หัวคะแนนพรรคคู่แข่ง”
การจัดเลี้ยงสังสรรค์ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เลี่ยงข้อกำหนด โดยอ้างว่า เป็นเพียงการจัดเลี้ยงสังสรรทั่วไป ไม่ใช่การซื้อเสียง มีแพงการแจ้งจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่มิได้มีการจ่ายเงินแต่อย่างใด
ซึ่งส่วนมากในระยะหลังมักพบวิธีการนี้ กับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ไม่ได้มี “กระสุนเงิน” มากพอในการแจกรายหัว และเป็นช่องทางเลี่ยงข้อกฎหมายที่ดี ไม่ต้องทำลับ ๆ ล่อ ๆ นั่นจึงกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางเลี่ยง และนำไปสู่การออกกฎหมายห้าม ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
พจนานุกรมก็มีระบุไว้
คำว่า “คืนหมาหอน” มีใช้กันอย่างต่อเนื่องในทุกการเลือกตั้ง ทุกระดับ และใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีการระบุคำนี้ไว้ในพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในปี 2552 โดยระบุว่า คำว่า “คืนหมาหอน” เป็นคำนาม หมายถึง
“คืนสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งซึ่งหัวคะแนนเดินไปตามบ้านต่าง ๆ เพื่อจ่ายเงินซื้อเสียง”
…
โลกดิจิทัลที่หมาไม่หอน
ในยุคหลังค่ำคืนหมาหอน ค่อย ๆ จางหายไป เพราะไม่ได้มีหัวคะแนนตระเวนเดินสายเฉกเช่นในอดีตอีกแล้ว การติดต่อสื่อสารต่าง ๆ ทำได้ง่าย หลายช่องทาง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่หัวคะแนนจะต้องไปนั่งกินกาแฟตอนเช้าในตลาด นั่งร้านข้าวแกง หรือร้านตัดผม ฟังและประเมินคะแนนเสียงในพื้นที่ เพื่อดูว่า ฐานเสียงเป็นอย่างไร
ก่อนเข้าไปติดต่อ ทาบทามผู้กว้างขวาง หรือผู้เป็นที่รู้จัก พร้อมกับนำธนบัตรใบร้อย ใบ 20 บาท มานั่งเย็บแม็กติดบัตรแนะนำตัวผู้สมัครเอาไว้ไปเดินสายแจก
นอกจากนี้ คืนหมาหอน ยังคงรุนแรงขึ้นตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่แข่งขันสูง หมาจึงไม่หอนเพียงอย่างเดียว แต่ “เห่า” ไปถึงเช้าวันลงคะแนน ผ่านการขนคนไปลงคะแนน กาแล้วมารับเงิน เป็นต้น ดังนั้นหัวคะแนนที่มี “กระสุนเงิน” จึงมักเป็นคนในพื้นที่ที่กว้างขวาง เป็นที่รู้จักดี และได้รับความไว้วางใจ
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้น การซื้อเสียงในแบบเก่าก็เริ่มทำได้ยากขึ้น เมื่อทุกคนมีกล้องมือถือพร้อมถ่ายเก็บไว้ได้ตลอด ดังนั้น ผู้ที่ “ถือกระสุนเงิน” เหล่านี้ จึงต้องหาวิธีการอื่น ๆ มาแทน
ในทางเลี่ยงที่เกิดขึ้นคือ “ผลประโยชน์ต่างตอบแทน” โดยหัวคะแนนจะยื่น “ข้อเสนอ” ที่มีประโยชน์ต่อหมู่บ้าน ชุมชน โดยแลกกับคะแนนเสียงแบบรายหัว ชุมชนนี้มี 100 เสียง หากเสียงละ 500 ก็จะคิดเป็นมูลค่า 50,000 บาท โดยหากได้คะแนนเสียงตามเป้า ก็จะนำเงินกลับมาสร้าง หรือพัฒนาพื้นที่ในมูลค่าดังกล่าว เป็นต้น
“หากคะแนนดี ลูกพี่จะพาทัวร์” ซึ่งก็ไม่ต่างกัน โดยอาศัยการสนับสนุนแกนนำในพื้นที่ ผ่านการพาทัวร์, เจ้าภาพกองกฐิน, การสนับสนุนช่วยงานแต่ง งานบวชต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วแต่เข้ามาเอี่ยวในประเด็นเหล่านี้ เพื่อเป็นช่องทางเลี่ยงการตรวจสอบที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ซึ่งยังไม่รวมถึงการหาเสียงผ่านกลุ่มเงินกู้นอกระบบ ที่ใช้การลดหนี้รายวัน จ่ายหนี้รายวันแทนให้ หรือแม้แต่การเลี่ยงไปใช้การแจกคูปองเติมน้ำมัน ซื้อปุ๋ย หรือแม้กระทั่ง เติมเงินในโทรศัพท์ผ่านตู้อัตโนมัติต่าง ๆ
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ช่องทางที่แยบยลมากกว่าการเย็บแบงค์ติดบัตรหมายเลขเฉกเช่นในอดีต
…
ดังนั้นในทุกครั้งของการเลือกตั้ง การซื้อเสียงก็จะมีข่าวต่าง ๆ ออกมาอย่างหนาหู ยิ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีข่าวลือว่า บางพื้นที่จ่ายหนักเป็นหลักพันก็มี แต่ก็ยังหาหลักฐานที่ยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ได้
แต่ไม่ว่า ผู้ซื้อเสียงจะพยายามสักเท่าไหร่ ก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร หากคนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้ง มองถึงผลประโยชน์-ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าไปทำหน้านี้ของนักการเมืองเหล่านั้น
และนั่น การซื้อเสียงก็จะค่อย ๆ จางหายไป