คัดลอก URL แล้ว
เปิดแหล่งเงินกู้ติดโซลาร์เซลล์ บ้านแต่ละขนาดใช้แผงโซลาร์เซลล์เท่าไหร่?

เปิดแหล่งเงินกู้ติดโซลาร์เซลล์ บ้านแต่ละขนาดใช้แผงโซลาร์เซลล์เท่าไหร่?

การติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ เป็นสิ่งที่หลายคนเลือกใช้และสนใจติดตั้งในปัจจุบัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายระยะยาว และหนุนใช้พลังงานทดแทนลดปัญหาโลกร้อนได้อีกด้วย ล่าสุด ธนาคาร “ออมสิน” เปิดให้กู้ติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ หนุนใช้พลังงานทดแทนลดปัญหาโลกร้อน ลดค่าใช้จ่ายระยะยาว ดอกเบี้ยคงที่ต่ำสุด 1.99 % เงินงวดผ่อนต่ำแสนละ 199 บาท

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2566 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินออกสินเชื่อ GSB Go Green เพื่อสนับสนุนเงินทุนติดตั้งและซื้ออุปกรณ์สำหรับบุคคลธรรมดา ในภาวะที่ต้องเผชิญปัญหาค่าไฟฟ้าครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และสินเชื่อ GSB for BCG Economy เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการลงทุนด้านพลังงานทดแทน

โดยสินเชื่อ GSB Go Green สำหรับผู้กู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา อายุ 20 ปี และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาชำระเงินกู้ต้องไม่เกิน 70 ปี เพื่อติดตั้งหรือซื้ออุปกรณ์ที่ช่วยลดมลภาวะ เช่น Solar cell, Solar rooftop

นอกจากนี้ นอกจากธนาคารออมสินแล้ว เมื่อปี 2565 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปิดตัวสินเชื่อใหม่ “สินเชื่อโซลาร์รูฟท็อป” วงเงินกู้ 100% หนุนผู้ประกอบการ SMEs-ลูกค้าบุคคลด้วยสินเชื่อกรุงศรีโฮมฟอร์แคช ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้รับเงินทุนที่เพียงพอเพื่อติดตั้งหลังคาโซลาร์รูฟในที่พักอาศัยอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสำรวจการให้บริการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ จากที่ต่างๆ อีกด้วย อาทิ จาก SCG เป็นระบบหลังคาโซลาร์ เอสซีจี พร้อมบริการครบวงจร ค่าบริการขั้นต่ำ เริ่มต้น 119,000 บาท ราคารวมค่าระบบโซล่าร์ ค่าติดตั้ง และการดำเนินการขออนุญาตหน่วยงานรัฐทั้งหมด รับประกันการติดตั้ง 1 ปี (ฟรีค่าบำรุงรักษา), รับประกันการผลิตไฟของแผงโซลาร์ 25 ปี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังมีบริษัท Power Creation บริษัทรับติดตั้งโซล่าเซลล์แบบครบวงจรที่รับติดตั้งโซลาร์เซลล์ ผ่อนได้ ตัวอย่างเช่น ชุด 3 กิโลวัตต์ ราคาเริ่มต้นที่ 135,000 บาท ผ่อนนานสูงสุด 84 เดือน

นอกจากนี้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดบ้านเป็นหลัก โดยข้อมูลจากธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เบื้องต้นจะอยู่ตั้งแต่ 80,000 – 100,000 บาทสำหรับระบบ 3 กิโลวัตต์เหมาะกับบ้านขนาดเล็กถึงกลาง ช่วยประหยัดไฟได้เดือนละประมาณ 1,500 บาท สำหรับระบบ 5 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นขนาดที่นิยมสำหรับบ้านขนาดใหญ่ขึ้น หรือโฮมออฟฟิศขนาดเล็กจะอยู่ประมาณ 120,000 – 200,000 บาท ประหยัดไฟได้ประมาณ 2,500 – 3,000 บาทต่อเดือน ส่วนระบบ 10 กิโลวัตต์ จะอยู่ประมาณ 250,000 – 350,000 บาท ช่วยประหยัดไฟได้ถึง 6,000 บาทต่อเดือน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง