KEY :
- ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือยังคงวิกฤติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณฝุ่นในภาพรวมลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
- ส่วนใหญ่ในภาคเหนือยังคงมีฝุ่นอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ที่ยังสูงต่อเนื่องหลายวันติดต่อกัน
- ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันที่กระแสลมพัดข้ามพื้นที่มาจากฝั่งประเทศลาว บริเวณแนวจังหวัด มุกดาหาร – อำนาจเจริญ – กาฬสินธุ์ – สกลนคร
- ภาคกลางส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 2-5 เม.ย. ที่การระบายอากาศจะอยู่ในเกณฑ์ “อ่อน-ดี” มีภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 สะสมตัวได้มากขึ้น
สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือยังคงอยู่ในระดับวิกฤติต่อเนื่อง จากปริมาณฝุ่นที่ยังคงสูงต่อเนื่อง โดยภาพรวมในวันนี้ แม้ว่า หลายจุดจะมีปริมาณฝุ่นลดลง แต่ส่วนใหญ่เป็นการลดลงเพียงไม่มากนัก และยังคงอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
จากรายงานการตรวจวัดปริมาณฝุ่นจากศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ ( 31 มี.ค.) พบว่า พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ซึ่งในระยะนี้ บริเวณภาคเหนือการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ “อ่อน-ดี” มีภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้นและอากาศไม่ยกตัว ทำให้ฝุ่นควันจะสามารถสะสมตัวได้ดี ซึ่งแนะนำให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 4 เม.ย. เนื่องจากการระบายอากาศจะทำได้น้อยลง อยู่ในเกณฑ์ “ไม่ดี”
สำหรับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในระยะนี้การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ “ดี-ดีมาก” อากาศมีการยกตัวสูงขึ้น การสะสมของฝุ่นควันมีแนวโน้มลดลง ทำให้ในหลายพื้นที่มีปริมาณฝุ่นลดลง แต่ยังคงมีบางจุดที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันข้ามพื้นที่ จากกระแสลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดฝุ่นควันจากทางฝั่งประเทศลาว เข้ามาบริเวณจ.อำนาจเจริญ มุกดาหาร ต่อเนื่องมาจากจ.กาฬสินธุ์ สกลนคร
ส่วนพื้นที่ภาคกลางในช่วง 31 มี.ค. – 1 เม.ย. นี้ การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ “ดี-ดีมาก” อากาศมีการยกตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ฝุ่นควันไม่สะสมตัวในพื้นที่ ทำให้อากาศอยู่ในเกณฑ์ดีเป้นส่วนใหญ่ แต่ยังคงให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 2-7 เม.ย. ที่การระบายอากาศจะอยู่ในเกณฑ์ “อ่อน-ดี” มีภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 สะสมตัวได้มากขึ้น
สำหรับภาคตะวันตกของประเทศ ยังคงเป็นผลกระทบมาจากการเผาทั้งในและนอกประเทศ ร่วมกับกระแสลมตะวันตกที่พัดฝุ่นควันเข้ามา
คุณอาจจะสนใจเรื่องนี้
– พื้นที่ปลอดภัยจาก PM 2.5 ไม่ถึง 1% และผู้ที่หายใจในอากาศที่ปลอดภัยมีเพียง 0.001% เท่านั้น
…
กรุงเทพฯ – ปริมณฑลสภาพอากาศดีต่อเนื่อง
พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สภาพอากาศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง แนวโน้มฝุ่น PM 2.5 ลดลงในระยะนี้ การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี มีสภาพอากาศเปิด มีลมใต้ที่มีกำลังแรง พัดฝุ่นควันไม่ให้สะสมตัวได้ แต่ในช่วงวันที่ 7 เม.ย. สภาพอากาศจะมีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์อ่อน จึงต้องเฝ้าระวังในช่วงดังกล่าว
…
10 จุดค่าฝุ่นสูงสุดในไทย
สำหรับ 10 จุดที่มีรายงานค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงที่สุดในประเทศเมื่อเวลา 08.00 น.จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่
จุดตรวจวัด | ปริมาณฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | รร.บ้านน้ำฮู ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน | 882 |
2 | รพ.สต.บ้านปางมะเยา ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 879 |
3 | รพ.สต.บ้านเมืองงาย ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 848 |
4 | ศาลากลางจ.แม่ฮ่องสอน ต.จองคำ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน | 783 |
5 | วัดบ้านดอนศรีสะอาด ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 737 |
6 | อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ต.บ้านเป้า อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ | 721 |
7 | บ้านสัน ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 719 |
8 | บ้านใหม่สามัคคี ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 711 |
9 | รพ.สันป่าตอง ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ | 704 |
10 | หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.5 (ปิงโค้ง) ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 686 |
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
…
จุดความร้อนลดลงต่อเนื่อง
จากรายงานจุดความร้อนที่พบเมื่อวานที่ผ่านมา ( 30 มี.ค. ) จาก GISTDA พบจุดความร้อนในภูมิภาคทั้งหมด 13489 จุด กลับมาเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1 หมื่นจุดอีกครั้ง โดยพบใน
- เมียนมาร์ 7,918 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 3,946 จุด)
- ไทย 2,963 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 2,870 จุด)
- ลาว 1,970 จุด (ลดลงจาก 2,139 จุด)
- กัมพูชา 356 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 195 จุด)
- เวียดนาม 237 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 205 จุด)
- มาเลเซีย 45 จุด (ลดลงจาก 53 จุด)
โดยจุดความร้อนในประเทศไทยนั้น ลดลงจากระดับกว่า 6 พันจุด เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน และกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งที่ระดับ 3 พันกว่าจุดอีกครั้ง ซึ่งในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีรายงานพบจุดความร้อนสูงที่สุด มีจำนวนทั้งหมด 2,467 จุด
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายงานพบจุดความร้อนสูงสุดได้แก่
จังหวัด | จำนวนจุดความร้อน | |
---|---|---|
1 | แม่ฮ่องสอน | 574 |
2 | เชียงใหม่ | 454 |
3 | เชียงราย | 332 |
4 | ตาก | 272 |
5 | กาญจนบุรี | 221 |
6 | น่าน | 202 |
7 | ลำปาง | 152 |
8 | แพร่ | 76 |
9 | พะเยา | 72 |
10 | เพชรบูรณ์ | 71 |