KEY :
- บริเวณภาคเหนือ ฝุ่น PM 2.5 ยังคงวิกฤติ หลายพื้นที่มีแนวโน้มของปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น
- โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมาตรวจวัดพบค่าฝุ่นมีปริมาณสูงกว่า 800 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
- ซึ่งสูงที่สุด เป็นจุดตรวจวัดที่ รพ.สต.บ้านปางมะเยา ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีปริมาณฝุ่นสูงถึง 1,004 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
…
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือยังคงอยู่ในระดับวิกฤติ แม้ว่า หลายพื้นที่จะเริ่มดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม แต่เป็นผลจากสภาพอากาศเปิด และมีการระบายอากาศที่ดีขึ้น ในช่วง 28 มี.ค. ซึ่งในวันนี้ ( 29 มี.ค. – 5 เม.ย.) สภาวะการระบายอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ จะกลับมาอยู่ในเกณฑ์อ่อน-ดี อีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงต้นเดือน เม.ย. รวมถึงยังคงมีสภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้นต่อเนื่องเกิดขึ้นอีกด้วย จึงคาดว่า สถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่ภาคเหนือจะยังคงอยู่ในระดับเกินค่ามาตรฐานต่อไปอีกระยะ
ซึ่งจากรายงานการตรวจวัดปริมาณฝุ่นจากศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ ( 29 มี.ค.) พบว่า
ที่จุด รพ.สต.บ้านปางมะเยา ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีปริมาณฝุ่นสูงถึง 1,004 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ในขณะที่ปริมาณฝุ่นที่ตรวจวัดได้ที่ รร.บ้านออน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบฝุ่นมาที่สุดในประเทศเมื่อวานที่ผ่านมา มีปริมาณฝุ่นพุ่งสูง โดยพบว่า มีปริมาณฝุ่นมากถึง 891 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
โดยใน 5 จุดที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุดในประเทศไทยเมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด และมีปริมาณฝุ่นสูงกว่า 700 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ 4 จุดพบว่า เป็นพื้นที่ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และมีปริมาณฝุ่นสูงกว่า 800 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ซึ่งแม้ว่า รายงานจุดความร้อนในประเทศเมียนมาร์จะลดลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงเกือบ 5 พันจุด ร่วมกับจุดความร้อนในพื้นที่ 17 จ. ภาคเหนืออีกกว่า 3 พันจุด ส่งผลให้ฝุ่นควันยังคงสะสมตัวอยู่ในพื้นที่
ส่วนบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในวันนี้ ยังคงใกล้เคียงกับเมื่อวานที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่มีการระบายอากาศดีขึ้น อากาศยกตัวสูงขึ้น มีฝนในบางพื้นที่ และในช่วงวันที่ 31 มี.ค. – 5 เม.ย. การระบายอากาศจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น จึงคาดว่า แนวโน้มของฝุ่น PM 2.5 จะดีขึ้น
แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง จากการที่ยังคงเกิดสภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น จึงยังคงทำให้ฝุ่นควันสามารถสะสมตัวได้
สำหรับในพื้นที่ภาคกลาง สภาพอากาศในวันนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี – ดีมาก จากสภาพอากาศเปิด กระแสลมใต้ที่มีกำลังค่อนข้างแรง ช่วยพัดฝุ่นควันให้กระจายออกไป และไม่สามารถสะสมตัวได้ อย่างไรก็ตามให้ระวังในช่วงวันที่ 3-5 เม.ย. ที่การระบายอากาศจะอยู่ในเกณฑ์อ่อนลง และจะทำให้ฝุ่นควันสามารถสะสมตัวได้เพิ่มขึ้น
คุณอาจจะสนใจเรื่องนี้
– พื้นที่ปลอดภัยจาก PM 2.5 ไม่ถึง 1% และผู้ที่หายใจในอากาศที่ปลอดภัยมีเพียง 0.001% เท่านั้น
…
กรุงเทพฯ – ปริมณฑลอยู่ในระดับเกณฑ์ดี
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อนเื่อง เนื่องจากสภาพอากาศเปิด การยกตัวของอากาศสูงขึ้น มีกระแสลมใต้ที่มีกำลังแรง ส่งผลให้ฝุ่นควันถูกพัดกระจายออกไป ไม่สามารถสะสมตัวได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3-5 เม.ย. อาจจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันทางด้านตะวันตกของพื้นที่
…
10 จุดค่าฝุ่นสูงสุดในไทย
สำหรับ 10 จุดที่มีรายงานค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงที่สุดในประเทศเมื่อเวลา 08.00 น.จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่
จุดตรวจวัด | ปริมาณฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | รพ.สต.บ้านปางมะเยา ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 1,004 |
2 | รร.บ้านออน จ.เชียงใหม่ | 891 |
3 | บ้านหัวโท ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 888 |
4 | บ้านปางโม่ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 816 |
5 | บ้านแพะ ต.บ้านเป้า อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ | 745 |
6 | รร.ชุมชนวัดช่อแล ต.ช่อแล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ | 711 |
7 | รร.บ้านน้ำฮู ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน | 679 |
8 | ศาลากลางจ.แม่ฮ่องสอน ต.จองคำ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน | 677 |
9 | วัดบ้านดอนศรีสะอาด ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 657 |
10 | บ้านหัวโท ม. 6 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 649 |
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
…
จุดความร้อนลดลงต่อเนื่อง
จากรายงานจุดความร้อนของ GISTDA พบว่า ในภูมิภาคมีจำนวนจุดความร้อนลดลงต่อเนื่อง โดยพบส่วนใหญ่พบใน
- เมียนมาร์ 4,894 จุด (ลดลง จาก 6,877 จุด)
- ลาว 4,548 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 4,076 จุด)
- ไทย 4,433 จุด (ลดลงจาก 5,396 จุด)
- กัมพูชา 701 จุด (ลดลงจาก 739 จุด)
สำหรับในประเทศไทยนั้นลดลงไปเกือบหนึ่งพันจุด ซึ่งจากจำนวนทั้งหมดนั้น พบในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ 3,667 จุด ที่เหลือกระจายกันอยู่ในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ บริเวณภาคตะวันตก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายงานพบจุดความร้อนสูงสุดได้แก่
จังหวัด | จำนวนจุดความร้อน | |
---|---|---|
1 | แม่ฮ่องสอน | 588 |
2 | น่าน | 569 |
3 | เชียงใหม่ | 488 |
4 | ตาก | 379 |
5 | เชียงราย | 325 |
6 | ลำปาง | 234 |
7 | เลย | 227 |
8 | พะเยา | 188 |
9 | แพร่ | 158 |
10 | พิษณุโลก | 156 |