คัดลอก URL แล้ว
สูตรหาร 100 คำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ เข้าทางพรรคใหญ่กวาดแลนด์สไลด์

สูตรหาร 100 คำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ เข้าทางพรรคใหญ่กวาดแลนด์สไลด์

KEY :

หลังมีการถกเถียงกันภายในสภามาพักใหญ่ สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ประกอบการเลือกตั้ง โดยจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะแบ่งเป็นบัตรเลือก ส.ส.เขต และ บัตรเลือกพรรค (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) และสูตรหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้ง ‘สูตรหาร 500’ กับ ‘สูตรหาร 100’

ก่อนที่จะเกิดเหตุสภาล่ม เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง เรื่องของสูตรคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ สูตรหาร 500 ซึ่งสุดท้ายในการประชุมสภาฯ ครั้งนั้น สมาชิกรัฐสภาไม่ครบองค์ประชุมจึงไม่สามารถลงมติสูตรดังกล่าวได้ ทำให้ ร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง จะกลับไปใช้สูตรที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอมาวาระก่อนหน้านี้ คือ ‘สูตรหาร 100’

จนนำไปสู่การยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งตีความว่าการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีหารด้วย 100 นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่งได้ข้อสรุปไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ โดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง มาตรา26 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94

นั้นหมายความว่าในการเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังจะมาถึงนี้ หลังหมดวาระของสภาในช่วงปลายเดือน มี.ค.2566 กฎหมายเลือกตั้งจะใช้สูตรการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ และใช้สูตรหาร 100 ในการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ นั้นเอง

และนั้นกลายเป็นข้อกังวลโดยเฉพาะฝั่งของพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่มีโอกาสน้อยในการคว้าเก้าอี้ ส.ส. มาครอง ในทางกลับกันพรรคการเมืองขนาดใหญ่เองจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการคว้าเก้าอี้ ส.ส. ได้เพิ่มมากขึ้นตามสัดส่วนของคะแนนเสียง

ความต่างระหว่างสูตรหาร 500 กับ สูตรหาร 100

สูตรหาร 500 เคยนำมาใช้ครั้งล่าสุดคือการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 การคำนวณนั้นจะนำคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด นำไปหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน และนำผลลัพธ์ดังกล่าว ไปหารกับคะแนนเสียงของแต่ละพรรค จะได้จำนวน ส.ส.พึงมีของพรรค และนำใช้ไปในการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพิ่มเติมตามลำดับ ซึ่งในส่วนนี้ต้องดูผลจำนวน ส.ส.เขต ที่ได้ของแต่ละพรรคด้วยเช่นกัน

สูตรหาร 500 ในครั้งที่ผ่านมา จึงไม่ได้เป็นการชนะคะแนนเสียงแบบแลนด์สไลด์เหมือนครั้งก่อน ๆ ทำให้เกิดการกระจายในการแบ่งสัดส่วน ส.ส. ตามคะแนนเสียงของแต่ละพรรคอย่างชัดเจน จึงไม่แปลกที่พรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดกลาง อาจชอบในสูตรหาร 500 นี้ อย่างที่เราได้เห็นในพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคขนาดเล็กเข้าร่วมด้วย

ขณะที่สูตรหาร 100 นั้น จะนำตัวเลข ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน มาหารด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด และนำผลลัพธ์ดังกล่าว ไปหารกับคะแนนเสียงของแต่ละพรรค จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามผลลัพธ์ที่คำนวณ ตัวอย่างเช่น คะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 40 ล้านเสียง หารด้วย 100 เท่ากับ 400,000 คะแนน นั้นเท่ากับว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ต้องใช้คะแนนเสียง 400,000 คะแนน

ในกรณีตัวอย่างที่พรรค A ได้คะแนนเสียงเลือกตั้ง 10 ล้านคะแนน ก็นำตัวเลข 400,000 คะแนนไปหาร ก็จะได้ 25 ที่นั่ง นั้นคือตัวเลขที่พรรค A จะได้เก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นเอง

สูตรหาร 100 จึงเป็นสูตรคำนวณที่เข้าทางพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เพราะจะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามคะแนนเสียงเลย โดยไม่ต้องมาคำนวณกับ ส.ส.พึงมี แบบสูตรหาร 500 อีก ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 จึงเกิดการปัดเศษไปถึงพรรคการเมืองขนาดเล็กในการได้เก้าอี้ ส.ส. และมีอำนาจในการต่อรองทางการเมือง

มุมมองอดีต กกต. กับสูตรหาร 100 ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวสูตรหาร 100 ในการเลือกตั้งในปี 2566 ว่า สภาผู้แทนราษฏรจะเหลือพรรคการเมือง ประมาณไม่เกิน 10 พรรค

ขณะที่พรรคอันดับหนึ่ง อาจมี ส.ส. ในสภา ถึงร้อยละ 40-55 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด พรรคอันดับสอง จะมี ส.ส. น้อยกว่าพรรคแรกกว่าครึ่ง

นอกจากนี้พรรคอันดับหนึ่ง สามารถเลือกจับมือกับทุกพรรคที่เหลือ ยกเว้นบางพรรคที่ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคไม่ประสงค์จะให้จับมือด้วย และด้วยกติกา ที่ให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี จึงอาจเห็นการร่วมจับมือจัดตั้งรัฐบาลให้เกิน 375 เสียง เพื่อเอา ส.ว.ออกจากสมการจัดตั้งรัฐบาลแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ส่องไทม์ไลน์เลือกตั้งปี 2566

สำหรับวาระของสภาผู้แทนราษฏรจากการเลือกตั้งปี 2562 นั้น จะครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566 โดยทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้เตรียมแผนการเลือกตั้งในปี 2566 ไว้แล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดวาระ

โดยในเบื้องต้นทาง กกต. ได้กำหนดวันที่ 7 พ.ค.2566 เป็นวันเลือกตั้ง โดยจะเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย.2566 และวัน 11 เม.ย.2566 เป็นวันสุดท้ายในการประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

วันที่ 30 เม.ย.2566 วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต และนอกเขตเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค.2566 สามารถแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ วันที่ 7 พ.ค.2566 คาดว่าจะเป็นว่าเลือกตั้ง และระหว่างนที่ 1-6 พ.ค.2566 สามารถแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้

สำหรับกรณีที่มีการยุบสภาก่อนกำหนดวันสิ้นสุดวาระ ทาง กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ภายใน 5 วันนับตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง