นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงปิดเทอมพฤติกรรมการขยับร่างกายของเด็กวัยเรียนจะลดน้อยลง เนื่องจากใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น สำหรับบางครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครองอาจไม่มีเวลาว่างดูแลเด็กเท่าที่ควร โดยปล่อยให้เด็กใช้เวลาไปกับสื่อโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ แท็บแล็ต และโน้ตบุ๊ค มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน
ซึ่งการใช้สายตาในการเพ่งมองดูหน้าจอระยะใกล้เป็นเวลานาน ๆ อาจมีผลทำให้เกิดอาการแสบตา ตาแห้ง ปวดตา บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ หรือการมองไม่ชัด ที่อาจเกิดจากปัญหาสายตาผิดปกติ สายตาสั้น หรือมีตาดำเขเข้า หรือเขออกเป็นครั้งคราว ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาว
“วิธีการที่เหมาะสมในการใช้สายตาจากข้อมูลราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ปฏิบัติดังนี้
1) ระยะเวลาการใช้สายตาเพ่งดูหน้าจอ ด้วยหลักการ 20-20-20 คือ ใช้สายตามองใกล้ติดต่อกันไม่เกิน 20 นาที โดยควรพักใช้สายตา 20 วินาที ด้วยการมองไปที่ระยะห่าง 20 ฟุต หรือ 6 เมตร เพื่อเป็นการพักสายตาแล้วกลับมาใช้สายตาใหม่ได้
2) จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไฟไม่มืดหรือสว่างเกินไป เพราะแสงเข้าตามากเกินอาจทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม จึงต้องปรับหน้าจอให้สว่างพอดี
3) แนะนำให้กระพริบตาบ่อย ๆ หลับตาพัก นับ 1-5 แล้วลืมตาใหม่ เพราะการใช้สายตานาน ๆ อาจเกิดภาวะตาแห้ง เคืองตา กะพริบตาน้อย ซึ่งโดยปกติคนเรากะพริบตา 10-12 ครั้งต่อนาที ช่วยให้ภาวะตาแห้งดีขึ้น รวมถึงตำแหน่งที่นั่ง ให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลมพัดมาก ลมแอร์ตกใส่ ระดับของโทรศัพท์มือถือไม่สูงเกินไป จะทำให้เปิดเปลือกตามากขึ้น ควรอยู่ระดับต่ำกว่าสายตา ช่วยลดภาวะตาแห้ง” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรส่งเสริมให้เด็กขยับร่างกายหรือออกกำลังกายมากขึ้นในช่วงปิดเทอม เพื่อลดการใช้สายตามองจอมากเกินไป เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดตบ กระโดดเชือก กระโดดโลดเต้นเล่นสนุก จนรู้สึกเหนื่อย อย่างน้อย 60 นาที ทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะออกกำลังกายด้วย