คัดลอก URL แล้ว
ปัญหาสายไฟ-สายสื่อ สู่การจัดระเบียบที่ได้มากกว่าความสวยงาม

ปัญหาสายไฟ-สายสื่อ สู่การจัดระเบียบที่ได้มากกว่าความสวยงาม

KEY :

ภาพคุ้นชินกับเสาไฟฟ้าในบ้านเรา ที่มีทั้งสายไฟและสายสื่อสารพันคดเคี้ยวเยี่ยงเถาวัลย์ เป็นที่ต้องเหลียวมองทุกครั้งจนดังไปไกลถึงต่างแดน เมื่อครั้งนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง รัสเซล โครว์ ได้มีโอกาสมาถ่ายทำภาพยนตร์ ณ เมืองไทย เมื่อช่วงปลายปี 64 ยังต้องสะดุดตากับสายไฟบ้านเรา ที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่อเมซิ่งไทยแลนด์กับตัวเขาอย่างมาก ถึงกับต้องลั่นชัตเตอร์บันทึกภาพเก็บไว้พร้อมลงโซเชียลกันเลยทีเดียว หรือแม้แต่ในสื่อต่างประเทศอย่าง ญี่ปุ่น ก็ยังเคยออกข่าวเกี่ยวกับเรื่องการจัดการสายไฟในบ้านเรามาแล้วเช่นกัน

และเหตุการณ์ล่าสุดกรณีเหตุหม้อแปลงระเบิดย่านสำเพ็งเมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จนเกิดเหตุไฟไหม้ตึกที่อยู่บริเวณดังกล่าว รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตด้วยเช่นกัน จนนำไปสู่การร่วมวงถกปัญหาและแก้ไขเรื่อง ‘สายไฟ-สายสื่อสาร’ ที่มักก่อเกิดปัญหาทั้งไฟไหม้อยู่บ่อยครั้งตามที่ปรากฏหน้าสื่อต่าง ๆ เพื่อจัดระเบียบจากบนดินสู่ ‘สายไฟลงดิน’

หม้อแปลงระเบิดย่านสำเพ็ง เมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย.65

การนำสายไฟลงดินในบ้านเรานั้น ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 2545 โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ซึ่ง ‘จังหวัดตรัง’ ถือได้ว่าเป็นจังหวัดแรกในการนำร่องปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้า นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เพื่อเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงามและส่งเสริมการท่องเที่ยว

นอกจาก จ.ตรัง แล้ว ยังมีเมืองใหญ่ที่นำระบบไฟฟ้าลงใต้ดินเป็นถนนไร้สาย เช่น น่าน ภูเก็ต หาดใหญ่ พัทยา ขอนแก่น นครพนม และเชียงใหม่ รวมถึงในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ใช่แค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคง ปลอดภัยของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติและอุบัติภัยต่าง ๆ รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และเพื่อรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิมขึ้น ตามการเติบโตและความต้องการการใช้ไฟฟ้าในอนาคต

การนำสายไฟลงใต้ดิน

ระบบการจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะประกอบไปด้วย 3 หลัก คือ 1.ระบบไฟฟ้าแรงสูง 2.ระบบไฟฟ้าแรงต่ำ และ 3.หม้อแปลง โดยในส่วนของระบบไฟฟ้าแรงสูงนั้นจะก่อสร้างวางท่อร้อยสายระบบไฟฟ้า บริเวณกึ่งกลางถนน (แนวการก่อสร้างขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง)

ซึ่งการก่อสร้างวางท่อร้อยสายจะใช้วิธีก่อสร้างแบบดันท่อลอด ตามแนวการก่อสร้างท่อร้อยสาย โดยจะมีการก่อสร้างพ่อพักสายไฟฟ้า ในตำแหน่งที่ต้องจ่ายไฟให้หม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งสายไฟฟ้าสำหรับใช้ในระบบใต้ดินนั้น จะเป็นสายชนิดพิเศษออกแบบมาให้สามารถแช่อยู่ในน้ำได้โดยไม่เกิดอันตราย

ในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่บนถนนหลัก จะย้ายไปติดตั้งใหม่ตามซอยแยกและรูปแบบการติดตั้งหม้อแปลงยังคงก่อสร้างเหมือนเดิม

ส่วนระบบไฟฟ้าแรงต่ำ จะก่อสร้างท่อร้อยสายระบบไฟฟ้าบริเวณฟุตปาธตลอดทั้งสองฝั่งถนน ก่อสร้างวางท่อร้อยสายด้วยวิธีการสร้างแบบขุดเปิดถนน รวมถึงก่อสร้างบ่อพักสายไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นจุดต่อแยกสายจ่ายไฟให้ผู้ใช้ไฟฟ้า โดยสายไฟฟ้าสำหรับใช้ในระบบใต้ดินนั้น จะเป็นสายชนิดพิเศษออกแบบมาให้สามารถแช่อยู่ในน้ำได้โดยไม่เกิดอันตราย

โดยจุดจ่ายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจะมีการติดตั้งตู้ Circuit Breaker เพื่อเป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับผลกระทบต่อเหตุไฟฟ้าดับลดลง

ประโยชน์ของการนำสายไฟลงดิน

1.ระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่มั่นคง

ระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน ช่วยเสริมสร้างความมั่นคง ปลอดภัย ของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น อุบัติเหตุจากรถชนเสาไฟฟ้า ฝนตกลมแรงซึ่งอาจพัดกิ่งไม้หรือป้ายโฆษณามาเกี่ยวสายไฟฟ้าทำให้เกิดความเสียหายและความอันตรายได้

2.รองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

ระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบสายไฟฟ้าอากาศ จึงสามารถรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสังคมเมือง และนับวันการใช้ไฟฟ้า ยิ่งมีบทบาทกับเรามากขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ

3.ช่วยทำให้ทัศนียภาพสวยงาม

ประเทศไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญ การไฟฟ้านครหลวงเร่งมือนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เพื่อทัศนียภาพที่สวยงาม อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตาชาวต่างชาติ

จัดระเบียบสายสื่อสาร 800 กม. ใน 16 เขต กรุงเทพฯ

ปัญหาสายสื่อสารเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องถูกจัดระเบียบ จริงอยู่ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการทั้งสายเคเบิ้ล สายอินเตอร์เน็ตต่าง ๆ ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนตามความต้องการเข้าไปอีก ส่งผลทำให้เรามักเห็นภาพสายสื่อสารที่รุงรังไม่เป็นระเบียบ มิหนำซ้ำบางพื้นที่ยังเคยมีมีผู้ประสบเหตุจากสายสื่อสายที่ห้อยลงมาจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่นับรวมเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้สายไฟและสายสื่อสาร

เมื่อไม่กี่วันมานี้ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมมือกับทางกระทรวงดิจิทัลฯ กสทช. และโอเปอเรเตอร์ค่ายต่าง ๆ ในการหารือการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน พร้อมทั้งมีการพื้นที่ บริเวณทางเท้า ถนนสุรศักดิ์ ใกล้สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา เพื่อตรวจดูสภาพสายสื่อสารที่รกรุงรัง ในโครงการจัดระเบียบสายไฟ สายสื่อสาร ซึ่งบางจุดอยู่เหนือศีรษะประชาชนจนเอื้อมมือไปสัมผัสได้

โดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเผยว่า เรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทางกระทรวงฯ ทำงานร่วมกับ กสทช. ใช้งบประมาณจากเงินอุดหนุนของกองทุนยูโซ่ 700 ล้านบาท รวมระยะทาง 800 กิโลเมตร ในบริเวณ 16 เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน นำร่องทำในพื้นที่เร่งด่วนก่อน 350 กิโลเมตร

ถนนเส้นไหนบ้างใน กทม. นำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว

โครงการสีลม รวม 2.7 กม.

โครงการปทุมวัน รวม 6.7 กม.

โครงการจิตรลดา รวม 6.8 กม.

โครงการพหลโยธิน รวม 8 กม.

โครงการพญาไท รวม 3.8 กม.

โครงการสุขุมวิท รวม รวม 12.6 กม.

โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) รวม 6 กม.

ปัญหาเรื่องสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร ยังคงเป็นเรื่องหนึ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นการจัดระเบียบให้ดีขึ้น เพราะนอกจากจะสร้างทัศนียภาพ สร้างความสวยงามในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว ยังลดการเกิดไฟไหม้จากสายไฟฟ้าและสายสื่อสารได้เป็นอย่างดี และเพิ่มความมั่นใจแก่ประชาชนทั้งด้านชีวิตและทรัพย์มากยิ่งขึ้น


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง