คงไม่มีใครอยากให้ชีวิตคู่เดินมาถึงทางแยก แต่ในเมื่อทำดีที่สุดแล้วยังไม่มีอะไรดีขึ้น อยู่ด้วยกันก็ยิ่งมีแต่ทำให้แย่ลง ความสัมพันธ์ของชีวิตครอบครัวคงถึงจุดที่ต้อง “หย่า” รวบรวมข้อมูล ขั้นตอนการหย่า มาแชร์ให้ได้เตรียมตัวให้พร้อมกันก่อน จะได้ทำถูกตามขั้นตอนและไม่เสียเวลา
ขั้นตอนการหย่า
สิ่งที่จะทำให้การสมรสสิ้นสุด มี 3 อย่าง ภายใต้กฎหมายไทยมี 3 เหตุแห่งการสิ้นสุดการสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1501 ระบุไว้ดังนี้
- ความตาย
- การหย่าร้าง
- ศาลพิพากษาให้เพิกถอน
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าทำไมความตาย ถึงเป็นเหตุให้การสมรสสิ้นสุด ส่วนการหย่าร้างก็เกิดขึ้นจากบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนศาลพิพากษาให้เพิกถอนนั้น ค่อนข้างหายาก เพราะจะส่งผลย้อนกลับ นั่นหมายความว่า ไม่เคยมีการสมรสเกิดขึ้น ในบางกรณีอาจเป็นโมฆะ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างว่าเขาหรือเธอจะไม่แต่งงานกับบุคคลคนนี้ หากรู้ว่าความจริงบางอย่างที่เป็นคุณลักษณะทำให้สำคัญผิด
การหย่าร้าง มี 2 แบบ
1.การหย่าโดยความยินยอม (ทำสัญญาระหว่างคู่สมรส)
หากสามีและภรรยาต้องการจะสิ้นสุดการสมรส กฎหมายไทยอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายหย่ากันได้โดยไม่ต้องหาเหตุผลเพราะการสมรสเป็นสัญญาทางแพ่ง ดังนั้นคู่สมรสสามารถเปลี่ยนแปลงและยกเลิกสัญญาได้โดยความยินยอม หากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสิ้นสุดการสมรส (หรือสัญญา) ทั้งสองฝ่ายสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอน ประเทศที่ใช้กฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรยอมรับการหย่าโดยความยินยอม ซึ่งจะแตกต่างไปจากประเทศที่ใช้คอมมอน ลอว์ อย่างเช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรืออสเตรเลีย ซึ่งจะไม่มีการยอมรับการหย่าโดยสมัครใจและจะต้องให้ศาลเป็นผู้สั่ง
ขั้นตอนการหย่าโดยความยินยอม จะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อชื่อพร้อมพยานสองคนซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 หนังสือหย่าสามารถทำได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักงานกฎหมาย นี่เป็นเหตุผลว่าสัญญาที่เป็นสองภาษาเป็นสิ่งสำคัญต่อคู่สมรสคนไทยและต่างชาติ ภายใต้กฎหมายไทย คุณควรมีพยานอย่างน้อย 2 คนที่จะลงชื่อในหนังสือหย่า แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าพยานทั้งสองคนต้องอยู่พร้อมในเวลาเดียวกัน แต่พยานจะต้องรับรู้ว่าใครเป็นผู้ลงชื่อในเอกสาร (ฎ.417/2494) ถึงแม้ว่าจะมีพยานรับรู้เกี่ยวกับการหย่าแต่มีพยานเพียง 1 คนที่ลงชื่อ ก็ถือว่าหนังสือหย่าไม่สมบูรณ์ (ฎ.1639/2552) ถึงแม้ว่าคู่สัญญาจะได้ทำหนังสือหย่าพร้อมพยาน 2 คน แต่ถ้าไม่นำไปจดทะเบียนก็จะไม่มีผลสมบูรณ์ (ฎ.215/2519)
ผลที่ได้รับ การหย่าโดยความยินยอมนั้นจะต้องนำไปจดทะเบียน พร้อมพยาน 2 คนและจะต้องไปจดที่สำนักทะเบียนอำเภอเพื่อที่จะมีผลตามกฎหมายเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1515 ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายลงชื่อในสัญญาหย่าแต่คู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ยอมไปจดทะเบียน อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิขอให้ศาลสั่งได้ (ฎ.1291/2500)
หนังสือหย่าต้องมีอะไรระบุไว้ หากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจดทะเบียนสมรสที่สำนักทะเบียนอำเภอ คู่สัญญาจะต้องตกลงในเรื่องอำนาจปกครองบุตร แบ่งสินสมรสและสิ่งอื่นๆ ที่จะให้ระบุไว้ในหนังสือหย่า (เช่น ค่าอุปการะ) เจ้าหน้าที่ที่สำนักทะเบียนจะบันทึกลงในหนังสือหย่าเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินและบุตร
2.การหย่าโดยคำพิพากษา
หากคู่สัญญาไม่สามารถตกลงหย่ากันได้ อีกฝ่ายจำเป็นต้องขอให้ศาลมีคำพิพากษา การจะทำเช่นนั้นได้ คุณต้องมีเหตุ หรือที่เรียกว่า “เหตุแห่งการฟ้องหย่า” ภาระการพิสูจน์จะตกอยู่แก่ผู้ที่ขอหย่าและจะต้องพิสูจน์ว่ามีเหตุอะไรที่จะต้องหย่า ในประเทศไทยนั้นการที่จะฟ้องหย่าได้ต้องมีเหตุแห่งการฟ้องหย่าดังนี้
- สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภรรยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (1))
- สามีหรือภรรยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นให้อีกฝ่ายฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (2))
- สามีหรือภรรยาทำร้าย หรือทรมาณร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (3))
- สามีหรือภรรยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (4))
- สามีหรือภรรยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ (มาตรา 1516 (5))
- สามีหรือภรรยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร (มาตรา 1516 (6))
- สามีหรือภรรยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี (มาตรา 1516 (7))
- สามีหรือภรรยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ (มาตรา 1516 (8))
- สามีหรือภรรยาเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง (มาตรา 1516 (9))
- สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ซึ่งไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล (มาตรา 1516 (10))
ขั้นตอนการฟ้องหย่า คุณต้องยื่นฟ้องต่อศาล หากคุณเรียกแบ่งสินสมรส คุณจะต้องจ่ายค่าทุนทรัพย์ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2 ของมูลค่าที่เรียกแบ่ง ตัวอย่างเช่น หากคุณซื้อบ้านในระหว่างสมรส หรือรถยนต์ และจะถือเป็น “สินสมรส” มูลค่า 2 ล้านบาท คุณมีสิทธิที่จะขอแบ่ง 1 ล้านบาท ฉะนั้นคุณต้องชำระค่าทุนทรัพย์ 20,000 บาท หากคุณชนะคดี ศาลสามารถสั่งให้อีกฝ่ายชำระเงินค่าทุนทรัพย์ให้คุณได้ หากคุณมีบุตรร่วมกัน คุณจะต้องไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กก่อนในการให้ปากคำ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อศาล การพิจารณานัดแรกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนัดไกล่เกลี่ย หากทั้งสองฝ่ายไม่มีข้อตกลง ก็จะมีการนัดสืบพยาน หากฝ่ายจำเลยไม่ได้เข้าร่วมการพิจารณา ศาลจะดำเนินการพิจารณาโจทก์ฝ่ายเดียว ในนัดสืบพยานนั้นฝ่ายโจทก์จะต้องแสดงหลักฐานและมีหน้าที่นำสืบ ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินคดีการหย่าจะอยู่ระหว่าง 3 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งไม่รวมถึงชั้นอุทธรณ์และในกรณีพิเศษอื่นๆ และดำเนินการพิจารณาคดีในศาลครอบครัว
การหย่าในต่างประเทศ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มีมาตราเกี่ยวกับการหย่าดังนี้
มาตรา 26 การหย่าโดยความยินยอมสมบูรณ์ ถ้าหากกฎหมายสัญชาติแห่งสามี และภรรยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้
มาตรา27 ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภรรยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5887/2533
โจทก์คนสัญชาติไทย จำเลยคนสัญชาติอินเดีย จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. การสมรส ค.ศ. 1949 ของประเทศอังกฤษ แม้มิได้จดทะเบียนสมรสโดยนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียน อำเภอ หรือ กิ่งอำเภอ หรือโดยนายทะเบียน ณ ที่ทำการสถานทูต หรือกงสุลไทยก็ตาม เมื่อได้ทำหนังสือหย่ากันด้วยความสมัครใจ ทั้งตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลยต่างก็ยินยอมให้คู่สมรสหย่ากันโดยความยินยอมได้ ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษา การหย่าโดยทำหนังสือหย่ากันเองมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้แต่เฉพาะระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น จะอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนหย่าแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1515
คู่สมรสซึ่งจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายต่างประเทศ สามารถทำการหย่าได้โดยคำพิพากษาศาล หากมีเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 คู่สมรสสามารถไปแสดงเจตนาต่อหน้าเจ้าหน้าที่พร้อมเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินสมรสและอำนาจปกครองบุตร หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งไม่สามารถไปได้ด้วยตนเองในวันนั้นพร้อมกัน อาจตกลงกับอีกฝ่ายได้ว่าใครจะดำเนินการยื่นเอกสารและหลัง
อันดับแรกคุณต้องรับรองเอกสารจากกระทรวงต่างประเทศพร้อมแปลและรับรองที่สถานทูต หากมีคนโต้แย้งเกี่ยวกับการหย่าต่างประเทศ ศาลจะเข้ามารับรองหรือปฏิเสธการรับรอง
การยอมรับการหย่าไทยในต่างประเทศ
กฎหมายในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน คุณต้องตรวจสอบว่าประเทศของคุณยอมรับการหย่าตามกฎหมายไทยหรือไม่
อังกฤษ เรามีเวปไซต์ ซึ่งเขียนเกี่ยวกับการหย่าของบุคคลสัญชาติไทยและอังกฤษ บทความนี้อยู่ในไฟล์ หัวข้อกฎหมายครอบครัวระหว่างบุคคลสัญชาติไทยและอังกฤษว่า
“หากคู่สมรสได้รับการหย่าโดยศาลไทยและอีกฝ่ายมีสัญชาติหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทย กฎหมายอังกฤษจะยอมรับ แต่หากคู่สมรสหย่าโดยความยินยอมและจดทะเบียนที่สำนักทะเบียนอำเภอ กฎหมายอังกฤษจะไม่ยอมรับหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาศัยอยู่ในอังกฤษภายใน 12 เดือนก่อนการหย่า”
ที่มา : www.thailawonline.com