เวลานี้ “กัญชา -กัญชง” ได้ถูกปลดล็อกจากบัญชีสารเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 อย่างเป็นทางการ และล่าสุดได้ปลดล็อกให้สามารถจำหน่ายกัญชาแบบถูกกฎหมายแล้ว ในรูปแบบของพืช และสารสกัดที่เป็นประโยชน์ด้านการแพทย์ แต่ก็มีหลายฝ่ายที่สร้างความกังวลว่าจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดที่แพร่หลายยิ่งขึ้น แม้จะมีกฎหมายควบคุมก็ตาม
รวมถึงผลกระทบจากการบริโภคกัญชาทั้งทางตรง เช่น จากการสูบ และทางอ้อมจากส่วนประกอบในอาหารและยา จะมีผลต่อประสิทธิภาพการขับขี่ด้วยหรือไม่?
สารที่ทำให้เมาในกัญชา
Tetrahydrocannabinol หรือสาร THC เป็นหนึ่งในสารเคมีที่อยู่ในกัญชา ซึ่งจะออกฤทธิ์หลายอย่างต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะสมอง ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และกระตุ้นให้มีความอยากอาหาร แต่ถ้าได้รับมากเกินไปจะมีผลต่อการมองเห็นภาพหลอน ฟุ้งซ่าน ขาดสมาธิ หรือหมดเรี่ยวแรง ตอบสนองต่อการทำงานช้าลง
ซึ่งหลังจากได้รับสาร THC ในกัญชา จะซึมเข้าสู่กระแสเลือดภายใน 2 – 8 นาที ผ่านการสูบกัญชา หรือหากดื่ม-รับประทานสารสกัดจากกัญชา จะซึมเข้าสู่กระแสเลือดในเวลา 2 – 3 ชั่วโมง โดยจะออกฤทธิ์สูงสุดในช่วง 30 นาทีหลังเสพ และสารดังกล่าวจะอยู่นาน 1 – 3 ชั่วโมง ซึ่งในระหว่างนั้นจะมีความเสี่ยงมากหากออกฤทธิ์ในระหว่างทำงาน และระหว่างขับรถ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
บทเรียนอุบัติเหตุรถยนต์จากกัญชาในต่างประเทศ
จากข้อมูลของสถาบันประกันภัยเพื่อความปลอดภัยบนทางหลวง (IIHS) และสถาบันข้อมูลการสูญเสียบนทางหลวง (HLDI) ได้ทำการวิจัยถึงผลกระทบจากอุบัติเหตุในประเทศรัฐที่รับรองให้กัญชาเป็นยาเสพติดถูกกฎหมาย โดยวิจัยและเก็บสถิติว่าในพื้นที่รัฐที่รับรองให้กัญชาเป็นถูกต้องตามกฎหมายส่งผลต่ออัตราการชน และการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมากหรือน้อยกว่า
ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี 2021 แสดงให้เห็นว่าอัตราการบาดเจ็บ และอุบัติเหตุร้ายแรงในรัฐแคลิฟอร์เนีย โคโลราโด เนวาดา โอเรกอน และวอชิงตัน เพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนหลังจากการผ่อนคลายกฎหมายกัญชา และการจัดจำหน่ายอย่างเสรีในแต่ละรัฐ
รวมถึงอัตราการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 6% และอัตราการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับรัฐอื่น ๆ ที่กัญชายังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
สอดคล้องกับการศึกษาเรื่องอุบัติเหตุที่ตำรวจรายงานในปี 2018 ระบุทั้ง 3 รัฐที่จำหน่ายกัญชาอย่างเสรี ได้แก่ โคโลราโด โอเรกอน และวอชิงตัน มีอัตราการขับรถชนที่เพิ่มขึ้น 5%
โดยทาง IIHS และ HLDI ได้เผยว่า ผู้ขับขี่ที่เสพกัญชาในปริมาณที่สูง และยาวนานจะมีปฏิกิริยาการตอบสนองต่อการขับขี่ที่ช้าลง ขสดสมาธิในการใช้งานอุปกรณ์ภายในรถ มีปัญหาในการรักษาตำแหน่งรถในเลน และทำผิดพลาดมากขึ้นเมื่อเกิดสิ่งผิดปกติแบบฉับพลัน
ประกอบกับการทดสอบดังกล่าวยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าผู้ขับขี่ที่เสพกัญชามีแนวโน้มที่จะขับด้วยความเร็วที่ช้าลง พยายามแซงให้น้อยลง และรักษาระยะห่างระหว่างรถกับรถคันข้างหน้าให้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยในด้านอื่น ๆ อาทิ การใช้กัญชาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วยเช่นกัน
แล้วกฎหมายของไทยล่ะ?
สำหรับในประเทศไทยเองนั้น แม้ว่าจะยังไม่มีความเคลื่อนไหวในกรณีการวางมาตรการการใช้กัญชาในระหว่างขับรถที่ชัดเจน แต่จากบทสัมภาษณ์ของ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าขณะนี้ทางกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการผลักดันห้ามผู้ขับรถสาธารณะใช้กัญชา หากตรวจเจอจะมีความผิดฐานเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขับรถ โดยทางขนส่งกำลังออกข้อกำหนดในการตรวจอยู่
ส่วนประชาชนทั่วไปที่ขับรถนั้น คาดว่าจะมีการออกกฎหมายหรือข้อกำหนดตามมา แต่เนื่องจากไม่ใช่กฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขออกเอง จึงยังต้องติดตามต่อไป
สิ่งที่ผู้ขับขี่ควรปฎิบัติ หากสารในกัญชาออกฤทธิ์
หากผู้ขับขี่บริโภคสารสกัดจากกัญชง หรือกัญชา ไม่ว่าจะเป็นการสูบกัญชา การรับประทานในรูปแบบอาหาร เครื่องดื่ม หรือใช้ยาในการรักษา ควรพักผ่อนและสังเกตอาการภายในเวลา 30 นาที – ชั่วโมงขึ้นไป ขึ้นกับปริมาณที่ได้รับ ก่อนขับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ เพื่อให้สาร THC ค่อย ๆ คลายฤทธิ์ลงจนสามารถตอบสนองต่อการทำงานได้ดียิ่งขึ้น แม้สาร THC จะยังอยู่ในร่างกายระดับนึงก็ตาม
หรือหากออกฤทธิ์ในระหว่างการใช้รถใช้ถนน ควรแวะหาที่พัก ดื่มน้ำเปล่าเย็น ๆ ทานของว่าง และสังเกตอาการสักระยะจนกว่าจะทุเลาลง
ระมัดระวังการสูบกัญชาในระหว่างขับรถซึ่งส่งผลทำให้ได้รับสาร THC ในปริมาณที่สูงมาก ทั้งจากสูบเอง หรือได้รับควันมือสอง และควันจากการเผากัญชาสามารถบังทัศนวิสัยในการขับขี่ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าขำขันเหมือนที่ปรากฎในภาพยนตร์ หรือทีวีซีรี่ย์อย่างแน่นอน
แม้ว่าในปัจจุบัน สาร THC และ CBD จะเป็นประโยนช์ในด้านวงการการแพทย์ และเป็นสมุนไพรทางเลือกในการรักษาโรถ หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม แต่ทุกสิ่งล้วนมีผลข้างเคียงที่ต้องทำความเข้าใจ และผลกระทบที่รุนแรงหากได้รับเกินปริมาณที่กำหนด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้โดยเฉพาะเวลาขับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไม่ต่างจากอุบัติเหตุจากการเมาสุรา ดังนั้นผู้บริโภคกัญชา จึงต้องบริโภคแต่พอดี หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาที่สกัดจากกัญชา เพื่อความไม่ประมาทในการใช้รถใช้ถนน
ข้อมูล :
ภาพ – ธนโชติ ธนวิกรานต์