คัดลอก URL แล้ว
วิกฤตรถยนต์ EV มูลค่าแร่ลิเธียมเพิ่มขึ้น 500% แม้การรีไซเคิลอาจจะไม่เพียงพอ

วิกฤตรถยนต์ EV มูลค่าแร่ลิเธียมเพิ่มขึ้น 500% แม้การรีไซเคิลอาจจะไม่เพียงพอ

EV Car

ประเด็นสำคัญ

รถยนต์ไฟฟ้า” คือหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยลดมลพิษในอากาศ ประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วยเงิดอุดหนุนพิเศษ การจำกัดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ICE และการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าให้มีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น

แต่ล่าสุดได้มีข้อมูลว่าในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะกลับมาแพงกว่ารถยนต์ ICE และรถยนต์ไฮบริด เนื่องจากราคาชิ้นส่วนสำคัญอย่างแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะมีราคาที่แพงขึ้นจากผลกระทบการขาดแคลนแร่ลิเธียม และโลหะหายากที่เกี่ยวข้องอันเกิดจากผลกระทบจากโรคระบาด และสงครามที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน

ราคาแร่ลิเธียม – โลหะหายากพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

แร่ลิเธียม คือส่วนประกอบสำคัญของการผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟฟ้าได้ ซึ่งจะปรากฎในแบตเตอรี่อุปกรณ์ต่าง ๆ, แกดเจ็ต, อุปกรณ์ไฟฟ้าแบบชาร์จได้, สมาร์ทโฟน และที่สำคัญรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการใช้ลิเธียมในปริมาณที่สูงกว่าอุปกรณ์อื่น ๆ

แม้ในปัจจุบันการทำเหมืองแร่ลิเธียมจะแพร่หลายมากขึ้น แต่ด้วยดีมานด์ของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ราคาของแร่ลิเธียมพุ่งสูงถึง 500% ในหนึ่งปี อ้างจาก Bloomberg และนักวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกล่าวว่าจากผลกระทบราคาแร่ลิเธียมที่เพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มราคาของรถยนต์ EV จากปัจจุบันเป็นอีก 1,000 ดอลลาร์ หรือราว ๆ หมื่นบาทได้อย่างง่ายดาย

https://twitter.com/stats_feed/status/1512445210097160195

เมื่อเทียบกับช่วงปี 2018 – 2020 ที่ผ่านมา ราคาของแร่ลิเธียมถูกกดลงฃถึงครึ่งหนึ่ง เพื่อส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าป้อนตลาดโลก แต่ด้วยดีมานด์ที่สูงเกิดคาด ประกอบกับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลต่อกำลังการผลิตแร่ลิเธียมที่ลดลง เช่นเดียวกับนิกเกิล กราไฟต์ และโคบอลต์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสนับสนุนสำหรับผลิตระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

Li Price

สำหรับกระบวนการขุดแร่ลิเธียมนั้นมาจากการสูบเกลือละลายแร่ธาตุจากใต้ดินขึ้นสู่บนดิน หรือการขุดจากหน้าดินหรือใต้ดินซึ่งกระบวนการทั้งสองแบบนั้นไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ และค่อนข้างช้า ยังไม่รวมถึงการสกัด และการปรับแต่งที่ต้องทำหลายขั้นตอน ส่งไปผลิตในประเทศอื่น ๆ กว่าจะได้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสักก้อนก็ใช้เวลานานกว่าที่คิด

เช่นเดียวกับการเพิ่มแหล่งขุดแร่ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ติดขัดทั้งด้านข้อกฎหมาย และผู้คนท้องถิ่น ซึ่งใช้เวลานานมากกว่าจะได้รับการอนุมัติทำเหมืองแร่

ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Fitch Solutions กล่าวว่าลิเธียมได้กลายเป็น “แร่ธาตุเชิงกลยุทธ์” และเตือนถึง “การแทรกแซงของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น” ซึ่งอาจส่งผลกระทบบานปลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่สร้างความน่ากังวลไม่แพ้กัน

วิกฤตแร่ลิเธียมไม่น่าจะหายไปในเร็ว ๆ นี้

การตั้งเป้านโยบายปิดฉากผลิต – จำหน่ายรถ ICE เป็นตัวเร่งเพิ่มราคารถ EV

อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้แร่ลิเธียมไอออนราคาพุ่งมากกว่า 500% ในระหว่างปี 2020 – 2021 ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการผลัดเปลี่ยนการใช้รถยนต์ ICE เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งในด้านการสร้างแรงจูงใจแก่ลูกค้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบไม่บังคับ ไปจนถึงการบังคับให้ค่ายรถเลิกผลิตรถยนต์ ICE และเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% จึงเป็นตัวแปรที่ทำให้การขุดแร่ลิเธียมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของค่ายรถทั่วโลกอยู่ดี

ประเทศจีน เป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดนโยบายกระตุ้นการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า และการสนับสนุนค่ายรถใหม่ ๆ หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และยังเป็นประเทศที่ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนประมาณ 80% ของโลก ซึ่งรัฐบาลของจีนได้รวบรวมซับพลายเออร์และผู้ผลิตเพื่อหารือถึงผลกระทบการขาดแคลนแร่ลิเธียมในอนาคต

ลดปริมาณแร่ลิเธียม – เปิดรับรีไซเคิลแบตเตอรี่ คือทางรอด?

ด้วยผลกระทบจากวิกฤตแร่ลิเธียมขาดแคน ทำให้มีการจัดตั้งบริษัทที่รับรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพื่อนำแร่ลิเธียม และวัสดุอื่น ๆ กลับเข้าสู่การผลิตเป็นแบตเตอรี่ใหม่อีกครั้ง ซึ่งมีทั้งบริษัทท้องถิ่น ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ BMW Brilliance Automotive ในประเทศจีน ได้จัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพื่อสกัดแร่ลิเธียม นิกเกิล โคบอลต์ให้กลับมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ลูกใหม่ได้

อันเป็นผลจากนโยบายในประเทศจีน ที่กำหนดให้ต้องมีการจัดตั้งการติดตามแบตเตอรี่ไฟฟ้าแรงสูงตลอดอายุการใช้งาน เพื่อให้มั่นใจว่าแบตเตอรี่สามารถติดตามการใช้งาน บันทึกสภาพ และรีไซเคิลได้เมื่อสิ้นสุดอายุขัย

จากข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีและการวิจัยยานยนต์แห่งประเทศจีนคาดการณ์ว่า ปริมาณแบตเตอรี่ที่เลิกใช้แล้วภายในประเทศจะสูงถึง 780,000 ตันภายในปี 2025

ถึงแม้จะตั้งเป้าภายในปี 2035 สามารถช่วยให้แร่ลิเธียมหมุนเวียนในวงจรชีวิตเต็มรูปแบบได้ 16 เปอร์เซ็นต์/ปี แต่ก็ช้า และไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เร่งด่วนภายในปี 2025 เนื่องจากอายุของแบตเตอรี่ยาวนานกว่าสิบปีแม้จะผ่านการชาร์จหลายรอบก็ตาม ซึ่งการที่จะสามารถรีไซเคิลแบตเตอรี่เก่าได้เต็มระบบต้องรอนานมากกว่าสิบปีเลยทีเดียว

นอกจากนี้ การรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ ด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังไม่มีนวัตกรรมการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด

ส่วนอีกวิธีก็คือการผลิตแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อลอการใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งค่ายรถบางค่ายก็ได้เดินหน้าพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตต ที่มีความปลอดภัยกว่า และมีน้ำหนักที่เบา หรือแม้แต่การพัฒนาขุมพลังไฮโดรเจนฟิวเซลที่สะอาดกว่า ซึ่งจะช่วยทดแทนการใช้แร่ลิเธียมได้ แต่ในเวลานี้ต้นทุนการพัฒนา และผลิตยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง และกว่าจะสามารถผลิตเป็นรูปธรรม จนถึงสามารถวางจำหน่ายได้ก็ต้องใช้เวลานานหลายปี

ส่งผลให้ในเวลานี้ยังต้องพึ่งพาแร่ลิเธียมมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเป็นจำนวนมากเพื่อสองต่อความต้องการแก่ผู้บริโภคได้มากที่สุด


แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นความหวังในการลดมลภาวะโลก และทำให้โลกแห่งอนาคตสามารถขับเคลื่นต่อไปได้ แต่หากองค์ประกอบที่สำคัญนอกเหนือจากชิฟเซมิคอนดักเตอร์อย่างแร่ลิเธียม และโลหะหายากที่ราคาพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างมาก ท้ายสุดราคารถ EV ในอนาคตก็จะพุ่งสูงขึ้นจนแม้แต่นโยบายเงินสนับสนุนของภาครัฐฯ ก็มิอาจช่วยได้

และส่งผลให้แผนการลดภาวะโลกร้อนทั่วโลกต้องสะดุดอีกครั้ง

เครดิตข้อมูลจาก bloomberg.com , carscoops.com 1 , 2 , twitter.com


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง