หากพูดถึง ‘ขอทาน’ คงนึกภาพออก คือ มักอยู่ตามพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน เป็นบุคคลที่เห็นแล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เดินผ่านเป็นต้องหยิบยื่นเศษเงินให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุ้นชินในสังคมไทยมานานแล้ว
แม้จะมีการออกกฎหมายขอทาน หรือ พรบ.ขอทาน ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2559 เพื่อหวังแก้ไขปัญหาขอทาน ที่กระจายตามพื้นที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มุ่งหวังจะจัดระเบียบเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากเคยมีหลายต่อหลายเคส ที่มีการนำบุคคลที่ไม่สมประกอบ เด็ก ผู้หญิง คนแก่ และอื่น ๆ มาเป็นเครื่องมือหากินของ ‘ขบวนการขอทาน’ จนนำไม่สู่การค้ามนุษย์
และในกรณีล่าสุดคือ ‘แก๊งขอทานจีน’ ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้หลายราย ซึ่งคาดว่านี่อาจเป็นขบวนการค้ามนุษย์ จากการนำผู้ที่ไม่สมประกอบทางร่างกายมีเป็นเครื่องมือในการหากิน
ข้อพิรุธ ‘แก๊งขอทานจีน’
ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับขบวนการแก๊งขอทานจีน ณ ตอนนี้ (22 พ.ย.66) สามารถตามจับได้แล้ว 6 คน จากทั้งหมด 10 ราย จากการได้รับแจ้งมายังเพจเฟซบุ๊ก กัน จอมพลัง ซึ่งมีขอทานชาวจีน 5 รายที่มีลักษณะทางร่างกายที่คล้ายกัน คือ ตามร่างกายถูกน้ำกรดราดใส่ ทำให้ใบหน้าเสียหาย ร่างกายผิดรูป
นอกจากนี้ยังพบอีกว่าหากมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ จะมีล่ามเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย ในส่วนของรายได้เฉลี่ยต่อคน วันละ 1 หมื่นบาท ซึ่งหากมองตามจำนวนที่ระบุไว้ตอนนี้คือ 10 ราย แก๊งขอทานจีนนี้ จะมีเงินเฉลี่ยเดือนละ 3 ล้านบาท
ซึ่งจากการสอบสวนสาวขอทานชาวจีน ที่ถูกจับได้ก่อนหน้านี้ ก็พบข้อพิรุธหลายประการ ทั้งเรื่องการมาประเทศไทย ครอบครัว ความผิดปกติทางร่างกาย และเรื่องที่พักอาศัยที่ระบุว่า ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่เมื่อตรวจค้นกลับเจอกุญแจและคีย์การ์ด
สำหรับไทม์ไลน์ของกลุ่มขอทานชาวจีนพบว่า เริ่มเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เดินทางเข้าออกประเทศไทยหลายครั้ง โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว มี 1 รายที่ทำเรื่องขอศึกษาต่อออนไลน์ เพื่อเปลี่ยนจากวีซ่าท่องเที่ยวเป็นวีซ่านักศึกษา เพื่อให้อยู่ประเทศไทยได้นานขึ้น
‘แก๊งขอทานจีน’ เอี่ยวค้ามนุษย์ ?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหา ‘ขอทาน’ ได้ระบุว่า จากกรณีที่พบขอทานซึ่งเป็นต่างชาติ (ชาวจีน) ต้องดูในมิติของเรื่องการค้ามนุษย์ด้วยว่า ขอทานดังกล่าวนั้นถูกแสวงหาประโยชน์หรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น จะต้องมีการสืบข้อเท็จจริงกันพอสมควร เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนระหว่างประเทศ
ในเบื้องต้นจะต้องตรวจสอบก่อนว่าเข้าเมืองมาอย่างไร มีเอกสารหรือไม่ กระทรวง พม. ต้องประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานด้านความมั่นคง และประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อตรวจสอบลักษณะของสตรีขอทานว่าถูกใช้ประโยชน์ ด้วยการถูกขู่เข็ญ ถูกทำร้ายอย่างไรในการนำมาหาประโยชน์หรือไม่ ซึ่งต้องตรวจสอบกันอย่างละเอียด เพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อไปให้ได้
โดยขอทานชาวจีนทั้ง 6 ราย หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะขึ้นแบล็คลิสต์ขอทานชาวจีนทั้ง 6 รายห้ามเข้าประเทศไทยเป็นเวลา 10 ปี พร้อมขยายผลจับกุมเพิ่มเติม
ปัญหา ‘ขอทาน’ ในไทย
นายศราวุธ มูลโพ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. กล่าวว่า พม.จะเดินหน้าจัดระเบียบขอทานโดยใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมขอทาน พ.ศ. 2559 อย่างเคร่งครัด
ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีขอทานทั้งสิ้น 7,151 คน เป็นขอทานชาวไทย 4,688 คน และคนต่างด้าว 2,473 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งเข้ามาขอทานในประเทศไทยในรูปแบบของขบวนการ
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวพยายามที่จะจัดระเบียบ ‘ขอทาน’ นอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังมีการสำรวจคัดกรองและลงทะเบียนแก่บุคคลในแต่ละประเภท อาทิ ผู้พิการ คนชรา และอื่น ๆ เพื่อให้ได้รับสิทธิสวัสดิการรัฐ ที่ควรพึงได้ และการสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อให้สามารถดำรงชีพได้ในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์การให้ทานที่ถูกต้อง สร้างแนวคิดและปรับทัศนคติในกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงการปราบปรามการขอทานค้ามนุษย์ และเฝ้าระวังในเด็กกลุ่มเสี่ยง
ว่าด้วยเรื่องกฎหมายขอทาน
สำหรับด้านกฎหมายในการควบคุมขอทาน หรือ พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 เป็นฉบับปรับปรุงจาก พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช 2484 ที่ได้ใช้บังคับมานานแล้ว โดยมีการเพิ่มการจัดระเบียบเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทาน การควบคุมการขอทาน และแยกผู้แสดงความสามารถออกจากการเป็นผู้ทำการขอทาน
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสังคมและคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อีกทั้งสมควรกำหนดความผิดทางอาญาแก่ผู้ซึ่งหาประโยชน์จากความไม่สมประกอบทางร่างกาย ความอ่อนด้อยทางสติปัญญาหรือสภาพจิตใจของบุคคลอื่น ตัวอย่างเช่น
- มาตรา 19 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 13 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา 20 กรณีผู้ทำการขอทานได้ยอมเข้ารับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตในสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้ว ต่อมาผู้ทำการขอทานผู้นั้นไม่ยอมรับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต และได้ออกไปจากสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา 21 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดอันเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้มีการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ พรบ.ฉบับดังกล่าว ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องการค้ามนุษย์ อย่างในมาตรา 22 ผู้ใดแสวงหาประโยชน์จากผู้ทำการขอทานโดยการใช้ จ้าง วาน สนับสนุน ยุยงส่งเสริม หรือกระทำด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้อื่นทำการขอทาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ