‘พรรคเพื่อไทย’ ยังคงเดินเกมการเมืองต่อเนื่องเพื่อหวังจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ หลังสละเรือฉีก MOU ของพรรคก้าวไกล ไปแบบไม่เหลือเยื่อใย เนื่องด้วยโจทย์ที่ต้องดันเสียงให้ได้มากกว่า 375 เสียง ในการโหวตนายกรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในสมการการจัดตั้งรัฐบาล
แม้หลายฝ่ายจะมองว่าการแยกตัวออกจาก MOU ครั้งนี้ จะเป็นผลเสียกับพรรคเพื่อไทยมากกว่า เพราะมองว่าเป็นการหักหลังประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงให้หรือไม่ กับสถานการณ์ที่อาจดึงพรรคลุงมาร่วมรัฐบาลด้วย รวมถึงการร่วมงานกับพรรคที่เคยสนับสนุนรัฐบาลทหารเองก็ตาม ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าคะแนนเสียงของพรรคอาจลดลงไปไม่มากก็น้อย
และด้วยสถานการณ์หลังการเลือกตั้งที่ยังเป็นสุญญากาศทางการเมืองเช่นนี้ รวมถึงการมีรัฐบาลรักษาการ ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องลุยเดินเกมการเมืองอย่างเต็มที่ แม้จะเป็นการข้ามขั้วการเมืองก็ตาม โดยอ้างว่าต้องการให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติในช่วงนี้และจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว เพราะมองว่าการที่ประเทศไทยยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น จะก่อให้เกิดผลเสียต้องประเทศมากกว่า
เสียงตั้งต้นของ (วาที่) รัฐบาล ‘เพื่อไทย’ ปี 66
โดยเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยแถลงข่าวร่วมจับมือกับพรรคภูมิใจไทย ในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยคะแนนเสียงรวม 212 เสียง แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 141 เสียง และพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง
โดยในแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย ได้ระบุแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาลไว้ ดังนี้
- 1. ยึดวาระของประเทศ และประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และประชาธิปไตย นำความปรองดอง สมานฉันท์กลับคืนสู่ประเทศ
- 2. จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีในวาระแรก จะมีมติให้ทำประชามติขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการจัดตั้ง สสร.
- 3. ดำเนินงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์จะร่วมกันผลักดันให้สำเร็จ สิ่งใดที่เป็นปัญหาจะต้องถูกตรวจสอบและเร่งแก้ไขให้ถูกต้อง
- 4.จัดตั้งรัฐบาลที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
- 5.การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้เปิดกว้างให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อผ่าทางตันระบบการเมืองของประเทศ และฝ่าวิกฤตรัฐธรรมนูญที่สร้างปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
ดึง 6 พรรคเล็กร่วมจัดตั้งรัฐบาล หวังสลายขั้วการเมือง
ภายหลังจากการจับมือกับพรรคภูมิใจไทยแล้ว ทางพรรคเพื่อไทยยังได้การสนับสนุนจาก 6 พรรคการเมืองประกอบด้วย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย ในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทำให้ขณะนี้มีเสียงรวม 228 เสียง
ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วม หวังที่จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ สลายขั้วการเมืองทุกฝ่าย เดินหน้าขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคการเมือง และเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
พร้อมย้ำว่าการที่จะแก้วิกฤตครั้งนี้ได้ ต้องสลายขั้วการเมือง ดึงความร่วมมือจากทุกพรรคทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกคน เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ เพื่อนำรัฐธรรมนูญออกจากวิกฤต เพื่อนำประชาชนให้พ้นทุกข์ เพื่อสร้างความสามัคคี สมานฉันท์ โดยถือเป็น “วาระประเทศ” ที่สำคัญอย่างสูงสุด
เสียงคัดค้าน-สนับสนุน กับแนวทางของพรรคเพื่อไทย
กลุ่มคนเสื้อแดง นปช. ถือได้ว่าเป็นกลุ่มเสียงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด อยู่เคียงข้างทุกการต่อสู้ทางการเมืองด้วยดีเสมอมา แต่การที่พรรคเพื่อไทยประกาศแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลที่หักกับพรรคก้าวไกล ข้ามขั้วการเมือง ย่อมทำให้ความเห็นของกลุ่มคนเสื้อแดงแบ่งเป็น 2 ฝ่ายทันที
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายคนหลายกลุ่ม ที่เป็นกลุ่มเสื้อแดง ได้ออกมาประกาศ รวมถึงแสดงจุดยืนเชิงสัญลักษณืต่าง ๆ มากมาย ว่าหลังจากนี้จะไม่ขอสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอีกต่อไป
ในส่วนของฝ่ายที่ยังคงสนับสนุนก็มองว่า แนวทางของพรรคเพื่อไทยตอนนี้ เป็นทางออกของประเทศที่ดีที่สุด เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น
‘เพื่อไทย’ กลับลำหวัง ‘ก้าวไกล’ ช่วยหนุนโหวตนายกฯ
ย้อนกลับไปในช่วงวันที่พรรคเพื่อไทยได้มีการประกาศขอแยกตัวจากพรรคก้าวไกล พร้อมยุติ MOU 8 พรรคร่วมลงนั้น ทางพรรคเพื่อไทยได้ระบุว่าถึงแม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้อยู่ในสมการการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยก็ตาม
แต่ทางพรรคก็ไม่ได้หวังและไม่ได้เรียกร้องพรรคก้าวไกลให้ช่วยสนับสนุนโหวตนายกฯ ให้แต่อย่างใด อีกทั้งยังมองว่าหากยังมีเสียงสนับสนุนโหวตนายกฯ จากฝั่งของพรรคก้าวไกล อาจจะเป็นข้อครหากับฝั่ง ส.ว.ได้
แต่ผ่านมาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ทางพรรคเพื่อไทย หลังประกาศจับมือกับพรรคภูมิใจไทย และอีก 6 พรรคเล็ก กลับกลายเป็นว่าทางพรรคเพื่อไทย โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ระบุว่า พร้อมที่จะไปขอโทษ ขอขมา พรรคก้าวไกล เพื่อเจรจาขอเสียงสนับสนุนโหวตนายกฯ โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปได้
โดยหลังจากนั้นไม่นานทางพรรคเพื่อไทย นำโดย แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊งค์ ได้นำคณะผู้บริหารพรรค เดินทางไปเจรจากับทางพรรคก้าวไกลถึงประเด็นดังกล่าว
…
หลังจากนี้คงต้องดูว่าพรรคเพื่อไทย จะมีการดึง 2 พรรคลุง เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ เพื่อให้เสียงในสภามีเสถียรภาพมาที่สุด และเพื่อโหวตนายกฯ ให้ผ่านทะลุ 376 เสียง ทั้ง 2 สภา
ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าสูตรการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย อาจต้องดึงพรรคลุงเข้ามาร่วมด้วย และมีการคาดการณ์ว่าอาจเป็น พปชร. ที่จะดึงเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล
สุดท้าย ‘รัฐบาลพิเศษ’ ที่หวังจะสลายขั้วการเมือง รูปร่างหน้าตาจะเป็นเช่นไร เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้ เราคงได้เห็นกันแน่นอน